“ทหารทำเพราะอะไร” (ตอนจบ) โดย เกษียร เตชะพีระ

ทหารเกณฑ์ (แฟ้มภาพ)

“ทหารทำเพราะอะไร” (ตอนจบ)

ปฏิกิริยาร้อนแรงแข็งกร้าวของผู้นำรัฐบาลและกองทัพในทำนองข้างต้น (http://prachatai.org/journal/2016/01/63774) ต่อบทความยั่วให้แย้งของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์, 1-7 มกราคม ศกนี้นั้น น่าจะมีที่มาจากชื่อเรื่อง “ทหารมีไว้ทำไม” เป็นหลัก มากกว่าเนื้อหาเต็มๆ จริงๆ ของตัวบทความเอง

เพราะหากอดกลั้นความยัวะไว้ก่อนแล้วค่อยๆ อ่านอย่างเยือกเย็นก็จะพบว่าบทความ “ทหารมีไว้ทำไม” สืบสาวความเป็นมาของกองทัพประจำการแห่งรัฐชาติสมัยใหม่ในทางประวัติศาสตร์เปรียบเทียบกับกองทัพก่อนหน้านั้น

วิเคราะห์วิจารณ์อุปสรรคอันอาจเกิดจากกองทัพต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและความเป็นชาติในรัฐหากไม่มีอำนาจอื่นมาคอยถ่วงดุล

แล้วตั้งคำถามต่อความจำเป็นของกองทัพในโลกปัจจุบันที่มีกลไกการทูตระหว่างประเทศมากมาย และอภิปรายถึงโอกาสที่อาจจะใช้เงินงบประมาณป้องกันประเทศมหาศาลนั้นไปในด้านสวัสดิการ การพัฒนาและแก้ปัญหาใหญ่อื่นๆ ของชาติต่างๆ และของโลกแทน (https://www.matichon.co.th/news/2227)

Advertisement

ผมคิดว่าที่ชื่อเรื่องอาจเป็นปัญหามากกว่าเนื้อเรื่อง เพราะคำถามที่ว่า “ทหารมีไว้ทำไม” นั้นจี้ลงไปตรงเหตุแห่งการดำรงอยู่ (raison d’être) ของกองทัพสมัยใหม่อย่างท้าทายยิ่งทีเดียว

และจี้ลงไปทีไร เป็นได้เรื่องทุกที ดังที่คำถามและปฏิกิริยาทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับการเมืองไทยในอดีต…

นั่นเป็นสมัยเพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลและกองทัพภายใต้การนำของท่านผู้นำ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้นำชาติไทยเข้าร่วมข้างฝ่ายอักษะ [เยอรมนี-ญี่ปุ่น-อิตาลี] รบกับฝ่ายสัมพันธมิตร [อเมริกา-อังกฤษ-โซเวียต-จีน] ต้องประสบความเพลี่ยงพล้ำเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงเมื่อฝ่ายอักษะแพ้สงคราม

Advertisement

ประเทศไทยจักแหล่นจะตกอยู่ในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามไปด้วย

เดชะบุญอาศัยวิเทโศบายของท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและหัวหน้าเสรีไทยใต้ดิน ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ไทยจึงรอดตัวมาได้

แต่กระนั้นก็ต้องยอมทำสัญญาผูกมัดส่งออกข้าว 6 แสนตันขายให้อังกฤษในราคาต่ำตายตัว อีกทั้งห้ามส่งออกข้าว ดีบุก ยางพาราและไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอังกฤษ

ทำให้ประเทศชาติและประชาชนประสบความเดือดร้อนขาดแคลนของอุปโภคบริโภค ข้าวยากหมากแพงแสนสาหัส โจรผู้ร้ายชุกชุม

กองทัพโดยเฉพาะกองทัพบกจึงกลับกลายเป็นผู้ร้ายที่เกือบทำให้ประเทศชาติล่มจมเพราะแพ้สงคราม

