ใช้คำสั่งให้เป็น

โดย ภาคภูมิ ป้องภัย

รัฐบาลทหารใช้อำนาจมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ให้ส่วนราชการเปิดเจรจาให้เอกชนร่วมทุน หรือเปิดประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาโครงการหรือกิจการด้านคมนาคมขนส่ง ชลประทาน ป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัยได้ทันที โดยไม่ต้องรอการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จสิ้น แต่ห้ามลงนามในสัญญาก่อนอีไอเอจะเสร็จสมบูรณ์

อ้างเหตุผลเพื่อเร่งรัดโครงการเมกะโปรเจ็กต์ 1.7 แสนล้านบาทให้ทันก่อนพ้นอำนาจ และหวังให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

ผมเองไม่เห็นด้วยกับการเหมารวมโครงการหรือกิจการหลายด้านไว้ในคำสั่งฉบับเดียว ส่อเจตนาเปิดช่องให้รวบหัวรวบหางได้ง่ายกว่าปกติ และมีแนวโน้มว่าจะเร่งรัดโครงการ “ต้องห้าม” อีกด้วย

Advertisement

สัปดาห์ก่อน ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ 46 องค์กรเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว หลังจากเคยยกเลิกบางคำสั่งที่ออกผิดพลาด หรือไม่สมเหตุสมผลมาแล้ว

สำหรับคำสั่งฉบับนี้ เมื่อเจอกระแสต่อต้านหนักขึ้นจน คสช.ทนแรงเสียดทานไม่ได้ มันอาจออกได้หลายแนวทาง ดังนี้

1.คสช.ยอมเสียหน้ายกเลิกคำสั่ง และให้โครงการดำเนินไปตามขั้นตอนปกติเหมือนที่เป็นมา ในเมื่อความล่าช้าเกิดจากการจัดทำอีไอเอ ก็ไปขันนอตกระบวนการนี้ให้เร็วขึ้น

Advertisement

2.ปรับแก้ไขคำสั่งใหม่ กำหนดเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นเร่งด่วนไป เช่น ถ้ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งรัดกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ก็ออกคำสั่งกำหนดเฉพาะโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องไปพ่วงด้านอื่นเข้ามาให้ใครต่อใครหวาดระแวง

3.ยกเลิกคำสั่งเดิมแล้วออกคำสั่งใหม่ ระบุเฉพาะโครงการหรือกิจการที่จำเป็นเร่งด่วนให้ชัดเจน เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟรางคู่ เป็นต้น

4.คงคำสั่งไว้ แต่เลือกใช้เฉพาะโครงการด้านคมนาคมขนส่ง โรงพยาบาล อะไรไปเท่านั้น อย่าไปแตะเรื่องชลประทาน

ดูภาวการณ์ตอนนี้ กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนน่าจะเป็นโครงการด้านการคมนาคมขนส่งทางรางเท่านั้น ทุกคนเห็นตรงกันว่า ถ้ามันล่าช้านอกจากเสียโอกาสทางการลงทุนแล้ว ยังกระทบกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

ทราบมาว่า เส้นทางรถไฟรางคู่ หรือรถไฟความเร็วปานกลางบางสาย ในบางช่วงต้องวางรางผ่านป่าต้นน้ำ ป่าสมบูรณ์ บางช่วงต้องเจาะอุโมงค์ลอดใต้ภูเขา ฯลฯ เหล่านี้จำเป็นต้องชัดเจนว่าจะสร้างรูปแบบไหน ตรงจุดไหน ถึงไม่กระทบสิ่งแวดล้อม จึงต้องรออีไอเอก่อนจึงจะอนุมัติเปิดประมูล แต่บางเส้นทางก่อผลกระทบน้อย เพราะวิ่งทับสายทางเดิม รัฐอาจใช้รูปแบบอนุมัติให้ได้มาซึ่งผูู้รับดำเนินการตามโครงการไปพลางก่อนระหว่างรอผลอีไอเอ ถ้าทำแบบนี้หลายฝ่ายก็พอจะยอมรับคำสั่งนี้ได้

แน่นอน เราต้องรีบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง ในทางตรงข้ามการสร้างเขื่อนใหญ่นั้นมันรีบสร้างไม่ได้ ใช้แก้ภัยแล้งปีนี้ปีหน้าก็ไม่ทัน ดังนั้น การระบุด้านชลประทานเข้าไปด้วยจึงไม่สมเหตุสมผล

หลังจากโดนคัดค้านหนัก ผมคิดว่าแนวทางที่ 4 น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาล และ คสช. ล่าสุด รมว.คมนาคมบอกแล้วว่ามีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ประมาณ 20 โครงการที่จะอาศัยคำสั่งนี้ ผมเห็นรายการทั้งหมดแล้ว หลายโครงการไม่น่าจะกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน ถ้าเร่งได้เร็วก็เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจฐานรากและภาพรวม

ขออย่างเดียวอย่าปล่อยให้บางส่วนราชการทะเล่อทะล่าอ้างเรื่องชลประทาน และการป้องกันสาธารณภัย ใช้คำสั่งนี้กับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงก์ก็แล้วกัน

เลือกเฉพาะด้านคมนาคมขนส่งทางรางอย่างเดียว รับรองไม่เรียกแขกแน่นอน

ที่มา คอลัมน์ โลกนี้มีรากหญ้า มติชน รายวัน 15 มีนาคม 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image