ตั้งวงถก ยกระดับแปรรูป โจทย์วิจัย ดันนวัตกรรม ‘ยางพาราไทย’ สู่ (เชิง) พาณิชย์

(จากซ้าย) พรพรรณนิล ศตวรรษธำรง, กิตติธัช ณ วาโย และ อัยยพร ขจรไชยกูล

 ราคายางพาราดีดทะลุ 90 บาท สูงสุดในรอบ 7 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทำเอาชาวสวนยางยิ้มออก หลังสถานการณ์ผันผวนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุด มุ่งหวังปักหมุดไว้ให้ทะยานแตะจุดเดิมในหลักร้อยบาท 

พร้อมกันนั้นหลายภาคส่วนก็ไม่รอช้า ลงมือผนึกกำลังกันทั้งด้านการเมือง นักวิชาการ และเกษตรกร พยายามผลักดันการเพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร 

Advertisement

ผุดกุญแจแก้โจทย์สำคัญ เจาะไปยังการเพิ่มมูลค่ายาง ผลักดันการแปรรูป พุ่งเป้าไปสู่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้า และเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโลกได้ ซึ่งนับว่าเป็นแผนการการันตีรายได้สู่ชาวสวนยาง ให้สามารถหยัดยืนได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน 

คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา นำโดย พล...ประจิน จั่นตอง ร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา, กรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา จัดงานสัมนาโจทย์วิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์ณ รัฐสภา เกียกกาย กรุงเทพฯ 

งานครานี้ได้รับเกียรติจาก พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ขึ้นเวทีกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อการสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมยางพาราไทยสู่พาณิชย์ซึ่งย้ำจุดยืนสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมแปรรูป เพิ่มมูลค่า หวังเห็นชาวสวนยางปลดหนี้ และมีชีวิตที่เป็นสุขได้ นับว่าเป็นหนึ่งแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ และสร้างความตื่นตัวต่ออุตสาหกรรมยางเป็นอย่างมาก

Advertisement

กิจกรรมเสวนาอัดแน่นยิงยาวมาถึงช่วงบ่าย ซึ่งยังคงมีเนื้อหาเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่เวทีพูดคุยเรื่องการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราจากงานวิจัยโดย กิตติธัช ณ วาโย ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราไทย, พรพรรณนิล ศตวรรษธำรง ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ และอัยยพร ขจรไชยกูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมเหล่านักวิชาการเตรียมให้ความคิดเห็นอย่างคับคั่ง

ราคาแพงก็ดีใจ ราคาถูกวันใดก็หน้าแห้ง

ชาวสวนส่งเสียง หวังยืนด้วยลำแข้ง

เปิดเวทีด้วยการฟังมุมมองผู้คลุกคลีชาวสวนยางมาเกือบทั่วประเทศ กิตติธัช ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราไทย กล่าวว่า ตามจริงแล้วสถาบันเกษตรกรตั้งขึ้นมา 108 ปีแล้ว แต่การร่วมมือของเกษตรกรและนักวิจัยเพิ่งเกิดขึ้นราว 4-5 ปีที่ผ่านมา 

สหกรณ์ยางทั้งหลายที่ก่อตั้งขึ้นมาประมาณปี 2537-2538 เกิดจากชาวสวนยางมารวมกลุ่มกันแล้วก็จดทะเบียนกับสหกรณ์ มีการซื้อน้ำยางสดของสมาชิกแล้วทำเป็นแผ่นรมควันมาขายในตลาดต่างๆ ซึ่งทำอยู่อย่างนี้จนคิดว่าถ้ายางราคาแพงก็ดีใจ แต่พอราคาถูกมาวันใดก็หน้าแห้ง บางทีก็ต้องประท้วงราคายาง

ผมเป็นแกนนำในการประท้วงปิดถนนมาแล้วเมื่อประมาณปี 2554-2555 เพราะตอนนั้นราคายางจากกิโลกรัมละ 120 บาท หล่นฮวบลงมาเหลือ 55 บาท ชาวบ้านก็อยู่กันไม่ได้สิทีนี้ พอเกิดลักษณะแบบนี้ก็กลายเป็นว่า ทางสถาบันเกษตรกรเองก็ต้องมาปรับตัวว่า ถ้าอาศัยแต่ขายวัตถุดิบออกไป เหมือนกับเราเอาอ้อยไปให้ช้างกิน ได้มาเท่าไหร่เอาให้ปากช้าง ช้างอ้วนเอาๆ แต่ตัวเกษตรกรผอมลง เรามีแต่หนี้เต็มไปหมด

เราเลยมาคิดแบบใหม่ เปลี่ยนแนวความคิดว่าเราต้องมีการแปรรูปวัตถุดิบบ้าง จากเดิมที่เราขายวัตถุดิบเข้าสู่ตลาดกลาง หรือเข้าไปหาพ่อค้า ตอนนั้นผมเองเข้าไปอยู่ในสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จ.สงขลา บังเอิญว่าได้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นพี่เลี้ยง คุยกันว่าถ้าอย่างนั้นเรามาลองทำเรื่องแปรรูปกันกิตติธัชกะเทาะปัญหา

สถาบันเกษตรกรเราไม่เคยเรียนรู้เรื่องแบบนี้มาก่อน เราเริ่มจากที่เราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย เราทำกันมาได้ถึงทุกวันนี้ เราต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงของเรา และสถาบันเครือข่ายที่มานั่งกันวันนี้ เราคิดว่าถ้าเราทำอย่างเดียวดาย เราจะไม่มีความเข้มแข็ง ก็เลยเกิดการรวมกลุ่มกัน จนรวมกันเป็นชุมนุมเครือข่ายเกษตรกรใน 3-4 จังหวัดภาคใต้ แล้วก็ขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศกว่า 35 แห่ง

ช่วงแรกมีการทำหมอน ที่นอน แล้วตอนหลังก็ทำของชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากพวงกุญแจ แต่พอพัฒนาขึ้นมาเราก็ทำรองเท้าแตะ รองท้าบู๊ต โดยมีมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยเราในการทำสูตร ทำไปจนกว่ามันจะมีเสถียรภาพออกมา

คนในสหกรณ์ก็ต้องลงทุนไปเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงแรกที่ของเสียเยอะมาก แต่ทำไปได้เรียนรู้ไป จนตอนนี้เราก็พอที่จะยืนบนลำแข้งของเราเองได้  กิตติธัชเล่า

ชูโมเดลเพิ่มมูลค่า

วอนรัฐช่วยคนตัวเล็กให้เข้มแข็ง

โจทย์ของชาวสวนยางไม่ใช่เพียงแค่การมุ่งแปรรูปผลิตภัณฑ์ แต่ยังรวมถึงการนำเข้าสู่ตลาดที่ต้องทำการบ้านอย่างหนัก กิตติธัชกล่าวว่า ด้านการตลาดที่เราไม่เก่งอันนี้เป็นเรื่องจริง ถ้าให้เราทำ เราก็ทำไม่ได้ คนของเราทุกคนมีความชำนาญในการทำสินค้าไปได้แล้ว แต่คงยังมีหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันทำ เพื่อให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นมาได้อีก

จากข้อมูลการส่งออก สินค้าตัวที่เด่นที่สุดคือ แผ่นครอบกำแพงคอนกรีต ช่วงนั้นเราใช้ยางไปเยอะมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ของรัตภูมิใช้ไป 1,200 ตัน แล้วในเครือข่ายอีกใช้ไปทั้งหมดรวมกันผมว่าเกือบ 4,000-5,000 ตัน สำหรับโครงการรัฐที่ผ่านมาถือว่ามีความสำเร็จในเรื่องของราคาด้วย นั่นคืองานวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับชุมนุมเกษตกร จังหวัดสตูล และทางเราทำงานร่วมกัน 

