กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว….แฝดสยามอิน-จัน (1)

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว….แฝดสยามอิน-จัน (1)
แฝดสยามก้องโลกคู่นี้เกิดที่ สมุทรสงคราม

เดิมทีเดียว ผู้เขียนตั้งใจจะสืบค้นว่า ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาติสยาม ใครหนอคือคนไทยรุ่นแรกๆ ที่เสี่ยงตายลงเรือเดินทางไปเหยียบแผ่นดินอเมริกา ไปเรียนหนังสือ ไปทำมาหากิน ไปเพราะโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือไปสำรวจขอบฟ้าใหม่ให้ชีวิต เค้าไปกันยังไง เพราะสองร้อยปีที่ผ่านมาผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ในโลกนี้ สูง ต่ำ ดำ ขาว และแม้แต่ชาวจีนยังหลั่งไหลอพยพไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา ดินแดน แผ่นดินแห่งโอกาส อาณาจักรแห่งความฝันของมวลมนุษย์ชาติ ค้นไปค้นมาจึงไปเจอข้อมูลจริงที่มหัศจรรย์ แสนจะเหลือเชื่อ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว คนสยามที่ตัวติดกัน เป็นคู่แฝดประหลาดคู่นี้ พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ซักคำ พออายุได้ 18 ปี มีพ่อค้าอังกฤษ และกัปตันเรืออเมริกัน จ่ายเงินให้พ่อ-แม่ ที่ปากคลองแม่กลอง ตำบลแหลมใหญ่ เมืองสมุทรสงคราม จำนวนมหาศาลถึง 1,600 บาท จับใส่เรือสินค้าจากสยามแล่นผ่านมหาสมุทรค่อนโลกไปจัดการแสดง “มนุษย์ประหลาด” ในอเมริกา ข้ามโลกไปแสดงในอังกฤษ คนในอเมริกาแห่กันซื้อตั๋วเสียตังค์ เข้ามาขอดู ขอพิสูจน์การแสดงของ คนตัวติดกันอย่างมือฟ้ามัวดิน แฝดจากสยามสนุกสนาน เฮฮา ร่าเริง ตระเวนไปแสดงเกือบทั่วแผ่นดินอเมริกา มีผู้จัดการส่วนตัวจัดโปรแกรมการแสดง จนทั้งสองคนมีเงิน ร่ำรวย

แฝดสยาม 1

Advertisement

ชายชาวสยามผู้มีลำตัวติดกัน สมัยเด็กอยู่ที่ ปากคลองแม่กลอง เลี้ยงเป็ดขายไข่ หาปลาเลี้ยงชีพ บรรพบุรุษสยามคู่นี้ในที่สุด เสน่ห์แรงไปมีเมียเป็นฝรั่งอเมริกัน ทั้งคู่ สร้างตัว สร้างบ้าน ซื้อที่ดินในอเมริกาขนาดมหึมา แถมมีลูกดก บานตะไท เหมือนผลไม้ใส่ปุ๋ย ออกดอกออกผล แตกหน่อต่อกิ่ง เกิดเป็นลูกหลาน เหลน โหลน สร้างวงศาคณาญาติในอเมริกา นับถึงปัจจุบันมีโคตรเหง้ารวมราว 1,500 คนในอเมริกา นับเป็นเรื่องราวสุดแสนพิสดาร และเป็นหนึ่งเดียวในโลกใบนี้ ที่คนไทยไม่ทราบไม่ได้ครับ
ประการสำคัญคือมีการบันทึกเป็นวิชาการเกือบครบถ้วน เกล็ดข้อมูล หลักฐานสำคัญจะอยู่ในอเมริกาเกือบทั้งหมด เชื่อถือได้ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านสังคม มุมมองจากหลายมิติ

เรื่องนี้ไม่ใช่นิยายหรือตำนาน แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีลมหายใจ ไม่มีเรื่องอะไรจะโดนใจผู้เขียนเท่ากับเรื่องราวของ แฝดสยาม อิน-จัน ที่ต่อมาก่อให้เกิดคำว่า Siamese Twin ใช้กันทั่วไปในโลก

ขอนำเกล็ดสาระมาแบ่งปัน เล่าสู่กันฟังแบบสบายๆครับ เรื่องนี้เป็นมงคลสำหรับแผ่นดินสยาม โดยเฉพาะพี่น้องบ้านแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เป็นต้นกำเนิดความแปลกน่าศึกษา ขยายตัวกลายเป็นตำนานเล่าขานกันไปทั่วโลก

Advertisement

แฝดสยาม 2

ในรัชสมัยในหลวง ร.2 เด็กชาย ตีอาย ชาวจีนแต้จิ๋ว อพยพโดยเรือสำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจากท้องทะเลพร้อมกับ บิดา มารดา มุ่งหน้าเข้ามาอาศัยแผ่นดินสยาม ครอบครัวนี้สู้ชีวิตสุดๆ แบบชาวจีนนับหมื่นนับแสนคนที่หนีความอดอยากแร้นแค้นจากจีนเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแผ่นดินสยามที่เขียวขจี ตีอายเติบใหญ่ ทำอาชีพประมง และค้าขายเล็กๆ น้อยๆ แถวปากคลองแม่กลอง เมื่อตีอาย อายุอานามพอเหมาะพอควร ได้พบรักกับนางนาก ชาวสยามเชื้อสายจีน-มาเลย์ที่ปักหลักทำมาหากินอยู่ถิ่นละแวกนั้น แต่งงานอยู่กินกัน จนให้กำเนิดลูก เป็นครอบครัวใหญ่ลูกเยอะ ตามวิถีชีวิตของชาวสยาม

แต่สำหรับท้องที่ 5 นางนากเจ็บปวดใจจะขาดแทบสิ้นลม เพราะทารกที่คลอดมานั้นเป็นฝาแฝด แฝดคู่นี้ไม่ธรรมดาเพราะที่ลำตัวมีเนื้อเยื่อเป็นเส้นเชื่อมทารกน้อยทั้งสองทำให้เห็นว่าชัดว่าท้องติดกัน

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ในสมัยในหลวง ร.2 คือวันเกิดของทารกแฝดตัวน้อยที่หมอตำแยทำคลอด ที่มีสภาพหน้าท้องติดกัน แต่กลับหัว กลับเท้าซึ่งกันและกัน ร่างกายเด็กน้อยดูสมประกอบ ไม่มีอะไรแปลกหู แปลกตา หมอตำแยจับทารกอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย ทำกรรมวิธีตามตำราเสร็จสรรพ จึงเห็นชัดว่า มีเพียงหนัง เหมือนเชือกที่บิดเป็นเกลียวเชื่อม ทารกน้อย ตรงบริเวณหน้าอกเข้าด้วยกัน
ท่านผู้อ่านบทความนี้ จำนวนหนึ่งคงไม่คุ้นกับคำว่า “หมอตำแย” เป็นแน่แท้

หมอตำแย หมายถึง หญิงที่ทำหน้าที่คลอดลูกตามแผนโบราณ ครับ ชื่อ ตำแย ที่ฟังดูแล้วรู้สึกว้าเหว่ หนาวกาย หนาวใจ สำหรับคนในยุคนี้ คาดว่ามาจาก ชื่อของเถรตำแย เจ้าสำนักวิชาการทำคลอดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

โบราณกาลของสยาม หมอตำแย เป็นบุคคลสำคัญในชุมชน ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นความตายของทารกเริ่มตั้งแต่ตั้งท้อง หมอตำแยมีทักษะสามารถใช้มือคลำไปที่ท้องแล้วบอกข้อมูลของเด็กในท้องได้เลย จะต้องใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ จัดท่าทาง จัดหัว จัดเท้า ของทารกในท้องแม่เพื่อให้คลอดออกมาสะดวก ปลอดภัย ทุกสังคมในโลกนี้มีหมอตำแย ทั้งสิ้น (หมอตำแย ตรงกับภาษาอังกฤษ ว่า midwives) ต่อมาเมื่อแพทย์และวิชาการจากโลกตะวันตกเข้ามาในสยาม องค์ความรู้ของหมอตำแยนี้ จึงพัฒนามาเป็น วิชาผดุงครรภ์ สูตินารี

แฝดสยาม 3

ในหลักวิชาชีพหมอตำแย ของสยาม มีสิ่งต้องห้ามที่เข้มงวดที่สุด คือ ก่อนเด็กคลอดออกมา ห้ามพูดว่า เด็กในท้องเป็นหญิง หรือชาย
สำหรับสังคมไทย เมื่อวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงเริ่มมีการจัดระเบียบหมอตำแย ในปี พ.ศ. 2500 ผลลัพธ์คือหมอตำแย ค่อยๆ หายหน้า สาบสูญไปจากวงการ เพราะคนไทยหันมาให้ความเชื่อถือ สถานผดุงครรภ์ และโรงพยาบาลที่ใช้หลักการแพทย์แผนปัจจุบันสำหรับการทำคลอด
ผู้เขียนเชื่อว่า ใน พ.ศ. 2558 นี้ ยังคงมีคนไทยรุ่นอาวุโสที่เกิดมาด้วยฝีมือหมอตำแย และยังมีชีวิตอยู่ไม่น้อยครับ

