แนวทางการบริหารโรงเรียน ให้เข้มแข็งด้วยตัวเอง : โดย ดร.ประวัติ สุทธิประภา

ในระหว่างที่รอการแก้ปัญหาโครงสร้าง การเกลี่ยอำนาจ บทบาทหน้าที่ ของผู้บริหารระดับ สพท. ศธจ. การปรับปรุงกฎหมายการศึกษา ยังไม่ลงตัวอยู่นี้ โรงเรียนต้องพึ่งพาตนเองในการบริหารจัดการศึกษา ทั้ง 4 ด้าน (วิชาการ, บุคคล, งบประมาณ และทั่วไป) และยังคงจัดการเรียนการสอน สร้างคุณภาพ สร้างอนาคตให้กับนักเรียนทุกวันอย่างต่อเนื่อง โดยมิอาจรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมได้ ผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรในโรงเรียน ยังคงขับเคลื่อนจัดการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ ภายใต้บริบทและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน

จากรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการสร้างความรับผิดชอบ (Accountability) หลักสูตรและตำราเรียน ของไทยยังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 และปัญหาไม่ใช่การขาดทรัพยากรแต่เป็นการขาดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ. 2557 : 3)

สิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิรูปการศึกษาคือ “คุณภาพผู้เรียน” เพื่อเป็นการเตรียมคนไทยในอนาคตให้มีความพร้อมที่สุดในการแข่งขันและอยู่ในสังคมโลกอย่างมีความสุข การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องอยู่ที่ “โรงเรียน” เป็นหลัก ผู้บริหารโรงเรียนจึงควรคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการศึกษา ดังนี้ (ดูแผนภาพที่ 1)

Advertisement

จากแผนภาพ 1 อธิบายได้ว่า ในวงที่ 1 (วงนอกสุด) 1) บริบทแวดล้อมที่มีผลต่อการศึกษาไทย จากการเปลี่ยนแปลงของบริบทเศรษฐกิจและสังคมโลก ทั้งที่เป็นปัจจัยภายนอก จากการปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) การเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 2573 (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) ความต้องการกำลังคนที่มีทักษะในศตวรรษ ที่ 21 และปัจจัยภายในประเทศ

2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านการศึกษา บัญญัติว่า 1.ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา ตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 2.ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ 3.ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู 4.ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

3) ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2560-2579) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว กรอบยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว ครอบคลุมนโยบายการพัฒนาประเทศไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสร้างโอกาสบนความสามารถ บนความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคมและการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

Advertisement

4) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2579) ที่มุ่งเน้นการนำความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งในเรื่องกระบวนการผลิตและรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี รูปแบบการดำเนินธุรกิจ

และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมทั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้นวัตกรรมสำหรับการพัฒนาสินค้าและบริการตั้งแต่ระดับพื้นบ้านจนถึงระดับสูง (Thailand 4.0)

วงที่ 2 (เกิดจากการสังเคราะห์วงที่ 1) ประกอบด้วย 1) แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายด้านผู้เรียน ให้ทุกคน มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะ 3Rs 8Cs โดยกำหนดวิสัยทัศน์ของแผนไว้ว่า “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21”

2) แผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เป้าหมายหลักคือ 1.คุณภาพการศึกษาของไทย
ดีขึ้น 2.เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 3.มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 4.คนไทยได้รับโอกาสในเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 5.ระบบบริหารจัดการการศึกษามีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

3) แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีวิสัยทัศน์ว่า “การศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล บนพื้นฐานของความเป็นไทย”

วงที่ 3 (แนวปฏิบัติหลักของโรงเรียน) 1) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 2) การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 3) ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
และ 4) วิเคราะห์บริบทของโรงเรียน

ในการดำเนินงาน การสังเคราะห์บริบทที่เกี่ยวข้อง ต้องยึดหลักระเบียบ กฎหมาย ทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM.) โดยมีหลักการ
สำคัญในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานโดยทั่วไป ได้แก่ หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization)

หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หลักการคืนอำนาจจัดการศึกษาให้ประชาชน (Return Power to People) หลักการบริหารตนเอง (Self-managing) และ
ถ่วงดุล (Check and Balance)

การบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ทฤษฎีเชิงระบบ (System Approach) ทฤษฎีทางการบริหารการศึกษา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น พระราชบัญญัติทางการศึกษาทุกฉบับ ระเบียบ ก.ค.ศ. กฎ ก.ค.ศ. พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังฯ ฯลฯ

จากนั้นโรงเรียนนำมากำหนดเป็นกรอบแนวคิดในการจัดการศึกษา แล้วสร้างรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาตามบริบทของโรงเรียน แสดงได้ดังต่อไปนี้ (ดูแผนภาพที่ 2)

การกำหนดกรอบแนวคิด รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา ที่สังเคราะห์จากบริบทรอบด้านและทิศทางของอนาคตอย่างสมบูรณ์แล้ว นอกจากจะเป็นการกำหนดทิศทางในการทำงานของผู้บริหารและครู นักเรียน ผู้ปกครอง ก็ทราบแนวทางในการพัฒนากรศึกษาของโรงเรียน (ซึ่งอาจจะเสนอแนะเพิ่มเติมได้)

นอกจากนี้ กรอบดังกล่าวยังจะเป็นเกราะป้องกันนโยบายที่ไร้ทิศทาง ซึ่งอาจทำให้โรงเรียนไขว้เขวได้ “โรงเรียนจึงต้องเข้มแข็งด้วยตนเอง” ศึกษาปัจจัยความพร้อมในโรงเรียนและบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรในโรงเรียนพร้อมรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา

สอดคล้องกับรายงานการวิจัยฉบับเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้น (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ. 2557 : 8) กล่าวว่า ในกระบวนการสร้างความรับผิดชอบให้แก่ระบบการศึกษาไทย เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1) การปฏิรูประบบข้อมูลข่าวสาร (Information Reform) หมายถึง ข้อมูลด้านทรัพยากรการนำเข้า ผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา 2) การปฏิรูประบบบริหารจัดการโรงเรียน (School Based Management Reform) หมายถึง การกระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังโรงเรียน ให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการตนเอง ภายใต้ระบบความรับผิดชอบที่ดี 3) การปฏิรูปโครงสร้างสิ่งจูงใจ (Incentive Reform) หมายถึง การเชื่อมโยงการจ้างงานหรือผลตอบแทนครูและผู้บริหารโรงเรียนเข้ากับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ใส่ใจในการเป็นเจ้าภาพ รับผิดชอบในการพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง

หาก “โรงเรียน” ยังรอความลงตัวของโครงสร้าง ระเบียบ กฎหมาย ที่มีความเคลื่อนไหวรายวัน ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อน แล้วจึงจะขับเคลื่อนการศึกษาในโรงเรียน อาจจะมีนักเรียนที่ขาดโอกาสเข้าถึงคุณภาพทางการศึกษา เพิ่มขึ้นทุกปี

 

ดร.ประวัติ สุทธิประภา
ผู้อำนวยการโรงเรียนลาดปลาเค้าพิทยาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image