ทหารไทยมอง ศก.โต 4.2% ห่วงในประเทศสะดุดฉุดจีดีพี มองสินเชื่อแบงก์โต 5.3% เอ็นพีแอลผ่านจุดต่ำสุดแล้วคาดสิ้นปี 2.7%

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์ฯได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2561 โต 4.2% จากเดิมที่ 3.8% ปัจจัยหนุนมาจากการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น ทำให้การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2560 ส่งออกจะขยายตัวถึง 10.3% ทำให้จีดีพีโตถึง 4% ส่วนปีนี้คาดส่งออกโต 4.8% โดยชะลอจากฐานสูงปีก่อน แต่มูลค่าส่งออกต่อเดือนคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 2.07 หมื่นล้านบาท ตามปริมาณส่งออกที่เพิ่ม การท่องเที่ยวเติบโตในทุกตลาดคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้นเป็น 37 ล้านคน หรือเติบโต 6.5% จากปีก่อน ทั้งนี้ ปัจจัยการลงทุนจะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวดี โดยคาดว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้การลงทุนภาครัฐเร่งตัวไปที่ 12% จะช่วยหนุนให้เอกชนลงทุนขยายตัว 4% ส่วนการบริโภคเอกชนมีแนวโน้มทรงตัวเติบโต 3% ในระดับเดียวกับปีก่อน จากปัจจัยหนุนการบริโภคยังไม่เข้มแข็ง ทั้งรายได้นอกและในภาคเกษตร การจ้างงานที่ปรับลดลงและการเพิ่มของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ในส่วนของรายได้เกษตรไม่ค่อยดี จากราคาสินค้าเกษตรยังถูกกดดันจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้น ราคายางพารา ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะเดียวกันปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนแม้ชะลอตัวลงแต่ยังอยู่ระดับสูงที่ 79% การบริโภคเอกชนที่ยังขยายตัวต่ำเป็นเหตุผลว่าแม้จีดีพีโต 4% แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องพยายามหาทางออกเรื่องนี้ ผลักดันในการบริโภคภาคเอกชนต้องเติบโต 4% เท่ากับจีดีพี หรือโตมากกว่า คนจะเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจดี

“ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยน้ำหนักอยู่ที่ในประเทศ ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีการลงทุนไต้ตามเป้าหมายหรือไม่ หากการลงทุนอีอีซีไม่เกิดผล เอกชนลงทุนขยายตัวได้เพียง 2% จากที่คาด 4% จีดีพีจะขยายตัวได้ 3.8% ขณะที่การท่องเที่ยวอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวพบว่ายังกระจุกตัวในบางจังหวัด และกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเอเชียมีความอ่อนไหว หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดมากระทบมักจะยกเลิกทริปได้ง่าย ส่งผลให้การท่องเที่ยวผันผวน ซึ่งเราสามารถพึ่งพารายได้จาการท่องเที่ยวแต่ต้องไม่เสพติดมากเกินไป ทั้งนี้ ต้องติดตามการบริโภคเอกชนว่าจะขยายตัวดีหรือไม่ ส่วนความเสี่ยงต่างประเทศ ต้องระวังสภาพคล่องตึงตัวในครึ่งปีหลัง หากการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลกนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่ผ่อนคลายลดลง ทั้งนี้ คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้ จะเกิดขึ้น 3 ครั้ง และดอกเบี้ยนโยบายไทยจะค่อยๆ ปรับขึ้นได้ 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ครั้งละ 0.25% หรือสิ้นปีนี้อยู่ที่ 2% จากปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.5%” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวว่า ด้านสินเชื่อโดยรวมของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มดีขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ คาดสินเชื่อขยายตัว 5.3% ชะลอลงจากปี 2560 ที่คาดว่าจะเติบโต 4% โดยการขยายตัวของสินเชื่อมาจากการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ นำโดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และภาคธุรกิจที่เริ่มมีการขยายกำลังการผลิต คาดสินเชื่อเติบโต 5.5% เป็นปีแรกที่สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เติบโตมากกว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เติบโต 4% ส่วนสินเชื่อรายย่อยยังคงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดเติบโต 6.2% ทั้งในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากการปลดล็อกรถคันแรก แต่ยังมีปัจจัยลบจากรายได้ภาคเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัว 5.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่คาดเติบโต 4.3% โดยเงินฝากที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปตามความต้องการสินเชื่อและทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปี 2561 จากความต้องการสินเชื่อในปีนี้ที่เร่งขึ้น คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี เมื่อมองสภาพคล่องโดยรวมของประเทศแล้วยังมีสภาพคล่องเหลือกว่า 12 ล้านล้านบาท

สำหรับคุณภาพสินเชื่อ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2561 อยู่ที่ 2.7% จากปีก่อนที่ 2.9% อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามหนี้เสียในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งสินเชื่อผู้ประกอบการและผู้กู้บ้านที่แนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image