อธิบดีกรมยุโรปตอบข้อสงสัย กม.คุมสินค้าทำลายป่าอียู

อสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ

อธิบดีกรมยุโรปตอบข้อสงสัย
กม.คุมสินค้าทำลายป่าอียู

///

หมายเหตุ “มติชน” – เมื่อปลายปี 2565 สหภาพยุโรป (อียู) ได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่มีการห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า มติชนจึงถือโอกาสสัมภาษณ์ นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป ถึงผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวต่อประเทศไทย

///

Advertisement

๐อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากกฎหมายดังกล่าว

เมื่อปลายปี 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมให้อียูเป็นผู้นำโลกในการลดการตัดไม้ทำลายป่า ในฐานะที่อียูเป็นเศรษฐกิจสำคัญของโลกและเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของสินค้าเกษตรที่มักเกี่ยวพันกับการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ปาล์มน้ำมัน โกโก้ กาแฟ และไม้ เป็นต้น ต่อมาร่างกฎหมายดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Regulation on Deforestation-Free Products) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการวางจำหน่ายสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการตัดไม้ทำลายป่าในตลาดอียู โดยครอบคลุมสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ไม้ วัว โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และยางพารา และกำหนดให้บริษัทในอียูที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ต้องดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิตสินค้า (mandatory due diligence) ว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม

เมื่อกฎหมายดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี 2566 ก็จะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านระยะเวลา 18 เดือน ตามที่กฎหมายกำหนด โดยบริษัทนำเข้าในอียูยังไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ คาดว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งหมายความว่า ตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป ภาคเอกชนในอียูจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคือบริษัทในอียูที่นำเข้าสินค้าตามที่ระบุในกฎหมายรวม 7 ประเภทสินค้า จะต้องจัดทำรายงาน หรือ due diligence statement เพื่อยืนยันว่าตนซึ่งเป็นผู้นำเข้าได้ตรวจสอบและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อยืนยันว่าสินค้าเหล่านั้นถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม พร้อมกับระบุพิกัดของพื้นที่ (geolocation) ที่ใช้ในการปลูกพืชหรือเลี้ยงปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้อง

ฝ่ายอียูจะสุ่มตรวจสินค้านำเข้าเหล่านี้ว่าเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่ โดยเน้นใช้ geolocation ในการเปรียบเทียบกับภาพถ่ายจากดาวเทียมของพื้นที่นั้นในอดีตเพื่อตรวจสอบว่า แปลงเกษตรดังกล่าวไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่าหลังจากปี 2563 (เป็น cut-off date ที่สอดคล้องกับ UN SDGs)

ฝ่ายอียูจะสุ่มตรวจสินค้านำเข้าจากแต่ละประเทศในความถี่ที่แตกต่างกัน โดยอียูจะจัดกลุ่มประเทศคู่ค้าตามความเสี่ยงด้านการตัดไม้ทำลายป่าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มระดับความเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ ซึ่งประเทศส่งออกที่ถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูงจะถูกสุ่มตรวจสินค้านำเข้าในอัตราที่บ่อยกว่าประเทศอื่น ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันให้ไทยอยู่ในกลุ่มระดับความเสี่ยงต่ำต่อไป

๐เบื้องต้นประเมินว่ากฎหมายดังกล่าวของอียูส่งผลกระทบกับภาคส่วนต่าง ๆ ในไทยมากน้อยแค่ไหน

กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้เกษตรกรไทยที่ผลิตสินค้า 7 ประเภทตามที่กฎหมายระบุไว้เพื่อส่งออกไปยังอียูจะต้องสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานให้กับบริษัทผู้นำเข้าในอียูใช้ประกอบการจัดทำ due diligence statement ซึ่งหากผู้ส่งออกไทยไม่สามารถสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานเหล่านั้นได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้นำเข้าในอียูจะเปลี่ยนไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่าแทน

มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้ง 7 ประเภทจากไทยไปยังอียูในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 6.2 หมื่นล้านบาท โดยจากจำนวนนี้เป็นการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางไปยังอียูถึง 6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ อียูยังเป็นตลาดสำคัญสำหรับการส่งออกยางพาราและกาแฟของไทยอีกด้วย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 และร้อยละ 9 ตามลำดับ ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปสู่โลกในปี 2564

ดังนั้น กฎหมายดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรยางพาราในวงกว้าง และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรรายย่อยที่อาจจะไม่มีศักยภาพในการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อยืนยันว่าแปลงเกษตรของตนไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งอาจลดโอกาสที่ผู้ส่งออกจะเลือกซื้อสินค้าจากเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้

