ต้องขออภัยมิตรรักแฟนเพลงและส่วนงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องขอยกเลิกการแสดงที่อุทยานฯศรีเทพ เมืองประวัติศาสตร์มรดกโลกล่าสุดของไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2567 ผู้ดูแลอุทยานฯศรีเทพให้เหตุผลว่า “การแสดงกันตรึมของน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ทางอุทยานฯเห็นว่ากันตรึมไม่ใช่วัฒนธรรมทางนี้” เมื่อวงกันตรึมไปแสดงไม่ได้ ผมจึงขอยกเลิกรายการแสดงทั้งหมด
เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ทั้งที่เตรียมงานมา 5 เดือนแล้ว ทางอุทยานฯเห็นว่ากันตรึมไม่ใช่วัฒนธรรมทางนี้ อธิบายก็ฟังไม่ขึ้น เมื่อโครงการได้ขออนุญาตจากผู้ใหญ่ของหน่วยงานแล้วว่าให้จัดแสดงได้ กรณีอ้างว่า “ทางอุทยานฯเห็นว่ากันตรึมไม่ใช่วัฒนธรรมทางนี้” แปลว่าอะไร
ขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาช่วยในการเตรียมงานและประสานงาน จองที่พักซึ่งทำไปแล้ว แต่ต้องย้ายไปแสดงที่พาสาน เมืองปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ แม้ว่าต้องทำเพลงนครสวรรค์ใหม่ ทำสูจิบัตรใหม่ เสียค่ามัดจำตามข้อตกลงไว้ แจ้งให้พันธมิตรทราบ ส่วนเพลงที่ศรีเทพนั้น ยุติและเก็บเอาไว้ก่อน เมื่อใดมีการเปลี่ยนหัวหน้าอุทยานฯที่ศรีเทพแล้ว ค่อยขออนุญาตไปแสดงใหม่
ถือโอกาสอธิบายคำถามเจ้าหน้าที่อุทยานฯศรีเทพว่า “กันตรึมและน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์” เป็นใคร ทำอะไร
น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ เป็นศิลปินกันตรึมผู้รักษาวัฒนธรรมเขมรโบราณไว้ โดยเฉพาะดนตรีเพลงร้องในงานพิธีกรรมต่างๆ มีชื่อเสียงสามารถแสดงร้องกันตรึมได้ทั้งแบบโบราณ แบบอนุรักษ์ และแบบประยุกต์ร่วมสมัย เป็นนักร้องตัวชูโรงวงกันตรึมคณะโฆษิต ดีสม ซึ่งได้สืบทอดมรดกวัฒนธรรมวงกันตรึมมาจากครูปิ่น ดีสม ผู้เป็นพ่อสามี เธอเดินทางไปเผยแพร่ศิลปะวงกันตรึมในต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ จีน สหรัฐอเมริกา กัมพูชา ลาว เป็นต้น เธอเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ “ภูมินาฏะคีตากันตรึม” เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมการแสดงโบราณสู่คนรุ่นใหม่ และเธอเป็นนายกสมาคมศิลปินพื้นบ้านอีสานใต้
เพลงกันตรึมมีบทบาทสำคัญมาแต่โบราณคือ เป็นดนตรีพิธีกรรมเข้าทรง เชิญขวัญ รักษาไข้ กล่อมหอแต่งงาน น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ยังทำหน้าที่เป็นหมอผี เป็นเจ้าพิธีร้องรำด้วย เป็นคนทำพิธีกรรมหมอขวัญ หมอผี ซึ่งเธอได้เคยทำพิธีให้แก่ผู้นำเขมรมาหลายครั้ง
หมอผีเป็นใคร ศาสนาผีมีผู้หญิงเป็นใหญ่ หมอผีเป็นปราชญ์ชาวบ้าน คนเก่ง คนฉลาด คนที่มีความรู้ความสามารถ ผู้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นผู้ขจัดปัดเป่าความเดือดร้อน เป็นผู้ที่สร้างความสงบสุขให้คนอื่นๆ หมอผีเป็นผู้นำทางจิตใจของคน มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเชื่อถือในชุมชน ในยุคโบราณครั้งยังไม่มีศาสนาเข้ามาในภูมิภาคสุวรรณภูมินี้ ชาวบ้านยังนับถือศาสนาผีอยู่ ชาวมอญนับถือผีเม็ง ชาวลาวนับถือผีฟ้าตาแถน ชาวเขมรนับถือผีมด (ผีมะม็วด) เป็นต้น เชื่อว่า คนโบราณที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองศรีเทพ ก็นับถือผีด้วย
