OONI : โครงการ‘จับตา’คน‘ปิดตา’:โดยทีปกร วุฒิพิทยามงคล

การเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยนั้นเป็นปัญหาที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง จากวิกิพีเดีย ระบุว่า “ก่อนหน้ารัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 การตรวจพิจารณาอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยส่วนใหญ่มุ่งบล็อกเว็บไซต์ลามก แต่ในหลายปีที่ผ่านมา มีกระแสการประท้วงความรุนแรง ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ พระราชกำหนด กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ใหม่ และพระราชบัญญัติความมั่นคงฉบับใหม่อย่างต่อเนื่อง การตรวจพิจารณาอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยส่วนใหญ่เปลี่ยนไปเป็นประเด็นความผิดต่อความมั่นคงของชาติ และการเมืองแทน”

โดยจากสถิติที่ปรากฏในเว็บไซต์เดียวกัน พบว่า “เหตุผลของการบล็อก” หลังปี 2553 เป็นเหตุผลเพราะเนื้อหาความผิดต่อความมั่นคงของชาติ และการเมือง 77% เนื้อหาลามก 22% เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการพนันน้อยกว่า 1% และเนื้อหาการละเมิดลิขสิทธิ์น้อยกว่า 1%

ส่วนตัวแล้ว ผมจะมีประสบการณ์กับการ“โดนบล็อก” ก็ตอนที่เข้าเว็บวาบหวิวบ้าง (อะแฮ่ม) (ซึ่งก็โตแล้ว ปล่อยให้ผมเข้าได้แล้วครับ) ส่วนอีกเว็บที่เตือนให้รู้สึกว่า เราอยู่ในประเทศที่ไม่มีเสรีภาพในการเสพสื่อเท่าไร ก็คือทุกครั้งที่เข้าเว็บเดลี่เมลแล้วจะถูกรีไดเรกต์ไปยังหน้าบล็อกเว็บไซต์ ถึงแม้ว่าจะอยากเข้าไปอ่านข่าวที่มัน “ไม่มีอะไร” “ไม่ได้ขัดต่อความมั่นคงของชาติ” ก็ตาม

แต่กับบางเว็บไซต์ เราก็ไม่รู้ว่าที่เราเข้าไม่ได้ หรือเข้าได้ แต่เนื้อหาดูแปลกๆ นั้น เป็นเพราะมีใครมาบล็อก หรือมาทำอะไรมันหรือเปล่า

Advertisement

โครงการที่น่าสนใจ ชื่อ OONI (Open Observatory of Network Interference) ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Tor (ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนเบราเซอร์ที่ “เป็นส่วนตัว” อย่าง Tor Browser) เพิ่งออกแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนตัวใหม่ขึ้นมา เพื่อให้เราสามารถทดสอบได้ว่า เว็บไซต์ที่เราเยี่ยมชมนั้น “ถูกบล็อก” หรือ “ถูกเปลี่ยนแปลง” อย่างไรบ้างจากรัฐ โดยก่อนหน้านี้ OONI ได้เปิดให้โหลดแอพพลิเคชั่นในลักษณะเดียวกันบนคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปที่ใช้ระบบปฏิบัติการ UNIX หรือบน Raspberry Pi

ความสำคัญของการออกแอพพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อทำงานอย่างเดียวกันคือ สมาร์ทโฟนกำลังเป็นอุปกรณ์ที่ “เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต” ได้ง่าย และแพร่หลายที่สุด ทำให้มันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการที่จะจับตามองรัฐ

The Atlantic รายงานว่า แอพพลิเคชั่น OONI นั้นทำงานอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือ เมื่อเราเปิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมา มันก็จะพยายาม “เข้า” เว็บไซต์ที่ OONI ร่วมมือกับ CitizenLab กลุ่มวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ลิสต์ไว้ว่ามีความเสี่ยงที่จะโดนบล็อก แล้วเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้รับ กับข้อมูลที่เซิร์ฟเวอร์ภายนอกเข้าถึงเว็บไซต์เดียวกัน เพื่อหาความแตกต่าง สมมุติว่า คุณเข้าเว็บไซต์ dailymail จากประเทศไทย กับเข้าเว็บไซต์ dailymail จากประเทศที่ไม่ถูกบล็อก ก็จะได้หน้าเว็บที่แตกต่างกันออกมา เมื่อรันจนครบรายการแล้ว OONI ก็จะประเมินออกมาได้ว่า ในประเทศ (หรือในบริเวณ) ที่คุณอยู่นั้นมีเว็บไซต์ที่โดนบล็อกมากน้อยแค่ไหน

Advertisement

ถึงแม้ว่าวิธีการนี้อาจจะใช้ไม่ได้ผล 100% เช่น ใช้ไม่ได้ผลกับเว็บไซต์ที่ “เปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปตามบริเวณที่เข้าถึง” เช่น เว็บไซต์ข่าวที่เมื่อตรวจสอบพบว่าผู้เข้ามาจากเอเชีย ก็จะเสนอข่าวเอเชียขึ้นมาก่อน แต่โดยรวม มันก็เป็นวิธีที่ครอบคลุมที่สุดวิธีหนึ่งที่เรามีให้เลือกใช้ในปัจจุบัน

OONI นำข้อมูลการประเมินผลทั้งหมดมาสร้างเป็น “แผนที่การเซ็นเซอร์” โดยรวบรวมข้อมูลการประเมิน 10 ล้านครั้งจาก 96 ประเทศ ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยมีสถิติการประเมินแล้ว 163,979 ครั้ง (ในขณะที่เขียนคอลัมน์นี้) แต่ยังไม่ขึ้นสถานะเป็นประเทศที่ “มีกรณีเซ็นเซอร์ที่ได้รับการยืนยันแล้ว” (ไม่ทราบว่าทำไมเหมือนกัน)

ประเทศที่ “มีกรณีเซ็นเซอร์ที่ได้รับการยืนยันแล้ว” ในแผนที่ ก็เช่นจีน รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก แต่ยังรวมไปถึงประเทศที่เราคิดว่า “เสรี” กว่า อย่างนอร์เวย์ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอิตาลีด้วย โดยเมื่อเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติม ก็พบว่าประเทศเหล่านี้จะบล็อกเว็บไซต์พวกบิตทอร์เรนต์ (เช่น extratorrent, pirate bay) เพื่อป้องกันหรือต่อสู้เรื่องลิขสิทธิ์ ส่วนกรีซนั้นก็บล็อกเว็บที่เกี่ยวข้องกับการพนัน

ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบอกว่า ประโยชน์ยิ่งยวดของแอพพลิเคชั่น (ที่กำลังจะออกตัวเต็มในอนาคตอันใกล้) นี้ก็คือจะทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกเข้าใจรูปแบบของการเซ็นเซอร์มากขึ้น และทำหน้าที่เป็น “หลักฐาน” ในการเซ็นเซอร์ เช่นในเอธิโอเปียในปีที่แล้ว ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วประเทศบ่นว่าอินเตอร์เน็ตถูกเซ็นเซอร์เมื่อมีความไม่สงบทางการเมือง (ซึ่งก็คล้ายๆ ไทย) แต่พวกเขาไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะต่อกร หรือสร้างบทสนทนาได้ ซึ่ง OONI ก็จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้นั่นเอง

เมื่อเรามีเครื่องมือในการ “จับตา” เช่นนี้แล้ว ก็หวังว่าการ “ปิดตา” ก็อาจทำได้ยากขึ้นในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image