๐ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในกลางปีนี้ เรามีการดำเนินการภายในอย่างไรบ้าง และมีการประสานความร่วมมือกับอียูเพื่อเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

ในภาพรวม กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมยุโรปและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานฝ่ายไทยที่มีการติดตามการออกกฎหมายและมาตรการใหม่ของอียูมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการภายใต้นโยบาย European Green Deal ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย ซึ่งรวมถึงกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าด้วย พร้อมกับได้แจ้งพัฒนาการเหล่านี้ให้แก่ภาครัฐ เอกชนและประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ของกรม และสถานเอกอัครราชทูต การร่วมบรรยายในประเด็นนี้ในโอกาสต่างๆ ตลอดจนการจัดการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการภายใต้นโยบาย European Green Deal เมื่อเดือนกันยายน 2565 และเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการการเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับมาตรการเหล่านี้

ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า กรมยุโรป และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ตระหนักดีถึงผลกระทบของกฎหมายต่อผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย จึงได้หารือกับฝ่ายอียูในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขอรับข้อมูลทางเทคนิค แสวงหาความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมให้กับเอกชนไทย ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าในไทยเพื่อผลักดันให้ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะลดภาระผู้ส่งออกไทยได้มาก

การดำเนินการเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งที่ไทยและที่กรุงบรัสเซลส์ โดยคณะผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (Directorate-General for Environment: DG ENV) ได้เยือนไทยแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา กรมยุโรปได้จัดการประชุมระหว่างหน่วยงานไทยและการประชุมระหว่างหน่วยงานไทยกับฝ่ายอียูผ่านทางออนไลน์ในเรื่องนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยบูรณาการการเตรียมความพร้อมระหว่างหน่วยงานของไทยสำหรับมาตรการดังกล่าวแล้ว ยังได้สะท้อนประเด็นที่ฝ่ายไทยต้องการรับการสนับสนุนทางเทคนิคจากฝ่ายอียูด้วย โดยเฉพาะการจัด workshop ภายในครึ่งหลังของปีนี้เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในการรวบรวมข้อมูลและเอกสารยืนยันว่าสินค้าของตนไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ฝ่ายไทยกำลังร่วมมือกับทางอียูเพื่อศึกษาผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวต่อสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมให้กับภาคเอกชนไทยต่อไปได้อีกด้วย

๐ขณะนี้ในสินค้าเกษตรหลักๆ ของไทยที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว อาทิ ยางพาราและกาแฟ มีความตื่นตัวมากน้อยเพียงใด

โดยที่ฝ่ายอียูเพิ่งเพิ่มยางพาราเข้ามาในรายการสินค้าภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือนธันวาคม 2565 จึงทำให้อุตสาหกรรมยางพารารับทราบถึงพัฒนาการนี้ได้ไม่นานเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากการเพิ่มยางพาราเข้ามาในรายการสินค้า หลายหน่วยงานได้ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นนี้ ผ่านการจัดการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการหารือกับฝ่ายอียูโดยตรง โดยเฉพาะการเดินทางเยือนไทยของผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราในไทย โดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทยซึ่งได้จัดการประชุมกับฝ่ายอียูเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ในลักษณะ hybrid โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราได้เข้าฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับร่างกฎหมายจากทางอียูโดยตรง พร้อมกับสอบถามฝ่ายอียูเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการประชุมระหว่างหน่วยงานไทยและการประชุมกับฝ่ายอียูที่กรมยุโรปได้จัดผ่านทางออนไลน์เมื่อวันที่ 5 เมษายนอีกด้วย

กรมยุโรปเห็นว่าทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวแล้ว และพร้อมที่จะร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการดังกล่าว ซึ่งกรมยุโรปจะดำเนินการผลักดันความร่วมมือกับฝ่ายอียูและสนับสนุนการเตรียมความพร้อมให้กับเอกชนไทยต่อไป

๐มีมุมมองว่ากฎหมายนี้เป็นการกีดกันการค้าของอียู

หลายฝ่ายมองว่ามาตรการนี้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าของอียูเท่านั้น แต่กรมยุโรปมองว่าหากสามารถเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออกไทยได้ทันท่วงทีจนสามารถออกเอกสารอย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันว่าสินค้าส่งออกของไทยไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ย่อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกรไทย เพราะเป็นที่แน่นอนว่าบริษัทอียูที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ย่อมต้องการซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งทั้งถูกกฎหมายและมีความยั่งยืน รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีหลักฐานอย่างเป็นทางการว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า มากกว่านำเข้าจากประเทศที่ไม่สามารถให้หลักฐานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนในโลกปัจจุบันที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังผลักดันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นทิศทางที่ประเทศไทยกำลังเดินเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image