จอมพล ป. เองต้องตกเป็นจำเลยในข้อหาอาชญากรสงคราม พลและนายทหารกองทัพพายัพที่ขึ้นไปรบชายแดนทางเหนือของไทยถูกทอดทิ้งละเลยให้ต้องเลิกทัพเดินเท้าอดๆ อยากๆ กลับมาจากรัฐฉานในพม่าเองตามยถากรรม

แม้แต่เหรียญชัยสมรภูมิที่ได้มาก็ต้องถอดออกเพราะรัฐบาลลืมประกาศให้ในราชกิจจานุเบกษา

ขณะที่เสรีไทยใต้ดินกลับกลายเป็นวีรชนผู้กอบกู้ชาติบ้านเมืองจากญี่ปุ่น ติดเหรียญสันติมาลาโก้หร่าน

งบประมาณด้านการทหารถูกรัฐบาลใหม่ตัด นายทหารชั้นสัญญาบัตรและประทวนถูกปลดประจำการถึง 6,404 นาย หรือเกือบ 20%

มิหนำซ้ำสถาบันกองทัพและข้าราชการประจำโดยรวมยังหมดบทบาททางการเมืองลงตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2489 ทั้งที่เคยเป็นแกนนำและแกนกลางของรัฐไทยมาตั้งแต่หลัง พ.ศ.2475

ในสภาพกองทัพแห่งชาติผิดพลั้งพ่ายแพ้ เกียรติภูมิตกต่ำที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้เองที่คำถามทำนอง “ทหารมีไว้ทำไม” ถูกตั้งขึ้นมาสนั่นสังคมการเมือง

ดังที่ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน เล่าถึงเรื่องราวสมัยนั้นไว้ว่า ทหารบกถูกพวกเสรีไทยบางคนรวมทั้งรัฐมนตรีบางนายดูถูกเหยียดหยามเนื่องจากหวาดระแวงว่าทหารจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้เผด็จการเหมือนในอดีต บ้างถึงกับเลยเถิด ประณามว่าควรยุบเลิกกองทัพ เพราะไม่จำเป็นสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างไทย

กลุ่มการเมืองที่ตั้งคำถามจี้ใจว่า “ทหารมีไว้ทำไม” ได้แก่ปีกซ้ายของกลุ่มปรีดี-พลเรือนและกลุ่มนักการเมืองอีสานซึ่งเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในระหว่างสงครามโลก เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานีและรัฐมนตรี กล่าวว่า “ประเทศสยามไม่ควรบำรุงกำลังให้เกินควรแก่การรักษาตัวเองหรือรักษาความสงบภายใน” และ นายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดกลุ่มปรีดี ก็ได้ซักถามเกี่ยวกับนโยบายกลาโหมในสมัยรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ว่า :

“…ข้าพเจ้าทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนก่อนได้มีแนวความคิดที่จะปรับปรุงทหารในทางที่เข้าแบบประเทศอื่นๆ เขาคือผู้บัญชาการทหารนั้นไม่มี มีแต่เสนาธิการแล้วก็ตั้งกรรมการขึ้นควบคุมนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันประเทศ กรรมการนั้นประกอบด้วยทหารและพลเรือนร่วมกัน อยากจะทราบว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายสอดคล้องต้องกันกับรัฐมนตรีที่ออกไปแล้วหรือไม่…

“เราควรจะรู้อยู่ดีว่าเวลานี้เขารบกันด้วยอาตอมิด ประเทศเราไม่สามารถจะสร้างอาตอมิด เพราะฉะนั้น ทหารมีไว้เพื่อช่วยตำรวจรักษาความสงบภายในเท่านั้น…” (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3/2489, 7 กุมภาพันธ์ 2489)

(อนึ่ง ข้อมูลข้างต้นประมวลจาก สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ.2481-2492, 2532; และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500), 2534)

ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในภาวะแพ้สงคราม แต่การปรับเปลี่ยนและขยายบทบาทภาระหน้าที่ของกองทัพเข้าไปในภารกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนในสถานการณ์พิเศษหลายปีหลังนี้ ก็เป็นบริบทแวดล้อมอันทำให้คำถามเกี่ยวกับ raison d’être ของกองทัพถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ในคำสอนวิชาทหารกับการเมืองที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลเมื่อ 31 ปีก่อน ประเด็นหนึ่งที่ครูเบ็น แอนเดอร์สัน ย้ำชวนให้ขบคิดทำความเข้าใจคือ เอาเข้าจริง ภาระหน้าที่หลักที่ทหารต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมเพื่อทำในยามสงครามนั้น ไม่ใช่ออกไปฆ่า (prepare to kill) แต่คือการออกไปตาย (prepare to die)

ดังที่ท่านนายกฯ ถามสวนกลับอย่างมีอารมณ์ข้างต้นว่า “เขาตายไปเท่าไหร่ เขาตายไปเท่าไหร่”

สมัยผมเรียน ร.ด. ครูฝึกก็บอกให้รู้ว่า ในการรบ ผู้บังคับบัญชาต้องทำใจยอมรับความจริงที่เป็นไปได้ว่า กำลังพลใต้การบังคับบัญชาในร้อยละที่แน่นอนอาจต้องสูญเสียไปในการปฏิบัติภารกิจเป็นธรรมดา และจะไม่ได้กลับมาจากสนามรบ

การพร้อมที่จะตาย ซึ่งขัดฝืนกับสัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์ จึงเป็นส่วนสำคัญของการฝึกอบรมทหารในกองทัพ

เรามักเข้าใจไปเองว่ากองทัพฝึกกำลังพลให้พร้อมที่จะตายหรือสละชีวิตในการรบ ด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์ต่างๆ ให้ เช่น ความรักชาติรักแผ่นดิน รักประชาชน รักประชาธิปไตย รักสิทธิเสรีภาพ รักพรรครักชนชั้น รักชาติพันธุ์เดียวกัน รักศาสนา ฯลฯ

ทว่า ในความเห็นของครูเบ็น ส่วนของการปลูกฝังอุดมการณ์นั้นมีจริงเป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก ปัจจัยหลักที่กองทัพประจำการสมัยใหม่ใช้ฝึกฝนอบรมให้ทหารพร้อมที่จะตายในสนามรบคือวินัยของสถาบันหรือ institutional discipline ต่างหาก

นั่นคือการเน้นฝึกฝนอบรมระเบียบวินัยซ้ำๆ ทุกวี่วันให้ทหารเคลื่อนไหวปฏิบัติตามคำสั่งโดยอัตโนมัติรวดเร็วทันทีราวหุ่นยนต์ โดยไม่ทันคิดด้วยซ้ำไป หาก react หรือสนองตอบตามคำสั่งราวกับเป็น reflex หรือกิริยาสนองฉับพลันเลยทีเดียว

นี่คือฐานรากที่มาเบื้องหลังการฝึกใช้ชีวิตทหารแบบเคร่งครัดเป๊ะๆ (ดูผิดแปลกจากชีวิตกิจวัตรประจำวันของพลเรือนปกติธรรมดา) ทุกขั้นตอน ไม่ว่าแถวตร๊งงงง… แถวตอนเรียง 5 ปฏิบัติ… แถวหน้ากระดานเรียง 3 ปฏิบัติ… วันทยหัตถ์… วันทยาวุธ… หันหน้าผิดทาง ยกมือผิดข้าง ทำท่าผิดพลาด ชักช้า วิ่งรอบสนาม 10 รอบปฏิบัติ วิดพื้น 20 ครั้งปฏิบัติ… ท่านั่งหลังตรงจับช้อนตักข้าวจากจานเข้าปากกินแบบมุมฉากไม่ให้ข้าวหรือกับหล่นแม้แต่น้อย… แก้ผ้าอาบน้ำรวมหมู่โดยรอจ้วงขันตักน้ำยกเทถูสบู่อย่างพร้อมเพรียงไม่ให้ขาดเกิน ใครพลาดลงไปกลิ้งคลุกโคลน… เก็บของเข้านอนวางเครื่องใช้เครื่องแบบรองเท้าเป็นระเบียบตรงเวลา พร้อมตื่นเก็บของแต่งตัวเคลื่อนพลได้ใน 3 นาที… ปีกซ้ายขึ้น ปีกขวายิงสนับสนุน ปีกขวาขึ้น หมอบ ยิง ถอย ฯลฯ ฯลฯ

ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างฉับพลันพร้อมเพรียงเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไขโดยไม่ต้องคิดไม่ต้องใคร่ครวญถามหาเหตุผลไม่ว่าทางปรัชญาศีลธรรมส่วนตัวส่วนรวมห่าเหวอะไร ราวเครื่องกลหรือหุ่นยนต์ที่มีชีวิต ทุกๆ คนเสมือนเป็นน็อตสกรูที่ประกอบส่วนเข้าเป็นเครื่องจักรสงครามขนาดมหึมา ที่เดินเครื่องตามคำสั่งส่วนกลางอย่างอัตโนมัติ โดยไม่ทันกลัว ไม่ทันยั้งคิดถึงโอกาสความเสี่ยงที่จะเจ็บหรือจะตายด้วยซ้ำไป เพราะฝึกอบรมซ้ำๆ ซากๆ มาทุกวันเดือนปีจนเคยชิน

เป็นวินัยเชิงสถาบันแล้ว

วินัยเชิงสถาบัน จึงสำคัญกว่าอุดมการณ์ ในการฝึกกองทัพประจำการให้เป็นเครื่องจักรการรบที่พร้อมจะไปตายโดยไม่ทันกลัวไม่ทันคิดมาก เพื่อให้ได้ชัยชนะตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา

และเพื่อธำรงรักษาวินัยเชิงสถาบันแก่กองทัพ จึงจำเป็นต้องแยกทหารออกจากชีวิตพลเรือนและครอบครัวปกติ ไปอยู่รวมกันในป้อมค่ายต่างหากเฉพาะของกรมกองหมวดหมู่ตน เพราะปัจจัยที่อาจบ่อนเบียนวินัยเชิงสถาบันให้อ่อนเปลี้ยลงก็ได้แก่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตปกติธรรมดาของกระฎุมพีชั้นกลางในสังคมบริโภคนิยมสมัยใหม่นั่นเอง การปลีกห่างทางวัฒนธรรม การจำกัดและกำกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร จึงจำเป็นเพื่อสร้างและดำรงไว้ซึ่งวินัยเชิงสถาบันต่างหากของทหารในกองทัพ

จนเมื่อทหารได้ออกมาปฏิบัติภารกิจที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายอยู่ท่ามกลางสังคมพลเรือน จึงอาจเกิดภาวะการปะทะทางวัฒนธรรม (culture clash) เป็นธรรมดา

จนเพื่อนพลเรือนต่างอาชีพแปลกใจว่าทหารคิดและทำแบบนี้ได้อย่างไร ราวกับต่างมิติเวลากัน 20 ปี 40 ปี ยิ่งในสถานการณ์ที่อำนาจเหลื่อมล้ำกัน ปฏิสัมพันธ์ก็อาจออกมาแปลกพิกลไม่คุ้นชิน เช่น สั่งให้คิดเหมือนกัน วิ่งรอบสนาม ให้วิดพื้น กล่าวคำผรุสวาท ขู่จะชกหน้า ฯลฯ เพื่อทำโทษที่ปฏิบัติงานบกพร่องหรือในยามนายทหารไม่สบอารมณ์ เป็นต้น

คลิกอ่าน บทความ “ทหารทำเพราะอะไร” (ตอนต้น)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image