ครม.ไฟเขียว 1.4 พันล้าน ผลิตบัณฑิตและอาชีวะพันธุ์ใหม่ รองรับยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

ครม.ไฟเขียว โครงการสร้างบัณฑิตและอาชีวะพันธุ์ใหม่ รมช.ศธ.โว เป็นการปฏิรูปอุดมศึกษา สร้างคนศักยภาพสูงรองรับ 10 อุตสาหกรรม ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ลั่น ต้องโละหลักสูตรล้าสมัย ไม่เอาบัณฑิตดาดๆ

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 24 เมษายน ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวภายหลังแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณกลางปีจำนวน 1,396 ล้านบาท เพื่อเริ่มโครงการสร้างบัณฑิตและอาชีวะพันธุ์ใหม่ที่เสนอโดยกระทรวงศธ. โดยเป็นโครงการเร่งด่วน ระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าเมื่อจบโครงการจะผลิตคนได้จำนวน 115,626 คน

นพ.คชินทร กล่าวว่า โครงการสร้างบัณฑิตและอาชีวะพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ 3 ประการ คือ

1.เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และโครงการไทยแลนด์ 4.0

Advertisement

2.ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศที่ขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างที่มีทักษะชั้นสูง รวมถึงวิศวกรด้านต่างๆ โดยเฉพาะช่างอุตสาหกรรม ช่างเทคนิคซึ่งตอบสนองต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

3.ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมา ได้รับเสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมว่าภาครัฐผลิตบุคลากรไม่ตรงตามความต้องการของตลาด

ดังนั้น มหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวะต้องปรับหลักสูตร ปรับกระบวนการเรียนการสอน โดยสิ่งสำคัญคือต้องจัดให้มีการเรียนในสถานที่จริงอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ของเวลาเรียน เพื่อให้สามารถทำงานได้จริงกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะดำเนินการโครงการภายในปีการศึกษานี้ คือ ภายในเดือน พฤษภาคม 2561

Advertisement

นพ.คชินทร กล่าวว่า ขณะนี้มี 20 มหาวิทยาลัยที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาสู่โครงการ รวม 235 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตร non-degree หมายถึงเป็นการอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพเป็นระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปี จำนวน 119 หลักสูตร โดยจะนำคนที่ทำงานอยู่แล้วที่ต้องการเพิ่มศักยภาพเพื่อให้มี Multi-skill ประมาณการว่าใน 3 ปีแรกจะสร้างกำลังคนได้ 51,999 คน โดยรัฐบาลมอบเงินรายหัวให้ หัวละ 60,000 บาท ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม degree หมายถึงกลุ่มที่ได้รับปริญญา จำนวน 116 หลักสูตร เมื่อจบโครงการจะทำให้เกิดบัณฑิตพันธุ์ใหม่จำนวน 56,078 คน เฉลี่ยเงินสนับสนุน 120,000-150,000 บาทต่อคนต่อปี ส่วนในระบบอาชีวะ จะสร้างคนได้ประมาณ 8,500 คนใน 5 ปี ซึ่งเหตุผลที่กระทรวงศธ.เสนอตัวเลขของระบบอาชีวะน้อยกว่าในระบบมหาวิทยาลัย เพราะจากสถิติพบว่าประเทศไทยมีสถาบันอาชีวะกว่า 400 วิทยาลัย แต่ที่มีมาตรฐานเข้าเกณฑ์เพียง 27 วิทยาลัย กระทรวงศธ.จึงต้องผลักดันให้อาชีวะปรับมาตรฐานให้เป็นระดับสูง ต้องสร้างคนที่มีสมรรถนะชั้นสูง และต้องปรับหลักสูตรใหม่ให้เป็นมาตรฐานสากล โดยยืนยันว่ากระทรวงศธ.จะไม่ประนีประนอมในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ในปีถัดไป งบประมาณในการดำเนินการโครงการนี้จะจัดอยู่ในงบประมาณปกติ ดังนั้น มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวะจะต้องปรับแนวทางใหม่ กล่าวคือ หลักสูตรเดิมที่ไม่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติจะต้องถูกลดปริมาณและงบประมาณ เพื่อเกลี่ยมาใช้ในโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะต้องการสร้างบัณฑิตให้สอดรับกับความต้องการของตลาด ทำให้มหาลัยฯต้องปรับตัว ต้องตอบโจทย์ตลาดและยุทธศาสตร์ชาติให้ได้ เพื่อสร้างบัณฑิตที่ออกไปทำงานได้จริง ไม่ต้องฝึกงานใหม่ มีปัญญาที่จะออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่บัณฑิตดาดๆแบบเดิม หลักสูตรใดที่ล้าสมัยจะต้องลดลงหรือเปลี่ยนเป็นหลักสูตรใหม่ ถือเป็นการปฏิรูปอุดมศึกษาและอาชีวะศึกษาไปในตัวด้วย” คชินทรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image