‘เกรียงศักดิ์’ชี้ปราบ’จีนเทา-ไทยเทา’ไม่ยากถ้ารัฐเอาจริง แนะนโยบายต้องชัดเจน

‘เกรียงศักดิ์’ชี้ปราบ’จีนเทา-ไทยเทา’ไม่ยาก ถ้ารัฐเอาจริง แนะนโยบายต้องชัดเจน ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน ย้ำต้องเลือกคนดี-เก่ง-กล้า มีอำนาจสั่งการ และปลุกภาคประชาชนร่วมสร้างอนาคตชาติ

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ และนักวิชาการอาวุโสจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา “จีนเทา-ไทยเทา” ในฐานะกรณีศึกษาการบริหารจัดการเศรษฐกิจนอกระบบในประเทศไทย ว่า ธุรกิจสีเทาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนมีรากฐานมานาน ตั้งแต่ยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่เปิดจีนให้เป็นโรงงานของโลก ผลิตสินค้าและส่งออกไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งแนวคิด “แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้” นำไปสู่การเติบโตของทั้งธุรกิจสีขาว สีดำ และสีเทา พร้อมกัน ซึ่งธุรกิจสีเทาของทุนจีนมีหลากหลาย ตั้งแต่การพนันออนไลน์, คาสิโนเถื่อน, แก๊งคอลเซ็นเตอร์, การค้ามนุษย์, การฟอกเงิน และยาเสพติด ซึ่งแม้แต่รัฐบาลจีนเองก็ไม่ยอมรับ เนื่องจากทำให้ประเทศเสื่อมเสียชื่อเสียงบนเวทีโลก อย่างไรก็ตาม กลุ่มทุนเหล่านี้ยังพยายามขยายฐานอิทธิพลเข้ามาในอาเซียน รวมถึงไทย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า กรณี หวังชิง นักแสดงจีนที่ถูกลักพาตัวเข้าไปใน ชเวก๊กโกเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมา ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่มจีนเทาในภูมิภาค ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาที่ไทยต้องเผชิญ ไทยกลายเป็นจุดผ่านแดนสำคัญของขบวนการนี้ โดยเฉพาะหลังการใช้นโยบายวีซ่าฟรี ที่แม้ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่กลับทำให้การควบคุมและตรวจสอบกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติเป็นไปได้ยากขึ้นเหตุการณ์ลักพาตัวนักแสดงจีนส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย มีการยกเลิกคอนเสิร์ตและการจองโรงแรมกว่าหมื่นห้อง ซึ่งกระแสดังกล่าวกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาแสดงท่าทีจริงจัง ขณะที่จีนก็ไม่ปล่อยให้ไทยจัดการเพียงลำพัง โดยมี หลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะของจีน ลงมาควบคุมสถานการณ์และนำคนจีนกลับประเทศด้วยตนเอง ตามคำสั่งของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ไทยยังขาดความเด็ดขาดในการแก้ปัญหานี้ ฝ่ายบริหารและฝ่ายการเมืองของไทยมักอ่อนแอ นโยบายไม่ชัด ไม่มีความต่อเนื่อง และขาดมาตรการเชิงรุก เมื่อสั่งการไปยังข้าราชการก็พบปัญหาการทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน และการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด มีการรับส่วยและประนีประนอมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน มากกว่าคำนึงถึงประเทศชาติ
ในกรณีของชเวก๊กโก ไทยสั่งตัดไฟฟ้าเพื่อตัดเส้นทางสนับสนุนธุรกิจผิดกฎหมาย แต่ฝ่ายการเมืองกลับมีความขัดแย้งกันเอง แสดงให้เห็นว่าไทยยังขาดเอกภาพในการบริหารจัดการ

ADVERTISMENT

ดร.เกรียงศักดิ์ ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างมาตรการของไทยและจีน โดยรัฐบาลจีนดำเนินการอย่างเข้มงวด เด็ดขาด วางแผนเป็นระบบ และดำเนินงานต่อเนื่อง จึงสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ไทยยังติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์เชิงลบ กลุ่มทุนสีเทาของไทยมีความเชื่อมโยงกับข้าราชการ นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ก่อให้เกิดโครงสร้างผลประโยชน์ที่ฝังรากลึกหากไม่มีแรงกดดันจากจีนและสื่อมวลชน ไทยอาจไม่ได้ขยับแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง สื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชน มากกว่ารับใช้กลุ่มทุนหรืออำนาจทางการเมือง สื่อมวลชนต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มทุน ต้องกล้าตรวจสอบและทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่าภาคประชาชนก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของชาติ ไม่ใช่แค่รอให้ภาครัฐจัดการ แต่ต้องเป็นพลังขับเคลื่อนที่แท้จริงอยากได้นักการเมืองดี ประชาชนก็ต้องเป็นคนดีด้วย ต้องมีส่วนร่วม คิด รับผิดชอบ และเสียสละเพื่อส่วนรวม จึงจะเกิดภาคประชาชนที่เข้มแข็ง สามารถร่วมแก้ปัญหาทุนสีเทาได้ ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบและกลุ่มทุนสีเทา ว่าจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับอุดมการณ์มากกว่าผลประโยชน์ ต้องมีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่รัฐที่ซื่อสัตย์สุจริต และมีความกล้าหาญในการบังคับใช้กฎหมายต้องสกัดการซื้อขายตำแหน่ง ให้คนดีได้เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ เลือกคนที่มีผลงานจริง ไม่ใช่คนที่มีเส้นสาย

ADVERTISMENT

‘หากต้องการปราบ จีนเทา-ไทยเทาหรือกลุ่มทุนสีเทาทุกประเภท การดำเนินนโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจน มีความต่อเนื่อง และปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อน การปฏิรูปภาครัฐให้มีความโปร่งใส และการสร้างจิตสำนึกในหมู่ประชาชนให้ตระหนักถึงผลกระทบของเศรษฐกิจสีเทา เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหานี้อย่างแท้จริง ปัญหานี้แก้ได้ ถ้ารัฐจริงจัง ภาคประชาชนลุกขึ้นมา และสื่อมวลชนทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image