จีนขอไทยเร่งปรับท่าเรือ ก่อนท่าเมืองกวนเหล่ยเปิด รองรับคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่

วันที่ 22 มกราคม 2560 ที่ห้องพญาพิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลาง จ.เชียงราย นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จ.เชียงราย (กรอ.จ.เชียงราย) โดยภาครัฐมี น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย เป็นประธาน เข้าประชุมแทนประธานหอการค้า จ.เชียงราย ซึ่งที่ประชุม น.ส.ผกายมาศได้แจ้งข้อมูลเร่งด่วนต่อทางจังหวัดว่า จากการที่รัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่งของจีนได้พัฒนาเส้นทางคมนาคมด้วยนโยบายเบ็ดเสร็จทางเดียวหรือ One Belt One Road เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันตกของจีนตอนใต้คือเขตเศรษฐกิจมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวนและมณฑลกุ้ยโจวนั้น
ล่าสุด ทางประเทศจีนได้กำหนดสถานที่เพื่อเป็น One Belt One Road ดังกล่าวที่ท่าเรือเมืองกวนเหล่ยซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนตอนใต้ติดกับ สปป.ลาว ตรงกันข้ามฝั่งแม่น้ำโขงกับประเทศเมียนมา โดยกำหนดให้เป็นช่องทางพิเศษช่องทางเดียวที่จะใช้เพื่อการขนส่งสินค้าประเภทแช่แข็ง อาหารทะเล ผักสดและผลไม้ทุกชนิด ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ควบคุมอุณหภูมิเท่านั้น ปัจจุบันประเทศจีนจึงได้สร้างห้องเย็นขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณกว่า 63.5 ล้านหยวน หรือประมาณ 350 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ภายในเป็นอาคารห้องเย็นสามารถรองรับอาหารแช่แข็งได้มากถึง 3,800 ตัน ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส สามารถหมุนเวียนอาหารแช่แข็งได้ปีละประมาณ 150,000 ตัน ห้องเย็นรองรับผักสดและผลไม้
นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักรอุปกรณ์ เช่น เครนสูงขนาดใหญ่สำหรับเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ควบคุมอุณหภูมิขนาดยาว 40 ฟุต ลานพักตู้คอนเทนเนอน์ดังกล่าวและเครื่องมือต่งๆ ที่เชื่อมกับการขนถ่ายไปยังท่าเรือและรถบรรทุก ห้องตรวจสินค้าหรือแล็บสำหรับสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออก มีการพัฒนาเรือสินค้าเพื่อให้เข้ากับระบบตู้คอนเนอร์ดังกล่าว ขณะเดียวกันจีนยังสร้างถนนและสะพานจากจุดต่างๆ ในมณฑลยูนนานไปยังท่าเรือกวนเหล่ยอย่างขนาดใหญ่ด้วย โดยระบบทั้งหมดมีกำหนดสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 31 มกราคมนี้ คาดว่าจะเปิดใช้งานในราวต้นเดือนมีนาคม 2560 เพื่อเตรียมเปิดใช้งานและจะส่งผลต่อการขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะปัจจุบันมีคู่ค้าสำคัญคือท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของประเทศไทยนั่นเอง
201701221048423-20021028190531
ทั้งนี้ ทางการจีนได้แจ้งขอให้ฝ่ายไทยเร่งดำเนินการรองรับด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2  และท่าเรือเอกชนต่างๆ เพื่อรองรับตู้คอนเทนเนอร์ปรับอุณหภูมิยาว 40 ฟุตดังกล่าว โดยให้มีลานพักและสามารถขนถ่ายขึ้นลงเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งขอให้เร่งรัดอนุมัติใบอนุญาตส่งออกเนื้อสัตว์และอาหารแช่แข็งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลงนามด้านพิธีสารระหว่างไทย-จีน เกี่ยวกับการตรวจพืชผักสดและผลไม้ในเส้นทางแม่น้ำโขงเช่นเดียวกับที่เคยลงนามใช้ถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีน ผ่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย นอกจากนี้ยังขอให้มีการจัดตั้งสโมสรหรือศูนย์ประสานงานเพื่อบริการข้อมูลข่าวสารให้ลูกเรือ 4 ชาติในแม่น้ำโขง มีการจัดสถานที่พักผ่อน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และจัดศูนย์บริการเติมนำมันเชื้อเพลิงบริเวณชายฝั่งแม่น้ำที่ อ.เชียงแสน ในราคาเทียบเท่ากับสถานีน้ำมันลอยน้ำที่มีอยู่ในแม่น้ำโขงด้วย