เสาหลักยางพาราก็เป็นตัวที่ทางหลวงชนบท ทำวิจัยร่วมกับสถาบันพืชเขตร้อน และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จังหวัดตรัง ก็เป็นงานที่ออกมาแล้วลงไปสู่ท้องถนนอย่างเห็นได้ชัดเลย หรือแผ่นพื้นยาง ที่ทางทีมวิจัยส่งต่อมาให้เราผลิต และจำหน่ายให้กับท้องถิ่น เช่น เทศบาลเมือง ซื้อไปปูพื้นในห้องเรียนเด็กอนุบาลเพื่อป้องกันการหกล้มของเด็กแล้วได้รับบาดเจ็บ แล้วได้ราคาที่สูงขึ้นจากขายแค่วัตถุดิบ 130 เปอร์เซ็นต์ 

รองเท้าบู๊ต 1 คู่ใช้ยางไม่ถึง 1 กิโลกรัม เขาขายได้คู่ละ 250 บาท แต่น้ำยาง 1 กิโลกรัมตอนนี้ขายได้ประมาณ 70 บาท เราลองคิดดูว่าราคามันเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ รองเท้าแตะขาย 199 บาท ใช้ยางแค่สัก 4 กรัม อันนี้มันเป็นเรื่องที่ทำให้ราคายางจากที่เป็นแค่วัตถุดิบพุ่งขึ้นมา แต่ด้านสหกรณ์เอง ก็ต้องมีการปันผลเฉลี่ยคืน แล้วกำไรที่เกิดขึ้นในสหกรณ์จากการขาย และการผลิตทั้งหมดก็คืนกำไรไปให้กับสมาชิก

ปีที่แล้วสหกรณ์สวนยางรัตภูมิคืนเงินปันผลกำไรไปให้สมาชิกร้อยละ 7 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ถือหุ้น และอีกส่วนที่สำคัญคือ โรงงานแปรรูปวัตถุดิบมาเป็นแบริเออร์ตอนนี้ ประมาณปี’65 ผมไปซื้อยางจากสมาชิกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 บาท จากราคาท้องตลาด ทุกคนก็หน้าชื่นตาบาน ขายยางได้ในราคาที่สูงกว่าในท้องตลาด พอขายดีมีกำไรคืนมาอีก ทุกคนแฮปปี้หมดเลยกิตติธัชเผยความสุขของชาวสวนยาง

จากนั้นเล่าต่อไปว่า ส่วนข้อเสียคือโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีความต่อเนื่องเท่าไหร่ 

ตอนนี้โรงงานที่ทำคือ รองเท้าแตะ รองเท้าบู๊ต ที่นอนยางพารา ถึงจะอยู่ได้ แต่ในส่วนของแบริเออร์ หรือเสาหลักนำทางก็หายไปเลยตามโครงการของรัฐ มันจึงไม่ได้มีความต่อเนื่องตรงนั้น กลายเป็นสิ่งที่เราอยากจะบอกต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอยู่ตรงนี้ 

เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าสถาบันเกษตรกรที่เรามาปรับตัว เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ มันเพิ่งเริ่มมาสักประมาณ 4-5 ปี เพราะฉะนั้นเรายังเหมือนกับเป็นเด็กอนุบาลอยู่ เราไม่ได้เก่งเหมือนบริษัทใหญ่ที่เขา มีทุนอยู่ สหกรณ์เรามีคนตัวเล็ก บางทีก็มีคนจนบ้าง บางทีก็มีคนอยู่ได้ พอเราได้ผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ถามว่าพอเราเอาเข้าไปตลาดมันสู้เขาได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่เราทำขึ้นมา เสาหลัก เสาไฟ แบริเออร์ หมอน ที่นอน ที่เกษตรกรทำขึ้นมาแข่งกับของเก่าที่เขามีกันอยู่แล้ว 

เราไม่ได้เก่งเรื่องการตลาด เราไม่ได้เก่งเรื่องการโฆษณา เราไม่มีเงินที่จะทำโฆษณาให้คนรู้จักทุกวัน เพราะฉะนั้นเป้าหมายแรก เราต้องการขายให้หน่วยงานรัฐก่อน เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐต้องจัดงบประมาณมาซื้อสินค้าจากเกษตรกรให้เขาได้เข้มแข็งขึ้นกิตติธัชจี้จุด

