ศูนย์วิจัยพืชสวนลุยขยายพันธุ์สะตอพันธุ์ตรัง 1 สายพันธุ์แรกของไทย ซึ่งให้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ หวังให้เกษตรกรปลูกเพื่อส่งออก โดยเฉพาะประเทศจีน พร้อมชูเมนู “กุ้งผัดสะตอ” ช่วยเปิดตลาด
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า นายศุกร์ เก็บไว้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง พร้อมด้วยทีมนักวิชาการ นำโดย นายบุญชนะ วงศ์ชนะ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ได้ลงไปสำรวจแปลงสะตอพันธุ์ตรัง 1 ซึ่งเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร สายพันธุ์แรกของไทย และที่ดีที่สุดของโลกในขณะนี้ เพื่อพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจพื้นบ้านภาคใต้ชนิดใหม่ เนื่องจากใช้เวลาปลูกแค่เพียง 3 ปี ก็สามารถให้ผลผลิตได้แล้ว จากเดิมพันธุ์พื้นบ้านซึ่งต้องใช้เวลา 4-7 ปี รวมทั้งยังให้ผลผลิตถึงปีละ 2 ครั้ง นอกจากนั้น ยังมีลำต้นไม่สูง จึงดูแลหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่าย ส่วนฝักสะตอก็จะแน่น ตรง ขณะที่เม็ดจะมีเนื้อมัน กลิ่นฉุนน้อย
ทั้งนี้ สะตอพันธุ์ตรัง 1 เป็นสะตอข้าวที่เก็บต้นพันธุ์มาจากสวนเกษตรกรในภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2540-2543 ก่อนนำมาขยายพันธุ์ด้วยการติดตา แล้วปลูกทดสอบเพื่อศึกษาการเจริญเติบโต จนได้สะตอที่มีคุณภาพของฝักและเมล็ดดี สามารถให้ผลผลิตสูง ทั้งในฤดู และนอกฤดู ส่วนต้นแม้จะอายุ 10-15 ปี แต่กลับมีความสูงไม่กี่เมตร และมีทรงเป็นพุ่ม จนบางครั้งดอกหรือฝักจะห้อยลงมาเกือบถึงพื้นดิน โดยต้นที่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 700-800 ฝักต่อปี หรือสร้างรายได้ให้ปีละ 3-4 พันบาทต่อต้น หรือไร่ละ 7-8 หมื่นบาท (ประมาณ 20 ต้น) โดยเฉพาะช่วงนอกฤดู จะมีราคาสูงถึงฝักละ 10 บาท
ล่าสุด ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง กำลังติดตาขยายสะตอพันธุ์ตรัง 1 ให้ได้ 150,000 ต้น เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรต้นละ 40 บาท แต่จะให้ได้เพียง 25 ต้นต่อรายเท่านั้น เนื่องจากมีความต้องการสูงมาก จนยอดจองยาวไปถึง 2 ปีแล้ว และกำลังหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเปิดตัวเมนูกุ้งผัดสะตอ เหมือนอย่างเช่นเมนูต้มยำกุ้ง และผัดไทย ที่โด่งดังมาแล้ว โดยตั้งเป้าไปที่ชาวจีน ซึ่งนิยมเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย และมีประชากรมาก อีกทั้งยังชื่นชอบรสชาติอาหารไทยแนวนี้ด้วย อันจะส่งผลให้ตลาดส่งออกสะตอก้าวไกลไปสู่ประเทศจีน นอกเหนือไปจากมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย