ได้ตั๋วไม่ต้องเสียเงิน : คอลัมน์ โลกสองวัย

รายงานข่าวเรื่องการศึกษาของไทยตกต่ำกว่าปีที่ผ่านมาของ PISA ทำให้ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ค้นหาเอกสารที่มีผู้แปลให้อ่านลงพิมพ์ใน “ไลน์” ท่านผู้แปลมาให้อ่านคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เรื่องโรงเรียนที่กำลังมาแรงที่สุดในเยอรมนี

อาจารย์ชิตขึ้นต้นเรื่องว่า วันนี้มีเรื่องราวดีๆ ที่ช่วยเปิดโลกทรรศน์ผมเรื่องการศึกษามาเล่าสู่กันฟังครับ

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) อ่านแล้วรีบโทรศัพท์หาอาจารย์ขออนุญาตนำมาตีพิมพ์ซ้ำ (แม้เวลาจะผ่านไปบ้าง แต่สำหรับคนไทย ยังน่าอ่าน)

อาจารย์บอกไว้ด้วยว่า ใครภาษาอังกฤษแข็งแรงขอเชิญอ่านที่เว็บของ The Guardian ได้ ชื่อเรื่อง No grades, no timetable : Berlin school turns teaching upside down เรื่องของเรื่องมีว่า

Advertisement

เมื่อปีที่แล้ว แอนทอน โอเบอร์แลนเดอร์ กับเพื่อนๆ จะไปเที่ยวที่เมืองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ แต่ปรากฏว่าเงินไม่พอซื้อตั๋วรถไฟ แอนทอนใช้วาทศิลป์ต่อรองกับเจ้าหน้าที่รถไฟจนได้ตั๋วฟรี!! และเพียงพอให้ทุกคนในกลุ่มเดินทางไปคอร์นวอลล์ด้วยกัน

ฝ่ายบริหารของทางรถไฟประทับใจในตัวแอนทอนมาก จนต้องเชิญให้มาพูดสร้างแรงบันดาลใจกับเจ้าหน้าที่ของการรถไฟ 200 คน

อ้อ ลืมบอกไปอีกอย่าง แอนทอนคนนี้อายุแค่ 14 ปีเท่านั้น

Advertisement

ความมั่นใจของแอนทอนมาจากโรงเรียนที่กำลังปฏิวัติการเรียนการสอนในเยอรมนี ที่โรงเรียนแห่งนี้จะไม่มีเกรดให้นักเรียนจนกว่าเด็กจะอายุ 15 ปี ไม่มีตารางสอน และไม่มีการสอนแบบครูออกไปพูดหน้าห้อง

นักเรียนตัดสินใจเองว่า แต่ละวันแต่ละคาบจะเรียนวิชาอะไร และอยากสอบตอนไหน!

วิชาบังคับมีแค่ 4 วิชา คือ เลข ภาษาเยอรมัน อังกฤษ และสังคมศึกษา นอกจากนั้นมีวิชาอื่นชื่อไม่คุ้นหู เช่นวิชา “ความรับผิดชอบ” (responsibility) และวิชาความท้าทาย (challenge)

วิชาความท้าทาย นักเรียนอายุระหว่าง 12-14 ปี จะได้เงินคนละ 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) เพื่อออกไปผจญภัยโดยต้องวางแผนเองทั้งหมด

แอนทอนกับพวกตัดสินใจจะไปเดินป่า (trekking) ในคอร์นวอลล์ ซึ่งเป็นเมืองอยู่ทิศใต้สุดของประเทศอังกฤษ (เป็นที่มาของตั๋วฟรีนั่นเอง)

เรื่องที่แอนทอนได้ตั๋วฟรีคงไม่สำคัญว่า ทำไมเขาจึงได้ตั๋วฟรี

ที่มาที่ไปอยู่ที่โรงเรียน โรงเรียนแห่งนี้มีปรัชญาทำโรงเรียนรูปแบบใหม่ คือ เมื่อตลาดแรงงานมีความต้องการที่เปลี่ยนไป และอินเตอร์เน็ตกับมือถือเข้ามาเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข้อมูลของเด็กรุ่นใหม่ ทักษะสำคัญที่สุดที่โรงเรียนจะมอบให้เด็กคือความสามารถในการกระตุ้นและผลักดันตัวเอง (the most important skill a school can pass down to its students is ability to motivate themselves)

มาเกร็ต แรสเฟลด์ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนบอกว่า “คุณลองดูเด็กสามสี่ขวบสิ เด็กพวกนี้มีความมั่นใจจะตาย แต่ละคนกระตือรือร้นที่จะไปโรงเรียน แต่สุดท้ายระบบการศึกษาของเราก็ทำให้เด็กเหล่านี้ค่อยๆ สูญเสียความมั่นใจไปเกือบหมด”

โรงเรียนแห่งนี้ที่มาเกร็ตเป็นอาจารย์ใหญ่ชื่อ The Evangelical School Berlin Centre (BSBC)

มาเกร็ตบอกว่าพันธกิจของโรงเรียนหัวก้าวหน้าคือการเตรียมพร้อมให้คนหนุ่มคนสาวสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ และยิ่งดีไปกว่านั้นคือ ทำให้คนหนุ่มสาวต้อนรับและนำพาความเปลี่ยนแปลง

“ในศตวรรษที่ 21 หน้าที่ของโรงเรียนคือการสร้างคนที่มีบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง” อาจารย์มาเกร็ตบอก

การเรียนการสอนแบบเก่าคือการบังคับให้นักเรียนนั่งฟังอาจารย์ทั้งชั่วโมง และลงโทษนักเรียนที่รวมหัวกันทำการบ้าน (เพราะมองว่าเป็นการลอก) แต่วิธีการนี้ไม่สอดคล้องกับการทำงานปัจจุบันที่จำเป็นต้องปรึกษาหารือและช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่มีใครมาบอกว่าต้องทำอะไร – แล้วยังไง พรุ่งนี้มีต่อครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image