พาณิชย์หนุนตีตลาดให้ตรงจุด 

พร้อมรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลง

ตัดภาพมาที่ตัวแทนภาครัฐที่มีบทบาทส่งเสริมเกษตรกรพรพรรณนิล ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เราให้ความสำคัญเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เราสามารถแข่งขันทางการค้า ซึ่งหลายกรมในกระทรวงพาณิชย์มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับยางพารา 

วันนี้เราตั้งใจว่าจะไปดูสินค้าทั่วโลก เขาค้าขายอะไรกันบ้าง เราอยากจะบอกว่า การนำเข้าและส่งออกยางพาราทั่วโลก 5 อันดับแรก คือ จีน ไทย เยอรมนี สหรัฐ และญี่ปุ่น คือจีนเขาส่งออกยางนอก ซึ่งเป็นยางล้อเป็นหลัก เครื่องแต่งกายและถุงมือยาง ส่วนไทยเราก็ส่งออกยางล้อนอกและยางธรรมชาติ เช่น ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางสังเคราะห์ 

จีนครองตลาด 14 เปอร์เซ็นต์ ไทยรองลงมา 7.6 เปอร์เซ็นต์ คราวนี้อยากจะบอกว่าสินค้าที่ส่งออกเยอะ 5 อันดับแรกคือ ยางนอก ยางวัลคาไนซ์ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ ยางรองท่อ อันนี้เราก็อยากบอกว่าเรายังมีสินค้าอีกมากมาย ที่เรามีโอกาสที่จะส่งออกไปตลาดโลกพรพรรณนิลฉายภาพกว้าง ทั้งยังมองถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ภาวะโลกร้อน 

เราจะต้องทำอย่างไรให้สวนยางของเราทนทานต่อความร้อน หรือพัฒนายางให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะมาพึ่งพากันของประเทศผู้ซื้อยาง สหรัฐอเมริกาและยุโรป เขาก็พยายามหาสิ่งอื่นมาทดแทนยางธรรมชาติ อาจจะต้องศึกษากันต่อไปว่าจะมาทดแทนได้ไหม มากน้อยแค่ไหน มีจุดเด่นจุดด้อยอะไร แล้วก็ยังมีเรื่องเทคโนโลยีอะไรที่จะทำให้เรากรีดยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ตอนนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมหลายบริษัทเขาก็มุ่งหันมาใช้ยางจากสวนยางที่มีการปลูกแบบยั่งยืน ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นกระบวนการผลิตปลายน้ำแล้ว แต่ถ้าต้นน้ำมันไม่ใช่การยางที่ปลูกมาแบบยั่งยืน ก็อาจจะกระทบถึงสินค้าปลายน้ำได้ ดังนั้น ก็ควรจะส่งเสริมการปลูกยางอย่างยั่งยืน เราก็จะมีโอกาสมากขึ้น ถ้าอยากขายยางในราคาที่สูงขึ้นก็ต้องทำมาตรฐานของตัวเองให้ดีขึ้นด้วย 

เรามีศักยภาพมากในเรื่องของยางพาราอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือเหมือนกัน เพราะต่อไปสถานการณ์โลกอาจจะมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงพรพรรณนิลเน้นย้ำการปรับตัว

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ

จ่อตั้งเครือข่าย นักวิชาการนวัตกรรมยางพารา

ต้องมองไกลการค้าโลกขายอะไร

ปิดท้ายด้วยตัวแทนนักวิชาการที่ยื่นมือเข้ามาช่วยอีกแรง ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า นวัตกรรมกี่ยวกับยางพาราที่นำไปใช้บางครั้งอาจจะเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกรรม พลังงาน สุขภาพ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ อาจจะต้องคิดว่ายางพาราในพื้นที่ของเราเหมาะสมกับกลุ่มไหน จะได้ไปทำงานวิจัยตรงจุดนั้น แล้วทำมาใช้ได้ถูกต้อง 

เราต้องพัฒนาอีก 2-3 อย่าง หนึ่งคือคนที่อยู่ในเส้นทางของยางพาราต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยเป็นสำคัญ อันนี้เป็นหน้าที่ของทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่ของเราก็จะโฟกัสไปที่กลุ่มเกษตรกรยางพารา เราพัฒนาคนแล้ว เราก็ต้องหันมาดูงานวิจัยว่าอยู่ในประเภทใด

นักวิชาการคุยกันว่าสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เราจะตั้งภาคีเครือข่ายนักวิชาการนวัตกรรมยางพาราของประเทศไทย ตอนนี้เรารวบรวมได้ 8-10 มหาวิทยาลัยแล้วที่จะอยู่ในเครือข่ายนี้ หลังจากที่รวมตัวเป็นเครือข่ายแล้ว ก็จะเริ่มเดินสายไปภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ลองดูว่ามีเกษตรกรที่สนใจ เรื่องนวัตกรรมของยางพาราตรงไหนบ้าง

เช่น ภาคอีสาน เราก็อาจจะให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นแม่ข่าย เราจะเดินสายเพื่อทำความเข้าใจก่อนว่า การที่จะเอานวัตกรรมยางพาราไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มมูลค่าได้จริง ให้มันสามารถทำได้จริง นี่คือจุดประสงค์ของเครือข่ายของนักวิชาการด้านยางพารา

เราเดินคนดียวก็คงจะเดินได้ไม่ไกล เพราะฉะนั้นผมก็เลยลองจำแนกว่าภาคีเครือข่ายนวัตกรรมยางพาราต้องเริ่มจากหนึ่งหน่วยงานราชการ รัฐต้องมีความเข้าใจเหมือนที่เราเข้าใจ เพราะถ้านักวิชาการเข้าใจ แต่รัฐไม่เข้าใจมันก็ไปด้วยกันไม่ได้ ต่อมาคือหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานการศึกษา กลุ่มเกษตรกร เอกชน NGOs และสื่อมวลชน  

ถ้าเราไม่คุยกัน เราทำงานกัน 3 วัน 4 วัน ก็เลิกทำแล้ว เพราะมันไม่มีการสื่อสารกัน ซึ่งปัจจุบันมันก็มีการสื่อสารมากขึ้น โดยภาคีเครือข่ายนวัตกรรมยางพาราร่วมกันวางเป้าหมาย ซึ่งการทำงานต้องสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ซะก่อน บางทีโจทย์สำเร็จรูปจากที่หนึ่ง

อาจไม่สามารถทำสำเร็จได้ในอีกที่หนึ่ง ฉะนั้นความสำเร็จของยางพาราอาจจะสำเร็จที่รัตภูมิ แต่ถ้าเอาสูตรนี้ไปใช้ที่หนองบัวลำภูก็ไม่ได้

สิ่งที่เราจะสามารถขยับการเพิ่มมูลค่าได้ เราอยากให้ดูการค้าว่าโลกเขาค้าขายอะไร แล้วสินค้าที่เราส่งออกเป็นยางพาราที่เป็นสินค้าเกษตร 2.8 ล้านตัน สัดส่วนเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ คือเราไม่ได้แปรรูปเอง แต่เราส่งเอาไปให้คนอื่นใช้ ก็คิดว่าถ้าเราผลิตเอง แล้วทำอะไรที่สร้างมูลค่าได้ในประเทศก็น่าจะดี

ส่วนเรื่องการวิจัยก็อยากจะให้มองถึงเทรนด์สำคัญของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องเศรษฐกิจกับสังคมก็อาจจะดูถึงประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นใหม่ว่า จากประเทศที่ด้อยพัฒนาแล้วเขาสามารถยกระดับขึ้นมาได้ เขาก็อาจจะต้องการยางล้อรถ เราสามารถจะเอาไปขายให้เขาได้ หรือกลุ่มประเทศที่เราอยากขายของให้คนสูงวัย ก็ต้องเจาะไปว่าเราอยากขายตลาดไหน ต้องรู้ว่าตอนนี้ตลาดมีความต้องการอย่างไรรศ.ดร.จุมพลหวังร่วมมือเพื่อพัฒนา 

โจทย์การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและส่งออก เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนต้องผสานความร่วมมือและมองอย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะชาวสวนยางไม่ได้รอคอยเพียงแค่ราคาที่สูงขึ้น แต่รอวันที่ชีวิตได้หยัดยืนบนรากฐานที่แข็งแรง

ภูษิต ภูมีคำเรื่อง

พัทรยุทธ ฟักผลภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image