การเลือกตั้งฝรั่งเศส : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เป็นเรื่องที่แปลกที่คนกรุงเทพฯและสื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อกระแสหลัก ที่ให้ความสำคัญแบบที่ไม่เคยให้มาก่อนกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการชิงชัยในรอบ 2 ของกระบวนการเลือกตั้งในฝรั่งเศส กล่าวคือในรอบแรกของการเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งจากผู้สมัครหลายๆ คน แล้วเอาผู้ชนะสูงสุด 2 คนมาแข่งขันในรอบที่ 2 อีกที เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมว่า ผู้ที่จะเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มาออกเสียงลงคะแนน ซึ่งปกติแล้วอัตราการมาลงคะแนนเสียงของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงในประเทศยุโรป มักจะมีอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 70-75 สูงกว่าประเทศเรามาก

ที่น่าสังเกตก็คือคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นกลางระดับสูงของเมืองไทย ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยที่ได้รับการพัฒนาอย่างมั่นคงแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมาก แต่ก็เป็นคนไทยกลุ่มนี้ที่ไม่เคยสนใจการเลือกตั้งในประเทศไทยเลย แม้ว่าจะถูกรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารยกเลิกการเลือกตั้ง งดการใช้สิทธิออกเสียงของคนไทยโดยทั่วไป รวมทั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองก็ดูจะไม่เดือดร้อนกับการมีหรือไม่มีการเลือกตั้งในสังคมของตน

แต่เมื่อมีการเลือกตั้งในอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสหรือประเทศอื่น คนไทยกลับให้ความสำคัญ ติดตามนโยบายของผู้สมัครและพรรคการเมือง ติดตามข่าวการลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด สนใจมากยิ่งกว่าสถานการณ์การไม่มีการเลือกตั้งในประเทศไทยเสียอีก

คนไทยชั้นกลางหลายๆ คนสามารถวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของผู้สมัครรับการเลือกตั้งอย่างละเอียด ขณะเดียวกันก็พยายามจะโยงเข้ามาหาตัวหรือเข้าหาประเทศไทยว่า ถ้าคนนั้นคนนี้หรือพรรคนั้นพรรคนี้ได้รับการเลือกตั้งแล้วจะกระทบต่อเศรษฐกิจการเมือง การเงินของประเทศไทยอย่างไร ทั้งๆ ที่ใครจะมาเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสก็ไม่น่าจะมีผลอะไรมากนัก ถ้าเทียบกับการมีเสียงหรือไม่มีสิทธิเลือกตั้งของคนไทย ประชาธิปไตยในประเทศไทย

Advertisement

รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศสที่นายพล เดอโกล ทำไว้ กำหนดรูปแบบทางการปกครองไว้ค่อนข้างแปลก คือจะเป็นระบอบรัฐสภาแบบอังกฤษก็ไม่ใช่ จะเป็นระบอบประธานาธิบดีอย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่เชิง

ประธานาธิบดีและสภาผู้แทนราษฎรต่างก็ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน เมื่อประชาชนเลือกประธานาธิบดีแล้ว ประธานาธิบดีเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแต่สามารถยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายตัวได้ เหมือนระบบรัฐสภาตามปกติ

ผลการเลือกตั้งก็เป็นไปตามคาด ตามผลการสำรวจของสำนักต่างๆ ที่ทำนายการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้าว่า เอ็มมานูเอล มาครง จะชนะ มารีน เลอเปน ในระดับ 66 ต่อ 34 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับผลการสำรวจคะแนนเสียงก่อนที่จะมีการลงคะแนนจริง

Advertisement

เมื่อ เอ็มมานูเอล มาครง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ก็คงจะได้ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าประธานาธิบดีมาครง จะบริหารประเทศอย่างไร ในเมื่อประธานาธิบดีไม่ได้มาจากพรรคไหนเลย ซึ่งก็คงจะจริง แต่ประธานาธิบดีมิใช่ผู้ดำเนินการบริหารประเทศ ประธานาธิบดีเป็นผู้กำหนดนโยบายให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินและรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ตัวประธานาธิบดี ประธานาธิบดีรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีจึงอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดวาระของตนคือ 5 ปี ส่วนสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่แน่อาจจะถูกประธานาธิบดียุบเมื่อใดก็ได้ คณะรัฐมนตรีอาจจะถูกญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพราะไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรงและเป็นฝ่ายบริหารผู้ปฏิบัติ ระบอบการปกครองของฝรั่งเศสเป็นระบอบการปกครองที่รัฐธรรมนูญได้ร่างในสมัยที่นายพลชาร์ลส์ เดอโกล นำทหารเข้ายึดอำนาจปกครอง เนื่องจากความอ่อนแอของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งใช้ได้ผลในอังกฤษและสแกนดิเนเวีย แต่ใช้ไม่ได้ผลในฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และโปรตุเกส จึงเกิดระบอบใหม่ของฝรั่งเศส ที่แก้ปัญหาเผด็จการโดยประธานาธิบดีและความอ่อนแอของระบอบรัฐสภา เป็นระบอบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา แต่ก็ใช้ได้ผลมาจนถึงปัจจุบัน