น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า ภายหลังมีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและพิจารณาแก้ไขระบบที่ยังไม่รองรับอย่างเร่งด่วน รวมทั้งเตรียมการจัดประชุมหน่วยงานที่รับผิดชอบและหากมีความจำเป็นก็จะมีการเชิญหน่วยส่วนกลางมาร่วมประชุมด้วยเพราะเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะโครงการดังกล่าวของจีนจะเริ่มเปิดใช้ในต้นปี 2560 นี้แล้ว ขณะที่สินค้าไทยก็ส่งออกไปยังจีนตอนใต้ด้วยเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลไม้และสินค้าแช่แข็ง ซึ่งก็น่ายินดีที่ทางการท่าเรือเชียงแสนได้แจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่าปัจจุบันท่าเรือก็มีความพร้อมเช่นกัน และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนด้วยปริมาณสินค้ามากก็จะสามารถนำเครนจากภายนอกท่าเรือเข้าไปใช้เป็นการชั่วคราวได้เช่นกัน
201701221048422-20021028190531
สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย ตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2559 มีมูลค่าการค้ารวม 40,400.15 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 34,080.04 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 6,320.11 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าอุปโภค-บริโภค, ข้าวสาร, ปศุสัตว์, น้ำมันเชื้อเพลิง, น้ำมันหล่อลื่น และสินค้าอื่นๆ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่พืชผักสด, ผลไม้ (ส้ม องุ่น),ไม้แปรรูป, ใบชา, สินค้าเกษตรและสินค้าอื่นๆ เป็นต้น โดยการค้าผ่านท่าเรือ อ.เชียงแสน พบว่ามีมูลค่ากว่า 15,229.51 ล้านบาท โดยเป็นการค้ากับจีนมูลค่า 2,836.08 ล้านบาท สปป.ลาว มูลค่า 9,583.35 ล้านบาท เมียนมา มูลค่า 2,810.07 ล้านบาท ปัจจุบันมีการใช้เรือสินค้าส่วนใหญ่เป็นสัญชาติ สปป.ลาว ขนาด 100-150 ตัน และเรือสินค้าจีนและเมียนมาขนาด 200-300 ตัน ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบการขนส่งบนเรืออย่างเห็นได้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ท่าเรือของไทยพบว่ามีท่าเรือของรัฐรองรับที่ อ.เชียงแสน 2 แห่ง คือ ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว มีโครงสร้างภายในเป็นท่าเทียบเรือแบบทางลาด 2 ระดับ และท่าเทียบเรือแนวดิ่ง สามารถขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ได้ โดยเป็นท่าเทียบเรีอขนาด 300 เมตรจำนวน 12 ท่า สามารถรับเรือขนาดยาว 50 เมตร ได้พร้อมกัน 6 ลำ ท่าเทียบเรือแนวดิ่งความยาวท่าเทียบเรือ 200 เมตร สามารถรับเรือขนาดความยาว 50 เมตร ได้ พร้อมกัน 4 ลำ พื้นที่ยังสามารถใช้จอดเรือได้หลายลำ มีโรงพักสินค้าขนาด 30 คูณ 30 เมตร จำนวน 2 หลัง และลานวางพักสินค้า ปั้นจั่นเคลื่อนที่ ขนาด 10 ตัน รถยกขนาด 10 ตัน และรถยกขนาด 3.5 ตัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 ในเขต ต.เวียงเชียงแสน และท่าเรือเอกชนอีกหลายแห่งด้วย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image