กลับมาที่เรื่องแฝดสยาม ข่าวการให้กำเนิดแฝดประหลาดของ นางนาก อื้ออึงตึงตังไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง ชาวบ้านละแวกนั้น ต่างตั้งตัวเป็นเกจิ ผู้หยั่งรู้ ส่งข่าวปากต่อปาก ชี้เปรี้ยงว่า เด็กแฝดประหลาดคู่นี้ ชะรอยจะเป็นลางร้าย ที่จะนำเสนียดจัญไรหายนะมาสู่บ้านเมืองเป็นแน่แท้
วงซุบซิบนินทา คิดหาหนทางร้อยแปด เจ้ากี้เจ้าการยื่นมือ ยื่นปากยุแหย่ ที่จะต้องผ่าแยกร่างทารกแฝดพิสดาร หรือต้องกำจัดเสียให้จงได้

ในครั้งกระโน้น คงมิพักที่จะพูดถึงการผ่าตัดแยกร่างโดยแพทย์ที่ไหน เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องใช้การเสกเป่า ท่องคาถา รดน้ำมนต์ ทุกชีวิตที่เกิดมา หรือต้องตายไป เป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฟ้าดิน และบุญวาสนา ความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ความรู้เรื่องโรคภัย อวัยวะภายในร่างกาย ปอด ตับ ไต ไส้ พุง ของเด็กแฝดคู่นี้ มีอวัยวะอะไรที่ใช้ร่วมกัน มีอะไรที่แยกจากกันได้-ไม่ได้ ชาวสยามยุคนั้นไม่สามารถรู้ได้เลย แม้แต่มโน ก็มโนแบบมืดสนิท เห็นด้วยตาอย่างเดียวคือ มีหนังเชื่อมกันตรงบริเวณหน้าอก

ข้อมูลทางการแพทย์ที่ค้นมาเล่าแถม อธิบายแบบบ้านๆ คือว่า เมื่อผู้ชายหลั่งเชื้อตัวผู้หรือ อสุจิ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า sperm : สเปอร์ม) เข้าไปในช่องคลอดผู้หญิงเพื่อผสมกับไข่หรือเชื้อตัวเมีย เชื้อตัวผู้ นับร้อยล้านตัว จะมีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ในมดลูกของผู้หญิง ซึ่งธรรมชาติให้ผู้หญิงมีไข่ตัวเมียคราวละ 1 ฟอง เดือนละครั้งเท่านั้น

แต่ถ้าหากรังไข่ของผู้หญิงเกิดผลิตไข่ตกมาพร้อมกัน 2 หรือ 3 หรือ 4 ฟอง เป็นเวลาเดียวกับที่สเปอร์มแห่กันเข้าไป ก็จะเกิดปฏิสนธิเป็น แฝด 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้ครับ เด็กแฝดส่วนใหญ่มีอัตราเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าเด็กธรรมดาครับ

หมอตำแย พ่อมด หมอผีและผู้คนทั้งหลายต่างคิดว่า แฝดพิสดารของเมืองแม่กลองคู่นี้คงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพราะที่ผ่านมา เด็กแฝด ลักษณะนี้อายุสั้นทั้งนั้น นายตีอาย และนางนาก ตั้งชื่อ ลูกแฝดคู่นี้ว่า อิน และ จัน

ชื่อนี้มีความหมาย แค่ไหน อิน-จัน เป็นชื่อของผลไม้ไทย 2 แบบที่อยู่ร่วมต้นเดียวกัน คือ ผลแบบทรงกลมแป้น เรียกว่า ลูกจัน ไม่มีเมล็ด และ ผลแบบทรงกลม ผลหนา ผิวเรียบ ไม่มีรอยบุ๋ม มีเมล็ด เรียกว่า ลูกอิน จำง่ายดีจัง