หมอผีเป็นผู้ที่มีความรู้ ผู้มีวิชา มีเวทมนตร์คาถา เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเหมือนกับอาชีพอื่นๆ เช่น หมอนวด หมอยา หมอรักษา (คนป่วย) หมอดู (ผู้อยากรู้อนาคต) หมอความ (คนหัวหมอ) หมอตำแย (ทำคลอด) หมองู หมอช้าง หมอขวัญ (เรียกขวัญทำขวัญ) หมอพิณ หมอแคน หมอลำ หมอโหวด เป็นต้น หมอผีก็อยู่ในสถานะเดียวกัน คือผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะเรื่องของผี สามารถเชิญผีมาคุยและเจรจาต่อรองกับผีได้
ผี (เทวดา) ไม่มีตัวตน คนมองไม่เห็น ผู้ที่มีความเชื่อเรื่องผี สามารถสัมผัสกับผีได้ ผีเป็นพลังงานและมีอำนาจ แต่มนุษย์ก็ควบคุมผีไม่ได้ หมอผีเท่านั้นที่สามารถจะใช้พลังจิตสัมผัสกับผีได้ หมอผีต้องเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็งมากพอที่จะทำอาชีพเป็นหมอผี สิ่งสำคัญที่เป็นคุณสมบัติหลักของหมอผีก็คือ หมอผีต้องมีเสียงที่ดีคือ สามารถขับร้องเพลงได้ไพเราะหรือเล่นดนตรีเก่ง สามารถใช้เสียงที่ไพเราะสื่อสารส่งไปถึงผีได้ หากหมอผีเสียงไพเราะดังกังวาน หมายถึงหมอผีมีอำนาจมาก ที่สำคัญผีให้ความไว้วางใจ หมอผีจะสื่อสารเชื่อมต่อกันได้
ผีรับฟังเสียงที่มีความไพเราะดังกังวานของหมอผี ผีไม่รับฟังเสียงที่ดังหยาบกระด้าง มนุษย์ค้นพบว่าเสียงที่ดังหยาบกระด้าง ผีจะกลัวได้ไม่นาน เมื่อเสียงที่ดังหยุดลง ผีและความกลัวก็กลับมาได้อีก ซึ่งแตกต่างไปจากความไพเราะที่ดังติดหูอยู่นาน เสียงที่ดังก้องกังวานอยู่ในดวงจิต เสียงไพเราะทำให้มนุษย์รู้สึกอบอุ่นและไม่กลัวผี มนุษย์จึงใช้หมอผีขับร้องเพื่อขับไล่ผีและเรียกผี ให้ลงมาทำงานในภารกิจที่หมอผีหรือมนุษย์ต้องการ
ความกลัว ความเหงา และความว้าเหว่ เป็นความรู้สึกสากล ส่วนความมืดและความเงียบเป็นธรรมชาติ หมอผีจะมีความรู้ มีประสบการณ์ สามารถสัมผัสเรื่องความรู้สึกที่เป็นสากล และมีความรู้เรื่องธรรมชาติได้เป็นอย่างดี หมอผีมีความสามารถที่จะหยั่งรู้ถึงจิตใจของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง เรียกว่ามีจิตวิทยาขั้นสูง
ความตั้งใจเชิญครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ มาในฐานะที่ท่านเป็นผู้มีความรู้เรื่องหมอผี ขับร้องเพลงเชิญผีได้ไพเราะจึงเชิญมาร้องกับวงไทยซิมโฟนออร์เคสตรา มีเพลงพิธีกรรมหน้าไฟ (เผาศพ) เพลงอัปสรามโหรี มีนางอัปสรมาฟ้อน 9 นาง เพลงแม่สีเพื่อเรียกผีลงทรง เพลงอมตู้ก (เขมรพายเรือ) อาไยกลาย และอาย้อก เป็นต้น
ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานวิจัยเพลงที่เกี่ยวกับพิธีกรรมความตายโบราณ เพลงที่เกี่ยวกับผีและเชื่อว่าใช้เพลงสื่อสารกับผีได้ เรียบเรียงโดยพันเอกพิเศษ ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ซึ่งมีนักร้องและดนตรีฝีมือดี 50 คน ขนเครื่องแสงสีเสียงไปเต็มพิกัด ถ่ายทำรายการโทรทัศน์โดยไทยพีบีเอส รวมคณะทำงาน 150 คน ลงทุนไปหลายบาท เพื่อเสนอผลงานวิจัยวัฒนธรรมเพลงพิธีกรรมของผีให้แก่ผู้ชม เพื่อให้ความรู้ ให้ความบันเทิง นำเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ พิธีกรรมความเชื่อและวิถีชีวิต แสดงในพื้นที่จริง เชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหมดด้วยความเคารพและคารวะต่ออดีตอันยิ่งใหญ่ของเมืองศรีเทพ
การนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดงตามเมืองต่างๆ วัด โบราณสถาน มรดกโลก ก็เพื่อยกย่องภูมิปัญญาในอดีต นำอดีตมารับใช้ปัจจุบันด้วยความภูมิใจ เป็นผลงานวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การทดลองศึกษาเพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อความบันเทิงของคนปัจจุบันให้ได้ภูมิใจและชื่นชมด้วย
งานวิจัยดนตรีเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2562 ได้แสดงดนตรีตามโบราณสถานสำคัญของไทย เริ่มจากการค้นหาร่องรอยเพลงไทย แสดงที่บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี ที่วัดพระราม ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานี ซึ่งล้วนเป็นมรดกโลก ที่ปราสาทหินพนมรุ้งบุรีรัมย์ วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ วัดป่าสักในเมืองโบราณเชียงแสน วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ที่วัดกุฎีดาว เมืองอโยธยา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ทุกๆ รายการนำออกเผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
เมื่อมีอุปสรรคที่ศรีเทพก็ต้องย้ายพื้นที่ไปแสดงที่พาสาน ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสามเหลี่ยมปลายแหลมเกาะยม จุดเกิดแม่น้ำสองสีคือ แม่น้ำปิงและวัง กับแม่น้ำยมและน่าน ไหลมาบรรจบเป็นแม่น้ำสายหลักของไทย เป็นลานสาธารณะมีสถาปัตยกรรมล้ำสมัยขนาดใหญ่พลิ้วเหมือนสายน้ำ สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวนครสวรรค์ ชมรมรักษ์เจ้าพระยา และเทศบาลเมืองนครสรรค์
การย้ายพื้นที่ไปแสดงที่พาสาน ปากน้ำโพ เพื่อให้ทันการแสดงในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2567 ต้องทำเพลงใหม่ ทำสูจิบัตรใหม่ ประสานงานใหม่อย่างกะทันหัน อาศัยศักยภาพและประสบการณ์ที่เร่ร่อนแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรามาหลายครั้งแล้ว การนำเพลงท้องถิ่นมาเสนอเป็นผลงานวิจัย นำวงดนตรีคลาสสิกราคาแพง โดยมีนักดนตรีที่มีฝีมือสูง เพื่อให้ชาวบ้านได้ชมฟรี ถ่ายทอดผ่านสื่อโทรทัศน์ โดยไม่จ้างบริษัทเอเยนซี่หรือบริษัทจัดการแต่อย่างใด ไม่ได้จ่ายเงินบนโต๊ะหรือใต้โต๊ะให้กับใคร หากพอใจก็ไปแสดง หากไม่พอใจก็ย้ายไปที่อื่น โดยอาศัยผลงานวิจัยดนตรี ความรู้ ประสบการณ์ ประกอบกับภูมิปัญญาของท้องถิ่นและความร่วมมือของท้องที่เป็นฐานรองรับ เชื่อว่าเสียงเพลง ดนตรี และศิลปะ สร้างมิตรภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้
เมืองศรีเทพเป็นพื้นที่แรกที่ถูกปฏิเสธและต้องยกเลิกกะทันหัน เพราะความเหลื่อมล้ำทางความคิดและวิธีคิดของรัฐราชการ
สุกรี เจริญสุข