เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวกรณี “เนชั่นโพล” ครั้งที่ 2 ชี้ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ผงาด ส.ส.รวมเกิน 300 เสียง “ขั้วอนุรักษนิยม” แพ้ราบคาบว่า ก่อนอื่นจะอธิบายข้อกฎหมายให้ความรู้แก่ประชาชน คำว่า ก่อนเลือกตั้ง หมายความรวมถึงวันเลือกตั้งล่วงหน้าในราชอาณาจักรไทย ห้ามเผยแพร่โพลก่อนเลือกตั้ง 7 วัน รวมถึงก่อนเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้ง วันที่ 7 พฤษภาคม ดังนั้น ภายหลังวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป ห้ามเผยแพร่โพลทุกสำนัก โดยกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 72 เปิดช่องให้สำนักโพลต่างๆ จัดทำ Poll ได้ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ภายใต้หลักเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้ (1) เจตนาโดยสุจริต (2) ไม่มีลักษณะการชี้นำ และ (3) ต้องทำตามเงื่อนไขเรื่องการเผยแพร่โพล คือ ห้ามเผยแพร่โพลก่อนเลือกตั้ง 7 วัน รวมถึงก่อนเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย
ดร.ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า การที่เนชั่นโพลเปิดผลโพลเหลืออีก 2 วันเลือกตั้งล่วงหน้า ต้องถามว่าสำนักโพลนี้อ่านกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ส่อแสดงเจตนาถึงไม่สุจริต การชี้นำประชาชนหรือไม่ อย่างไร เพราะอยู่ในช่วงห้ามเปิดเผยผลโพลทุกสำนัก โดยเฉพาะสำนักเนชั่นโพล ส่อให้เห็นการแสดงเจตนาชี้นำประชาชนโดยไม่สุจริต น่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ประชาชนอย่าไปหลงเชื่อ ให้แชร์ข่าวนี้ ให้ถึง กกต.ให้จัดการโพลสำนักนี้ ที่สำคัญเอาตัวเลขมาจากไหน 300 กว่า ให้บวกลบคูณหาร อย่างไร เป็นเพียงสร้างกระแส คะแนนไม่มี อย่าลืมว่าอำนาจอยู่ที่ปลายปากกาของประชาชน ทุกคนหนึ่งเสียงเท่ากัน หากผู้สมัคร ส.ส.หรือพรรคการเมืองใดได้รับความเสียหายจากสำนักโพลนี้ หลังเลือกตั้งภายใน 30 วัน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปกินกาแฟกับ กกต. เพราะเผยแพร่ผลโพลโดยไม่สุจริต มาตรา 72 มีโทษตามมาตรา 157 แห่งกฎหมายเลือกตั้ง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดร.ณัฐวุฒิกล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตว่า หากการสำรวจความคิดเห็น โดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือไม่ หรือเอาใจจากผู้สมัคร ส.ส.หรือพรรคการเมืองบางพรรค เพื่อชี้นำประชาชน เพื่อให้ประชนหลงผิดในคะแนนนิยม สรุปค่าผลวิจัยหรือผลโพลผิดไปจากความเป็นจริง ไม่เป็นอิสระตามหลักวิชาการ อันส่อแสดงถึงเจตนาไม่สุจริต มีพฤติกรรม ลักษณะเป็นการชี้นำประชาชนจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครบางคน หรือพรรคการเมืองบางพรรค จะมีโทษหนัก ตามมาตรา 73(5) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีบทลงโทษหนัก ตามมาตรา 159 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี โดยให้ศาลจ่ายสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับด้วย
ส่วนที่ว่าทีมทำโพล “เนชั่นโพลเลือกตั้ง 66” ได้สรุปผลสำรวจ ครั้งที่ 2 เป็นการสำรวจห่างจากเนชั่นโพลรอบแรก สองสัปดาห์ จำนวนตัวอย่างมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จำนวน 114,457 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม.จำนวน 36,243 ตัวอย่าง และภูมิภาค 78,214 ตัวอย่าง ด้วยการลงพื้นที่สำรวจ เป็นรูปแบบการสำรวจที่น่าเชื่อถือที่สุด ของประวัติศาสตร์การสำรวจหรือทำโพล และผลโพลเป็นประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ในการปรับยุทธศาสตร์ ช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง ดร.ณัฐวุฒิกล่าวว่า ประเด็นที่สงสัยในแบบสอบถามตั้งคำถามชี้นำ ทำให้ค่าวิจัยเปลี่ยนแปลง ไม่มีความน่าเชื่อถือ พี่น้องประชาชนอย่าไปเชื่อ ทั้งมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายเพราะห้ามเปิดเผยผลโพลก่อนวันเลือกตั้ง รวมถึงวันที่ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย เจตนาเพื่อชี้นำประชาชน ไม่ต่างจากสำนักโพลแห่งหนึ่ง ให้สังเกตตัวเลข ส.ส.แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โพลไม่ต่างจากหมอเดา ประชาชนอย่าไปหลงเชื่อ ให้เชื่อมั่นในปลายปากกาของประชาชน ที่กำหนดทิศทางของประเทศ จะเห็นว่า พรรคหนึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีหลบหนีคำพิพากษาไปต่างประเทศ ส่วนอีกพรรคหนึ่ง เคยมีข้อเสนอยกเลิกมาตรา 112 พอจับได้ไล่ทัน บอกว่าจะแก้มาตรา 112 กระทบต่อภัยความมั่นคง แล้วจะให้ปกครองประเทศอย่างไร ประเทศชาติจะอยู่อย่างไร ปากบอกว่า ประชาธิปไตย แต่ประชาชนตั้งคำถาม กลับจะฟ้องประชาชนอย่าไปกลัว ฟ้องมาให้ฟ้องกลับ เอาตัวขึ้นศาลให้ได้ยิ่งกว่าเผด็จการทหาร