ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ‘หินภูเขาไฟ’ ผลิตภัณฑ์ใหม่ฆ่าลูกน้ำ กำหนดยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรีย งบ 2.2พันล้าน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าว “ยุงลาย พ่าย วทน.” พร้อมนำผลงานวิจัยและพัฒนา เพื่อลดการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก เช่น ชุดตรวจไวรัสไข้เด็งกี่ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก จุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำ สเปรย์นาโนอิมัลชั่นสมุนไพรไล่ยุง มุ้งนาโน หินแก้วรูพรุนไล่ยุง โปรแกรมทันระบาด การฉายรังสีในการทำหมันยุงลาย และเตรียมขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ชนิดเกล็ดซีโอไลท์ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อให้แก่ประชาชนได้

นายอภิวัฏ ธนวัชสิน หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ชนิดเกล็ดซีโอไลท์เป็นความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์และบริษัทอิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวในโลกที่ต่างประเทศยังไม่ได้ทำการคิดค้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ ทำจากหินภูเขาไฟและเป็นสารกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเม็ดเกล็ดสูตรซีโอไลท์เคลือบสาร “ทีมีฟอส” ทำให้เมื่อนำสารใส่ในน้ำ จะสามารถดูดซับกลิ่นได้ดี ไม่มีคราบน้ำมันเปื้อนบนผิวน้ำทำให้น้ำใสและใช้ได้นานกว่า 3 เดือน ซึ่งแตกต่างจากทรายอะเบทที่มักเกิดปัญหาทำให้คนไม่อยากใช้ คือ มีกลิ่นเหม็น น้ำเป็นฝ้าและไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย คาดว่าจะสามารถดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจัดซื้อเพื่อไปใช้กำจัดลูกน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

วันเดียวกัน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 ว่า ที่ประชุมได้กำหนดยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรีย ภายใน 10 ปี ใช้งบประมาณ 2,200 ล้านบาท โดยเริ่มในปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 599 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกปีสุดท้าย 211 ล้านบาท เนื่องจากไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีปัญหาเชื้อบางตัวดื้อยา ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สภาวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนายาตัวใหม่และหาแนวทางกำจัดเชื้อมาลาเรียให้ได้ และว่า ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสซิก้านั้น กรมควบคุมโรค โดย นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าไม่มีการแพร่กระจายและสามารถควบคุมได้

ด้าน นพ.อำนวย กล่าวถึงการป้องกันโรคซิก้าว่า สธ.มีการควบคุมอย่างเข้มข้น แต่ยอมรับว่าตั้งต้นปี มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่องค์การอนามัยโรคประกาศระดับเตือนระบุว่า ประเทศไทยเสี่ยงไวรัสซิก้านั้น สธ.ยังต้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและประสานงานร่วมกันมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image