การคาดการณ์ เหตุการณ์ทางการเมือง

การคาดการณ์สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ไม่เหมือนการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า ที่คาดการณ์ได้ง่ายและแม่นยำกว่า วิชาเศรษฐศาสตร์จึงเข้าใกล้ความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าวิชารัฐศาสตร์และวิชาอื่นๆ ในสาขาสังคมศาสตร์ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ในทุกประเทศทุกสังคม ล้วนแต่แสวงหาผลประโยชน์และความสุขความพึงพอใจตลอดไป ข้างหน้าระยะยาว ในปัจจุบันและอนาคต ผลประโยชน์ดังกล่าวอาจจะเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ หรืออาจจะเป็นความพึงพอใจ เป็นความสุข กับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น การได้มาซึ่งอำนาจและความคงอยู่ในอำนาจ การยอมรับนับถือยกย่องในวงสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ แต่มนุษย์ก็พยายามแสวงหา เมื่อได้มาแล้วก็พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ดำรงคงอยู่ตลอดกาล แม้จะมีความเสี่ยง ความไม่แน่นอน มีต้นทุนที่วัดได้และวัดไม่ได้ สำหรับมนุษย์ที่ยังละกิเลส ตัณหา อุปาทานไม่ได้ ยังคิดว่าเป็นความสุขและควบคุมได้จีรังยั่งยืน มีตัวตน เป็นของจริง

ความที่อยากให้ทุกอย่างคงอยู่ตลอดไปทำให้เกิดความโลภความหลง ยิ่งมีคนประจบสอพลอ คอยทำให้เกิดกิเลส ทำให้ลืมความตั้งใจเดิมว่าจะเข้ามายึดอำนาจเพื่ออะไร ลืมว่าตนได้พูดคำมั่นสัญญาอะไรไว้กับสังคมกับประชาชน จนเกิดเป็นสัญญาประชาคมและเป็นพันธะที่ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นอย่างไร โดยอาศัยจุดอ่อนของลักษณะทางการเมืองของคนชั้นกลางขึ้นไปของสังคมไทย

จุดอ่อนทางการเมืองของคนไทยก็คือ ความไม่มีอุดมการณ์ การไม่เคารพตนเอง ไม่หวงแหนสิทธิเสรีภาพ ไม่หวงแหนอำนาจอธิปไตยทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับรับรองทั่วโลกที่เจริญแล้วเขาถือว่าเป็นของปวงชน ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เราจึงเห็นและได้ยินคนไทยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ มีการศึกษาสูงๆ ทั้งจากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศและต่างประเทศ ประณามระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดูถูกดูหมิ่นประชาชนและตัวแทนของประชาชน ทั้งๆ ที่ตนเคยเรียกร้องเชิดชูมาตลอดชีวิตกัน กลับไม่เรียกร้องรัฐบาลเผด็จการทหาร ยอมศิโรราบกับระบอบอำนาจนิยม คิดว่าเป็นคนดีสะอาดบริสุทธิ์ทั้งๆ ที่ตนเองหรือสังคมตรวจสอบไม่ได้ ไม่อยู่ใต้ระบอบตรวจสอบใดๆ ยอมรับการดูถูกเหยียดหยาม ก่นด่าอย่างหยาบคาย เสมือนนายกับบ่าวในสังคมที่ล้าหลัง

จุดอ่อนดังกล่าวจึงทำให้การเมืองของไทยเป็นการเมืองที่ไม่มีระเบียบแบบแผนที่เป็นระบบ แต่เป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับความพอใจของคณะบุคคลที่ก้าวเข้ามายึดอำนาจการปกครอง ร่างรัฐธรรมนูญถาวรเพื่อต่อท่ออำนาจของตนเองเพื่ออยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ตราบใดที่ไม่ถูกฝูงชนขับไล่

Advertisement

การยอมให้รัฐบาลเผด็จการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นกรอบในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง ย้อนแย้งกับความรู้สึกความเชื่อทางวิชาการและทัศนคติของผู้ร่างอยู่แล้ว จะหวังให้เกิดรัฐธรรมนูญแบบรัฐธรรมนูญปี 2517 และปี 2540 ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนั้นเกิดจากการเรียกร้องของประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอื่นๆ นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้ยึดอำนาจอธิปไตยจากประชาชนเป็นผู้หยิบยื่นให้ประชาชนอย่างเสียมิได้ ผู้ร่างก็ร่างอย่างเสียมิได้ ร่างด้วยความเกลียดกลัวการประครองระบอบประชาธิปไตย เกลียดกลัวการเลือกตั้ง เกลียดกลัวนักการเมือง

และท้ายที่สุดความเกลียดกลัวขบวนการทักษิณที่ยังหลอกหลอน เสมือนผีประจำเมืองตลอดไป คนชั้นสูงและคนชั้นกลางในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาซ้อ อาซิ้ม อาอึ้ม อาโก อาอี้ อาเจ๊ อาหมวย คิดอย่างนั้นจริงๆ อาเฮีย อาแป๊ะ อาเจ็ก อากู๋ นั้นไม่เท่าไหร่ แต่อาหมวย อาเจ๊ อาซ้อ มีอำนาจมากกว่าในสังคมไทยรวมทั้งมีอารมณ์อ่อนไหวกว่า

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าข้างหน้าสถานการณ์การเมืองจะเดินหน้าไปอย่างไร จะสามารถดำเนินการตามแผนหรือ roadmap ที่วางไว้ได้หรือไม่ เพราะบัดนี้อำนาจสั่งการของ คสช.ก็มีคนตั้งข้อสงสัยอยู่มากว่ายังคงจะใช้อำนาจในฐานะ “องค์อธิปัตย์” ได้อีกต่อไปหรือ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในส่วนที่มีบทบัญญัติและมีตัวบทกฎหมายว่าด้วยการนั้นอยู่แล้ว หัวหน้า คสช.จะยังสามารถใช้มาตรา 44 ได้หรือไม่

ประเด็นสำคัญที่คนสนใจที่สุดก็คือการผ่องถ่ายอำนาจจากบุคคลปัจจุบันไปสู่บุคคลต่อไป ซึ่งในทางทฤษฎีมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกคือการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจอย่างป่าเถื่อนและสถาปนา “องค์อธิปัตย์” หรือคนที่ใช้อำนาจแทนปวงชนที่เรียกว่าเอกาธิปไตยและคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจกันต่อไป ดังเช่นการทำรัฐประหารเมื่อปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 จอมพลถนอม จอมพลประภาส ก็สืบต่ออำนาจต่อมาในรูปประชาธิปไตยเมื่อปี 2511 และปฏิวัติตัวเองเมื่อปี 2514 จบลงเมื่อเกิดกรณี 14 ตุลา 2516 มีการเลือกตั้งแล้วเกิดรัฐประหารอีกเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 แล้วก็มีรัฐธรรมนูญอีกครั้งเมื่อปี 2520 แต่ต้องใช้บทเฉพาะกาลจนถึง 2525 และจึงมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2526 มีรัฐบาลคนนอกไปจนถึงปี 2531 แล้วเกิดรัฐประหารอีกในปี 2534 มีรัฐบาลทหารแล้วมีการเลือกตั้ง แต่มีนายกรัฐมนตรีคนนอกเพราะสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ก็เกิดกรณีพฤษภาทมิฬเสียก่อน หลังจากนั้นก็เกิดรัฐประหารอีกในปี 2547 และปี 2553 มาจนถึงปัจจุบัน

วิธีที่สอง แบบแผนระบอบการปกครองของประเทศไทยเป็นระบอบที่มีแบบแผนแตกต่าง เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ผู้คุมอำนาจที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อใด และเมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งแล้วก็จะมีการเลือกตั้ง ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองใดจะได้คะแนนเสียงมากที่สุดที่หัวหน้าพรรคจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การยินยอมของประชาชน ในกรณีประชาธิปไตยครึ่งใบแบบไทยๆ ซึ่งไม่มีที่ใดในโลก เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเท่าใด นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้นเองจะเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคการเมืองใดจะได้รับการเลือกจากนายกรัฐมนตรีให้เข้าร่วมรัฐบาลนั้นจะยังไม่มีใครทราบ พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดมักจะถูกทิ้งไว้ให้เป็นพรรคฝ่ายค้าน

ซึ่งสมัยก่อนได้แก่พรรคชาติไทยหรือพรรคกิจสังคม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคที่อยู่กับฝ่ายทหารและเป็นพรรคที่มีระเบียบเรียบร้อยที่สุดในการเลือกกระทรวงที่ตนจะได้เป็นเจ้ากระทรวง ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ จึงได้รับเลือกให้เข้าร่วมรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างต่อเนืองตลอดกาล แต่เมื่อมีประชาธิปไตยเต็มใบก็อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างนอก เป็นพรรคฝ่ายค้านและเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เก่งที่สุดเสมอมา แต่ไม่ถือเป็นพรรคฝ่ายค้านจริงจัง เป็นพรรครอเข้าร่วมรัฐบาลมากกว่า เหมือนกับพรรคชาติไทย พรรคภูมิใจไทยและพรรคเล็กอื่นๆ