เมืองไทยเราก็เคยมีนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงในสภาเพียง 18 เสียง กล่าวคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม สามารถรวมเสียงจากพรรคใหญ่และพรรคเล็กยื่นจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ แต่ก็ล้มลงไป เพราะกองทัพหันไปสนับสนุนฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำรัฐประหารกลับไปเป็นรัฐบาลทหารต่อไป

การเลือกตั้งทั่วไปในฝรั่งเศสครั้งนี้ น่าจะมีหลายพรรคหันมาสนับสนุนประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง โดยหวังว่าจะได้เป็นแกนนำ จะได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี มาครง แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เพราะพรรคการเมืองย่อมอยากจะเป็นพรรครัฐบาล ไม่อยากเป็นพรรคฝ่ายค้าน เหมือนกับพรรคการเมืองในสมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในบางแง่ก็คล้ายๆ กับระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบของประเทศไทยเหมือนกัน กล่าวคือพรรคการเมืองต่างๆ ลงเลือกตั้งแต่ไม่จำเป็นต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าประธานาธิบดีไม่เอา ไม่แต่งตั้ง แต่ถ้านายกรัฐมนตรีมีเสียงไม่ถึงครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก็คงไปไม่รอด ต้องลาออกหรือถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ถ้าเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่ฝ่ายประธานาธิบดี สภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะถูกประธานาธิบดียุบได้ ประธานาธิบดีจึงมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีในระบอบรัฐสภา แต่อำนาจน้อยกว่าประธานาธิบดีในระบอบประธานาธิบดี มีการแยกอำนาจกันเด็ดขาดระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีนั้นอยู่ได้จนครบวาระแต่นายกรัฐมนตรีและสภาอาจจะอยู่ได้ไม่ครบวาระ ดังนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีกับการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเวลามักจะเหลื่อมกันเสมอ

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยเรานั้น กล่าวคือ การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น เราลอกแบบมาจากฝรั่งเศส กล่าวคือเราเน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากกว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เนื่องจากเรามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคหลังจากการยกเลิกเจ้าประเทศราชที่เชียงใหม่และปัตตานีแล้ว

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ใช้อยู่ในฝรั่งเศสปัจจุบันพระเจ้านโปเลียน โบนาปาร์ต
เป็นผู้วางพื้นฐานไว้หลังจากที่พระองค์สามารถรวบรวมอำนาจจากเจ้าผู้ครองแคว้น เอามาไว้ที่ส่วนกลางคือปารีสได้สำเร็จ ก่อนที่จะตีอาณาจักรและประเทศอื่นๆ การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่สยามได้ทำการปฏิรูปในปี 2435 โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงยังคงอยู่จนปัจจุบัน แม้ว่าบางยุคบางสมัยอาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับกาลเวลา แต่หลักการรวมอำนาจ แบ่งอำนาจและกระจายอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเราลอกเลียนแบบมาจากฝรั่งเศสก็ยังคงอยู่จนปัจจุบัน

แต่ในเรื่องเศรษฐกิจการค้า ฝรั่งเศสมีความสำคัญต่อการค้าและการลงทุนของประเทศไทยน้อยมาก เรานำเข้าจากฝรั่งเศส 1 แสนล้านบาท ฝรั่งเศสซื้อของจากเรา 5 หมื่นล้านบาท เราขาดดุลกับฝรั่งเศส 5 หมื่นล้านบาท เราจึงสำคัญกับฝรั่งเศสมากกว่าฝรั่งเศสสำคัญกับเรา สินค้าที่เราซื้อจากฝรั่งเศสมากก็คือ เครื่องบินแอร์บัส แต่เครื่องยนต์เราใช้โรลส์-รอยซ์ ถ้าเราหันไปซื้อเครื่องบินโบอิ้งของอเมริกาแทนก็จะทำให้อเมริกาพอใจ แต่ฝรั่งเศสอาจจะเดือดร้อน

เมื่อมาครงชนะการเลือกตั้งก็ดีแล้ว เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบายให้นายกรัฐมนตรี ที่ตนจะแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ถ้าทำไม่ดีอาจจะถูกสภาไม่ไว้วางใจ แต่ถ้าสภาทำไม่ถูกก็อาจจะถูกประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรียุบเพื่อเลือกตั้งใหม่ได้ อำนาจของสภาจึงไม่มากเหมือนสภาของอังกฤษ ก็น่าจะเรียบร้อยดี ฝรั่งเศสคงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป แต่อาจจะมีการแก้ไขกฎบัตรของสหภาพเพื่อให้สมาชิกอย่างฝรั่งเศสอยู่ได้ เพื่อให้เงินสกุลยูโรอยู่ได้ มิฉะนั้นยุโรปคงยุ่ง แต่สหภาพยุโรปและเงินยูโรจะอยู่หรือจะไม่อยู่ก็ไม่เห็นว่าเกี่ยวอะไรกับเรา

มาสนใจตัวเราก่อนดีกว่า

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image