ประเสริฐ ณ นคร : ราชบัณฑิต นักวิชาการ ตัวอย่างฉลองอายุ 99 ปี หรือ 100 ปี โดย : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

(จากซ้าย) ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต, ปีนบันไดขึ้นไปอ่านจารึกที่วัดไหล่หิน จ.ลำปาง, กำลังชี้แจงรายละเอียดของศิลาจารึก

ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2432-2483 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนปฏิทินสยาม จากจันทรคติ มาเป็นสุริยคติ โดยทรงมีพระราชดำริให้กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงคิดค้นชื่อเดือนทั้งสิบสองขึ้นใหม่ จากภาษาบาลีและสันสกฤต เพื่อใช้แทนเดือนอ้ายเดือนยี่ที่ใช้มาแต่เดิม โดยทรงให้เริ่มวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ แทนวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ตามปฏิทินทางจันทรคติ

ต่อมาใน พ.ศ.2484 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม เริ่มตั้งแต่ปี 2484 หรือ ค.ศ.1941 เป็นต้นมา ทำให้ปี 2483 มีเพียง 9 เดือน ตั้งแต่เมษายนถึงธันวาคม ด้วยเหตุนี้ หากจะคำนวณ พ.ศ.เป็น ค.ศ.ของเหตุการณ์ในช่วง 2432-2483 แล้ว บุคคลที่เกิดช่วง ม.ค.-มี.ค.ต้องเพิ่มอีกปี เช่น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2461 ถ้าเทียบเป็นปฏิทินใหม่ต้องเป็นปี พ.ศ.2462 หรือ ค.ศ.1919

ครับ ! นี่คือสาเหตุที่หน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เตรียมการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณท่านศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งเป็นปูชนียาจารย์ด้านสถิติ ด้านการบริหารและด้านจารึกและเอกสารโบราณของไทย ในโอกาสครบรอบวันเกิดครบ 100 ปีของท่านจึงได้รับการท้วงติงจากตัวท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐเองว่า ความจริงในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2561 นั้น ท่านอายุครบ 99 ปีต่างหาก

ดังนั้นหากจะจัดงานฉลองวันเกิดครบ 100 ปีให้ท่านนั้นต้องจัดปีหน้าต่างหาก เรื่องก็เลยเกิดการกลับตัวกันทันไปนั่นเอง

Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2461 ที่จังหวัดแพร่ (ท่านจึงเป็นคนทางภาคเหนือเต็มตัว ทั้งๆ ที่พื้นเพเดิมของตระกูล ณ นครนั้นมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช) เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 8 คนของนายบุญเรืองกับนางกิมไล้ ณ นคร สมรสกับนางสาวเยาวลักษณ์ ลีละชาต

ประวัติการศึกษาของท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนนารีรัตน์แพร่ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เรียนซ้ำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อให้มีสิทธิสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง สำเร็จปริญญาตรี (สาขาเกษตรวิศวกรรม) จาก University of the Philippines at Los Banos ด้วยทุน ก.พ. นอกจากนี้ท่านยังศึกษาต่อปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทและเอกทางสถิติจาก Cornell University สหรัฐอเมริกา ประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 11

เริ่มเข้ารับราชการเป็นนักเกษตรผู้ช่วยโท แผนกปฐพีวิทยา และอาจารย์วิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ (9 พฤษภาคม 2482) ต่อมาย้ายไปที่สถานีทดลองเกษตรกรรมแม่โจ้และเป็นอาจารย์ (1 ตุลาคม 2482) และกลับมาเป็นอาจารย์โทแผนกวิศวกรรม สำนักงานคณะเกษตรศาสตร์ (1 มกราคม 2487) เลขานุการคณะเกษตรศาสตร์ (12 ธันวาคม 2489) เลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (15 กุมภาพันธ์ 2490) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย (30 พฤษภาคม 2503) รองอธิการบดี (9 มกราคม 2507-28 กันยายน 2515) รักษาการในตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (29 กันยายน 2509) รักษาการเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติและรองเลขาธิการฝ่ายสังคมศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (29 กันยายน 2515 – 30 กันยายน 2522) จนเกษียณอายุราชการ นอกจากนี้ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐยังได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ด้วย

