วิกฤต เรื่องยาง มาตรการ “ดัน” ราคา เสียงเตือน “ติง”

ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงมา “เล่นเอง” ในเรื่องของราคายางพารา

ทำไมจึงยังมี เสียงแห่ง “ความไม่เชื่อมั่น”

ไม่ว่าจะดังมาจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าจะดังมาจากนายธีระชัย แสนแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เหมือนกับเป็นเสียง “จิ้งจก” ทัก

Advertisement

แต่ก็จำเป็นต้องล้างหูน้อมรับฟัง เพราะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เติบใหญ่มาจากพังงา เพราะ นายธีระชัย แสนแก้ว ตำแหน่งที่มีอยู่คือ นายกสมาคมเกษตรกรสวนยางภาคอีสาน

ทั้ง 2 คนนี้ 1 มาจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 มาจากพรรคภูมิใจไทย

ยิ่งกว่านั้น ในท่ามกลางเสียงชโยโห่ร้องของเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมาก แต่ก็มีบางเสียงบางคนที่นำเสนอไปเหมือนกับพยายามจะรั้งดึงบังเหียนม้าซึ่งควบตะบึง

Advertisement

คล้ายกับเป็น “ยาขม” แต่อย่ามองข้าม “หวานเป็นลม” อย่างเด็ดขาด

เสียงท้วงติงในท่ามกลางเสียงชโยโห่ร้องอวยชัย อาจฟังไม่เพราะ เสนาะหู แต่พระท่านก็บอกว่าลักษณาการอย่างนี้

เท่ากับเป็น “การชี้ขุมทรัพย์” มิใช่หรือ

ถามว่าเสียงท้วงติงอันดังขึ้นทั้งจากเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งจากนักการเมืองที่ยืนอยู่นอก “เวที” ซึ่งฝุ่นกำลังกระจายคลุ้งอวลตลบพุ่งเป้าไปอย่างไร

1 พุ่งเป้าว่า “มาตรการ” ที่ออกมามิได้เป็น “เรื่องใหม่”

หากย้อนกลับไปพลิกแฟ้มอย่างน้อยก็เคยปรากฏเป็น “มติ ครม.” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 มาแล้ว

นั่นก็คือ มาตรการ “สินเชื่อ” อย่างที่เรียกว่า “มูลภัณฑ์กันชน”

นั่นก็คือ ครม.อนุมัติเห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางวงเงิน 6,000 ล้านบาท

อันทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกิดความมั่นใจเป็นอย่างสูง

มั่นใจถึงกับออกมาลั่นวาจาว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2557 ราคายางจะต้องทะยานไปอยู่ที่ 90 บาทต่อ 1 กิโลกรัมอย่างแน่นอน

“เรื่องกล้วย-กล้วย”

แล้วจากเดือนตุลาคม 2557 มายังเดือนตุลาคม 2558 และเหยียบย่างเข้าสู่เดือนมกราคม 2559 ราคายางเป็นอย่างไร

คราวก่อนนั้นวงเงิน 6,000 ล้านบาท คราวนี้วงเงิน 12,000 ล้านบาท

ทำอย่างไรบทเพลง “4 โล 100″ จึงจะเกิดการแปรเปลี่ยนกระทั่งอยู่ที่ 60 บาทต่อ 1 กิโลกรัมได้

หากถามต่ออีกว่าความล้มเหลวจากมาตรการสินเชื่ออย่างที่เรียกอย่างหะรูหะราว่า”มูลภัณฑ์กันชน” นั้นมาจากสาเหตุอะไร

คำตอบ 1 มาจากความไม่เชื่อใจต่อ “เจ้าหน้าที่รัฐ”

คำตอบ 1 มาจากความไม่เชื่อว่าจะเป็นการรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง หากแต่น่าจะมาจากพ่อค้าและคนกลางมากกว่า

นั่นก็คือ เงินจะตกในมือ “เสี่ย” มากกว่า “ชาวสวน”

ข้อสังเกตของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ว่า “ตอนนี้พ่อค้านั่งลูบปาก แล้วพ่อค้าที่มียางในมือมากๆ เริ่มคิดการใหญ่กันแล้ว”

มิได้เป็นการ “ติเรือทั้งโกลน”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นคนภาคใต้ เติบโตในพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่นเดียวกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

หาก “มาตรการ 12 มกราคม 2559” ซ้ำรอย “มาตรการ 21 ตุลาคม 2557”

นั่นก็คือ แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา ตรงกันข้าม ราคายางก็มิได้ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางก็มีแต่จะเลวร้ายลง

ความรับผิดชอบย่อมอยู่ “บนบ่า” ของ “รัฐบาล” เต็ม-เต็ม

ตรงนี้แหละจะเป็นสภาพอันแสนสาหัสสำหรับ “คสช.” ไปโดยอัตโนมัติ

มาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา เกษตรกรชาวสวนยางเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องควรปรบมืออย่างแน่นอน

แต่นั่นมิได้หมายความว่า จะเป็นการเดินตามรอย “ความผิดพลาด” อันเกิดจาก”มาตรการ 21 ตุลาคม 2557″ ซึ่งอ้างว่ารักษาเสถียรภาพราคายาง

แต่ผลก็คือ ราคายางลงมาอยู่ที่ “4 โล 100”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image