นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุขและความมั่นคง ที่มี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จฯ โดย พล.อ.ศิริชัย ได้กำชับให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เร่งดำเนินการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างประเทศไทยกับพม่าและลาวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้แรงงานสามารถเข้ามาทำงานลักษณะเช้าไปเย็นกลับ หรือทำงานเป็นระยะเวลาชั่วคราวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ ซึ่งกต.รายงานว่าทางการพม่าแจ้งมาว่าขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาลจึงยังไม่สะดวกในการร่วมลงนาม ส่วนกัมพูชานั้น ไทยได้ร่วมลงนามไปเมื่อปี 2558 โดยปัจจุบันมีแรงงานกัมพูชาเดินทางเข้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับและระยะเวลาชั่วคราวโดยใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (บอร์ดเดอร์พาส) และนำมาขอใบอนุญาตการทำงานกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจำนวน 10,809 คน (ข้อมูลวันที่ 25 กุมภาพันธ์) โดยทำงานในจังหวัดสระแก้ว 5,422 คน ตราด 1,420 คน จันทบุรี 3,021 คน ศรีษะเกษ 72 คน และสุรินทร์ 874 คน
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมอบหมายให้ กกจ.แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ให้มีความชัดเจนมากขึ้น และให้เสนอผลต่อที่ประชุมภายใน 2 เดือน และให้กระทรวงแรงงานหาแนวทางบริหารจัดการผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานบูรณาการข้อมูลด้านต่างด้าวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงานและ กต. เพื่อให้ใช้เป็นฐานข้อมูลการเข้า-ออกของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยตม.ได้แจ้งที่ประชุมว่าอยู่ระหว่างการจัดทำระบบการตรวจบัตรผ่านแดนเข้าออกและบัตรเพื่อเข้าออกราชอาณาจักรไทยของแรงงานต่างด้าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