Advertisement

นอกจากงานประจำที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ยังได้ช่วยงานของหน่วยงานอื่น อาทิ เป็นราชบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ กรรมการชำระประวัติศาสตร์ประเทศไทย กรรมการจัดการเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และกรรมการจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยของราชบัณฑิตยสภา ฯลฯ

ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นนักวิจัยที่สนใจทางด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง เช่น การชำระประวัติศาสตร์สุโขทัย ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไทย หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย การแบ่งกลุ่มไทยตามตัวหนังสือ พจนานุกรมไทยอาหม ตัวอักษรไทยในล้านนา ที่มาของอักษรไทยล้านนาและไทยลื้อ นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง

เรื่องมหัศจรรย์เกี่ยวกับตัวท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ที่แปลกประหลาดเหลือแสนคือท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์เต็มตัวเรียนมาทางการเกษตรและได้ปริญญาเอกทางสถิติท่านชอบนักคิดคำนวณเลขได้เป็นวันๆ แต่ท่านเริ่มการอ่านจารึกจากการที่ท่านไปร่วมงานสัมมนาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับด้านจารึกงานหนึ่ง ซึ่งนักธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น เป็นผู้ชักชวน ในงานนั้นได้เกิดข้อสงสัยทักท้วงเกี่ยวกับความถูกต้องของคำแปลในศิลาจารึกหลักที่ 3 จึงทำให้อาจารย์ ดร.ประเสริฐเริ่มศึกษาในด้านศิลาจารึกอย่างจริงจัง

ครั้งหนึ่งอาจารย์ ดร.ประเสริฐได้ตรวจสอบความถูกต้องของคำแปลในศิลาจารึก และได้ส่งคำแปลบางส่วนซึ่งแก้ขึ้นใหม่ของศิลาจารึกหลักที่ 8 ไปให้ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ พิจารณา ซึ่งท่านก็เห็นพ้องด้วย ซึ่งเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่ส่งผลให้อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ค้นคว้าในด้านศิลาจารึกอย่างจริงจัง ดังข้อความด้านล่างนี้

“ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เป็นนักปราชญ์ยิ่งใหญ่ ที่ยอมรับความคิดเห็นของผู้ที่ไม่เคยปรากฏผลงานด้านจารึกมาก่อนเลย และผลสำเร็จครั้งนี้ผลักดันให้ข้าพเจ้าซึ่งเคยสอบภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในชั้นมัธยมหกได้เพียง 8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 60 คะแนน ศึกษาค้นคว้าอ่านศิลาจารึกอย่างจริงจังมาถึงทุกวันนี้”

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นอาจารย์สอนพิเศษในคณะโบราณคดี วิชาการอ่านจารึกในชั้นปีที่ 4 ในปี พ.ศ.2512 จากคำชักชวนของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล โดยท่านมีหลักการสอนที่แตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ ในขณะนั้น ที่มักจะถือหลักว่าจารึกนั้นสอนกันไม่ได้ ต้องศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งมักจะทำให้นักศึกษาท้อเสียก่อน ท่านจึงปรับเปลี่ยนให้นักศึกษาอ่านอักษรของประเทศลาว ซึ่งคล้ายกับไทยก่อน แล้วจึงให้อ่านจารึกของพระเจ้าลิไทย จารึกของพ่อขุนรามคำแหง และหัดเขียนอักษรธรรม แล้วจึงให้อ่านจารึกอักษรขอม และจารึกโบราณอื่นๆ ซึ่งยากที่สุด เป็นการฝึกหัดจากง่ายไปหายากท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ เป็นคนที่มีความมุมานะอย่างยิ่ง ซึ่งอีกครั้งหนึ่งที่ท่านได้เล่าให้ฟังถึงการที่ท่านเข้ามาศึกษาในด้านจารึก ดังนี้

“ข้าพเจ้าเริ่มศึกษาศิลาจารึก เพราะเห็นว่าเมืองไทยพบจารึกโบราณก็ต้องส่งไปให้ศาสตราจารย์เซเดส์อ่าน ตอนนั้นท่านแก่มากแล้ว ถ้าท่านตาย หมายความว่าจะไม่มีใครอ่านจารึกที่ค้นพบใหม่เลยละหรือ ข้าพเจ้าเห็นว่าคนไทยจะต้องอ่านจารึกให้ได้ ถ้าไม่มีคนไทยคนอื่นอ่านได้ ข้าพเจ้าจะต้องอ่านจารึกให้ได้เอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image