วันคืนผ่านไปหลายเพลา นายตีอายและนางนาก ไม่เคยคิดจะผ่าแยกร่างลูกน้อยตามที่ชาวบ้านละแวกนั้นอยากเห็น เรื่องของไสยศาสตร์มนต์ดำ มีอิทธิพลทางความคิดอ่านต่อผู้คนเหนือสิ่งอื่นใด แต่นายตีอาย และนางนาก ไม่แยแส ขี้ปากคนแถวนั้น ยืนกรานที่จะไม่ขอแยกร่างลูกน้อยเด็ดขาด
เด็กน้อย แสนประหลาด อิน-จัน สมบูรณ์แข็งแรง เช่นเด็กปกติทั่วไป พ่อ แม่ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ ร่าเริงแจ่มใส ไม่เจ็บป่วย กินได้ นอนหลับ ทำเอา เกจิ อาจารย์ หมอผีทั้งหลายต้องหลบหน้าหายไป ทารกแฝดเริ่มคลาน ไปไหนก็ไปด้วยกัน น่ารัก น่าชัง มีความสอดคล้องราวกับคนเดียวกัน มีบางครั้งก็เงอะงะไปตามประสาเด็ก

พ่อ แม่ ของแฝดอิน-จัน ทำให้ลูกน้อยได้อย่างเดียว คือพยายามยืดหนังที่เชื่อมลำตัว อิน และจัน ให้ขยายออกให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกน้อยมีระยะห่าง ไม่ดึงตัวกัน แต่ก็ยืดได้ไม่มากนัก พ่อแม่เฝ้าสังเกตว่าลูกน้อยหากมีการเจ็บป่วย ก็จะป่วยพร้อมกัน และจะหายป่วยพร้อมกัน

แฝดสยาม 4

ในขณะที่ต้องสาละวนกับแฝดคู่นี้ นางนากยังมีลูกเพิ่มอีก 3 คนที่ถือเป็นน้องของแฝด อิน-จัน รวมลูกของนางนาก เบ็ดเสร็จ 9 คน
อิน-จัน มีพัฒนาการไปตามธรรมชาติของมนุษย์ จากคลานจนกระทั่งเริ่มยืน (ตั้งไข่) จนถึงขั้นเดินเตาะแตะ แฝดคู่นี้ล้มลุกคลุกคลาน หงายหน้า หงายหลัง ไปตามเรื่อง
เพราะทารก 2 คนตัวติดกันมี 4 แขน 4 ขา 2 หัว ยังไม่ได้เริ่มฝึกหัดที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน

ความท้าทายที่ทุกคนต่างเฝ้ามอง คือ แล้วไอ้แฝด อิน-จัน คู่นี้มันจะเดินเหิน ใช้ชีวิตด้วยกันยังไงวะ ?

ท่านผู้อ่านคงนึกภาพออกนะครับ ว่าเอาเชือกมาผูกหน้าอกเชื่อมคน 2 คน (เอาแบบเชือกมีระยะห่างเล็กน้อย) แล้วให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และต้องอยู่ให้ได้ ตลอดไป ว่ามันจะเกิดความรุงรังอะไรขึ้น บ้าง

ธรรมชาติไม่ไร้ความปราณี มีการหยิบยื่นน้ำใจและโอกาสต่อแฝด อิน-จัน ครับ

การเดินไป-มา การหยุด เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงที่คู่ชีวิตทั้ง 2 จะ ต้องร่วมกันคิดอ่านแก้ไข หาวิธีการที่เหมาะสมที่จะใช้ชีวิตร่วมทุกข์ ร่วมสุข ต่อไปให้ได้ อิน-จัน มักจะล้มหัวคะมำ อินจะนั่ง จันจะยืน จันจะวิ่ง อินจะหยุด หกคะเมนคว่ำหงาย เป็นที่ขบขัน เรียกเสียงเฮฮาจากผู้คนทั่วไปในหมู่บ้านเสมอ

พ่อ- แม่ ของเด็กน้อยทั้งสอง และธรรมชาติ ล้วนเป็นครูสอนให้ลูกแฝดเรียนรู้ที่จะโอบไหล่ กอดเอวกัน ตอนเดิน ตอนหยุด เดินเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เข้าขากันดี แบบทูอินวัน ความรู้สึกนึกคิดแบบคนๆ เดียว เข้ามาหล่อหลอมโอบอุ้ม และในที่สุด แฝดอิน-จัน กลายเป็น คน “รู้ใจกัน” ก็วิ่งเล่นได้เหมือนเด็กทั่วไป เป็นที่โจษขานกันไปทั่วทุกสารทิศ แถมยังว่ายน้ำในคลอง หาปลาปู กุ้งหอยมาเลี้ยงพ่อ-แม่พี่น้องอีกต่างหาก ประการสำคัญคือ อิน และ จัน ไม่เคยโต้เถียงเกี่ยงงอนกัน
แฝดคู่นี้กำลังจะไปบางกอกครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image