ในระบอบที่กำลังเป็นอยู่ แม้จะมีแผนกำหนดตารางเวลา ซึ่งเพิ่งจะพูดมัดตัวเองว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะเหตุการณ์ที่นายกฯอ้างว่าไม่ได้อยู่ภายใต้ “การควบคุมของตัว” เกิดขึ้นอยู่เสมอ อันเป็นเหตุให้จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปออกไป ไม่ใช่ความผิดของนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องของ สนช.บ้าง กกต.บ้าง ป.ป.ช.บ้าง นายกรัฐมนตรีซึ่งอ้างเสมอว่าตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ที่ไม่สามารถควบคุมได้ กำหนดวันเลือกตั้งก็ไม่ได้ จะใช้การให้สัญญาณก็ไม่ได้ กระซิบบอกวิปก็ไม่ได้ บางครั้งอาจต้องมี “ฟรีโหวต” ก็ได้ ไม่ทราบจะทำอย่างไร ถ้ากำหนดการเลือกตั้งต้องเลื่อนไปอีก เป็นเรื่องอนาคตที่พยากรณ์คาดการณ์ไม่ได้ บอกได้กระอ้อมกระแอ้มว่าเดือนพฤศจิกายนปีนี้

เมื่อเป็นระบบการปกครองที่ผู้คนคาดการณ์ทั่วหน้าไม่ได้ ก็เกิดความไม่แน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งตามแผนทางที่ตั้งไว้หรือไม่ ดังจะเห็นว่าที่พบนักข่าว นักข่าวชุดนี้ที่ทำเนียบรัฐบาลก็ชอบพอกับนายกรัฐมนตรีเป็นพิเศษ จะถูกด่าว่าดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างไรก็ไม่ว่า จะขยี้หัวก็ยังคงยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนนายกับคนรับใช้ ไม่เหมือนนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในโรงพิมพ์ก็มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อผู้นำเผด็จการทหาร มากกว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามแบบแผนประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์

จะว่าผู้หลักผู้ใหญ่ของสื่อรวมทั้งนักข่าว ซึ่งควรจะทำหน้าที่แทนประชาชนและต้องเป็นนักประชาธิปไตยไม่มีใจฝักใฝ่ในระบอบการปกครองเผด็จการทหาร ก็ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะการทำงานเป็นสื่อมวลชนนั้นมาด้วยใจรัก มาด้วยอุดมการณ์ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก มีผลตอบแทนน้อย เป็นหน้าต่างจากใจของประชาชน
ผู้ยากไร้และถูกกดขี่ เมื่อความสามารถของประชาชนนั้นไม่มี ทั้งในด้านความคิดอ่าน การวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล ความรักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของเสรีชน เจ้าของอธิปไตย ความเป็นเจ้าของสังคมที่จะกำหนดอนาคตของตนและลูกหลานของตน

ทุกคนอยู่ไปเหมือนมด ปลวกหรือวัวควาย ที่ทำงานตามหน้าที่ไป จะไปทางไหนในอนาคตก็ไม่รู้ แล้วแต่หัวหน้าฝูงจะพาไป ดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน ขี้ ปี้ นอน เท่านั้นก็พอแล้ว ส่วนเรื่องบ้านเมือง อนาคตของบ้านเมือง ทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง เป็นเรื่องของกลุ่มผู้นำไม่เกิน 30-40 คน ที่นั่งเป็นคณะรัฐมนตรี ที่จริงแค่เพียงคนเดียวคือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด คนอื่นไม่เกี่ยว

ทุกวันนี้สื่อมวลชน ทั้งที่เป็นสื่อออนไลน์หรือที่เป็นกระดาษ ก็เสนอข่าวประเทืองสมองน้อยลง เสนอแต่ข่าวอาชญากรรม เสนอข่าวการหย่าร้างของดารา เสนอข่าวเสือดำ เสนอข่าวชิงหวยลอตเตอรี่หรือข่าวภาพยนตร์ หรือติดตามละครโทรทัศน์อย่างเรื่องบุพเพสันนิวาสมากขึ้น ตามข่าวเศรษฐกิจการเมืองน้อยลง ข่าวที่รัฐบาลไม่ชอบมีน้อยลง ไม่ประเทืองปัญญา มีแต่หดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

การคาดการณ์อนาคตของประเทศไทยจึงทำได้ยาก เมื่อมีการสอบระหว่างประเทศ หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นความรู้ภาษาอังกฤษหรือวิทยาศาสตร์ ความรู้รอบตัวเด็กไทยรวมทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ จึงได้คะแนนรั้งท้ายอย่างเหลือเชื่อ

ถ้าจะให้คาดการณ์อนาคตของประเทศไทยก็คือ “มืดมน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image