อีไอซีหวังลงทุนดันจีดีพีไทยโตถึง 5% กำลังซื้อยังต้องลุ้น ห่วงบาทแข็งกระทบรายได้เกษตรกร

นาย​พชรพจน์​ นันทรา​มาศ​ ผู้อำนวยการ​เศรษฐกิจ​มหภาค​ ศูนย์​วิเคราะห์​เศรษฐกิจ​และ​ธุรกิจ​ (อีไอซี) ธนาคาร​ไทยพาณิชย์​ เปิดเผย​ว่า​ อีไอซีประเมินว่าอัตราการเติบโต​เศรษฐกิจ ​(จีดีพี) ปี 2561 จะขยายตัว​ 4% ใกล้เคียง​กับ​ปี 2560 โดยแรงหนุนสำคัญต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากการส่งออกที่เติบโตดีที่ 5% ตามอานิสงส์เศรษฐกิจทั่วโลกที่ขยายตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัว 7.9% หรือจำนวน 38 ล้านคน สำหรับปัจจัยใหม่ปีนี้คือ การลงทุนที่จะกลับมาเติบโตดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ คาดขยายตัว 8.7% และการลงทุนเอกชนจากการขยายกำลังการผลิตรองรับภาคการส่งออกและลงทุนรองรับเทคโนโลยีใหม่ตาม​แนวโน้ม​ที่​ต้องปรับตัว​เข้าสู่​ยุค​ดิจิทัล​ คาดขยายตัว 3% อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดขยายตัว 3% แต่เป็นการพึ่งพากำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้ซื้อรถคันแรกที่ทยอยหมดภาระการผ่อนที่มีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบจากทั้งการจ้างงานและค่าจ้างที่ลดลงในปีที่ผ่านมา รวมถึงภาระหนี้ต่อรายได้ที่ยังสูงและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริโภค ทั้งนี้ มาตรการสวัสดิการแห่งรัฐเฟสที่ 2 ที่จะออกมาจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อส่วนหนึ่งได้และหากผู้มีรายได้มีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะยาวจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้มากขึ้น

“ส่งออกมีโอกาสที่ขยายตัวมากกว่า 5% ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลก ขณะที่การลงทุนปีนี้ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนา​ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ​คาดว่า​เม็ดเงิน​ลงทุน​ภาครัฐ​ปีนี้​จะอยู่ที่​ 160,000 ล้านบาท​ จากปีก่อน​ที่​ 80,000 ล้านบาท​ ซึ่งหากสามารถผลักดันการลงทุนให้ออกมาได้มากกว่านี้มีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่า 5% สำหรับไตรมาสแรกคาดจีดีพีเติบโต 3.9%” นายพชรพจน์กล่าว

นายพชรพจน์กล่าวว่า ความเสี่ยงหลักในปี 2561 ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากผลผลิตที่ออกมามากจะกระทบกับรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นการส่งผลซ้ำเติมต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว สอง คือ การแข็งค่าของเงินบาท คาดว่ากรอบค่าเงินบาทปีนี้จะอยู่ที่ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่จะกระทบกับรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก รวมทั้งกังวลว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่ายาวนาน จะกดดันรายได้เกษตรเมื่อแปลงมาเป็นค่าเงินบาท เนื่องจากประเทศ​ที่​มี​สินค้าเกษตร​ส่งออก​ใกล้เคียง​กัน​ไม่ได้​มี​ค่าเงิน​แข็ง​ค่า​เท่ากับค่าบาทที่แข็งค่า 10% เทียบดอลลาร์สหรัฐ ​อาทิ​ ​เวียดนาม​ จีน​ เป็นต้น ต้องติดตามสินค้าเกษตรชนิดที่คล้ายกัน

ความเสี่ยงที่สาม คือ การขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะขั้นสูง ซึ่งความเสี่ยงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนสะดุดลงได้ และความเสี่ยงสุดท้าย คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีโอกาสส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ อาทิ ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ความไม่แน่นอนทางการเมืองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองของหลายประเทศในสหภาพยุโรป
ขณะที่​ปัจจัย​ด้าน​การเลือกตั้ง​ของไทย ​มองว่า​จะ​มี​ผลกระทบ​ต่อ​ความเชื่อมั่นและการลงทุน​ไม่มากนัก​ เนื่องจาก​ภาครัฐ​มี​นโยบาย​ให้​การลงทุน​ใน​โครงการ​ต่างๆ​ สามารถ​ดำเนิน​ต่อไป​ได้​ด้วย​ตัวเอง​อยู่​แล้ว​ หาก​การเลือกตั้งล่าช้า​จึง​ไม่น่า​จะ​กระทบ​มากนัก ขณะที่การลงทุนเอกชนมีความจำเป็นต้องลงทุนขยายกำลังการผลิตและลงทุนเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยี​

Advertisement

​นายพชรพจน์กล่าวว่า ​ดอกเบี้ย​นโยบาย​ของ​ไทย​​ คาดการณ์​ว่าทรง​ตัว​ในระดับ​ 1.5% ตลอดทั้งปี โดยไม่กังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้ดอกเบี้ยไทยต้องปรับขึ้นตาม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงและแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังมีไม่มากนัก แต่​อาจจะกระทบให้มีทุนไหล​ออก​ของ​เงิน​ลงทุน​ใน​ตลาดหุ้น​ และพันธบัตร หาก​ธนาคาร​กลาง​ของ​กลุ่ม​ประเทศ​หลักๆ มี​นโยบาย​ลดงบลดจากมาตรการอัดฉีดทางการเงิน​ลง​เร็ว​กว่า​เดิม​หลัง​เศรษฐกิจ​ดี​ต่อเนื่อง​

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image