เขตประทุมวัน : โดย บัณฑิต จุลาสัย และ รัชดา โชติพานิช

บริเวณวัดปทุมวนารามในปัจจุบัน ที่มา : หนังสือวัดปทุมวนาราม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่ในเขตปทุมวัน มีฐานะเป็นเพียงตำบลประทุมวัน ในอำเภอสามเพ็งเท่านั้น ต่อมาจึงได้ยกระดับเป็นหนึ่งในอำเภอชั้นในของกรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ.2458 ดังความที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาในสมัยรัชกาลที่ 6 วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2458 เล่ม 32 หน้า 335 เรื่อง ประกาศยกเลิกอำเภอชั้นใน 7 อำเภอ และตั้งอำเภอชั้นในขึ้นใหม่ 25 อำเภอ โดยระบุว่า

เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดำรัสสั่งว่า ท้องที่อำเภอชั้นในกรุงเทพพระมหานครซึ่งได้จัดแบ่งไว้แต่เดิมกว้างใหญ่ ในเวลานี้มีผู้คนพลเมืองหนาแน่น สมควรจะจัดแบ่งท้องที่ตั้งการปกครองเสียใหม่ เพื่อสะดวกแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาความศุขสำราญของประชาชนพลเมืองในกรุงเทพพระมหานครให้ได้รับความสะดวกในกิจการต่างๆ ดีขึ้น

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกอำเภอชั้นในกรุงเทพพระมหานคร…โปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งท้องที่การปกครองขึ้นใหม่ เป็น 25 อำเภอ ขนานนามอำเภอและกำหนดเขตร์ท้องที่ดังต่อไปนี้

16.อำเภอประทุมวัน
อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอดุสิตและอำเภอประแจจีน
แต่สี่แยกมหานาคไปตามลำคลองแสนแสบฝั่งใต้ถึงทางรถไฟช่องนนทรี ทิศตะวันออกต่ออำเภอพระโขนง จังหวัดพระประแดง แต่คลองแสนแสบไปตามทางรถไฟสายช่องนนทรี ด้านตะวันออกถึงคลองหัวลำโพง ทิศใต้ต่อเขตร์อำเภอพระโขนง จังหวัดพระประแดง และอำเภอสาธร อำเภอบางรัก แต่ทางรถไฟสายช่องนนทรีไปตามลำคลองหัวลำโพงฝั่งใต้ถึงคลองผดุงกรุงเกษม ทิศตะวันตกต่ออำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ปากคลองหัวลำโพงไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันตกถึงสี่แยกมหานาค…

Advertisement
บริเวณสระประทุมวัน เคยใช้เป็นสถานที่จัดงานแสดงการกสิกรรมแลพานิชการ ในภาพคือการจัดงานครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2454

ต่อมาเมื่อมีประกาศจัดตั้งกรุงเทพมหานคร โดยคณะปฏิวัติ ปี พ.ศ.2515 มีคำสั่งให้เปลี่ยนอำเภอประทุมวัน เป็นเขตปทุมวัน ประกอบด้วยแขวงรองเมือง วังใหม่ ปทุมวัน และลุมพินี มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดกับเขตดุสิตและเขตราชเทวี โดยมีคลองมหานาคและคลองแสนแสบเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศตะวันออก ติดกับเขตวัฒนาและเขตคลองเตย โดยมีทางรถไฟสายช่องนนทรีเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศใต้ ติดกับเขตสาทรและเขตบางรัก โดยมีถนนพระรามที่ 4 เป็นเส้นแบ่งเขต

ส่วนทิศตะวันตก ติดกับเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีคลองผดุงกรุงเกษมเป็นเส้นแบ่งเขต

แม้ว่าเขตปทุมวัน จะมีพื้นที่เพียงแปดตารางกิโลเมตร และเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญที่ครอบครองพื้นที่ขนาดใหญ่ อย่างวังสระปทุม ที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสถานเสาวภา กรมตำรวจและโรงพยาบาลตำรวจ ราชกรีฑาสโมสรกรุงเทพฯ วัดปทุมวนาราม สวนลุมพินี และสถานีรถไฟกรุงเทพหัวลำโพงแล้ว พื้นที่ที่เหลือไม่มากนั้น กลับเจริญก้าวหน้าและทันสมัย เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวหลักของประเทศ ประกอบด้วยศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ธนาคาร และโรงแรมมากมาย ในอาณาบริเวณตั้งแต่เจริญผลจนถึงเพลินจิต ตั้งแต่สามย่านจนถึงประตูน้ำ โดยมีทางเดินลอยฟ้าหรือสกายวอล์ก เชื่อมต่อถึงกันหมด

Advertisement
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ภาพปัจจุบันของเขตปทุมวัน จึงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก ด้วยพื้นที่ดั้งเดิมเป็นเพียงที่ลุ่มนอกพระนครไม่ค่อยมีผู้คนอยู่อาศัย แม้ต่อมาจะเปลี่ยนสภาพเป็นที่นา ที่ต่อเนื่องกับทุ่งบางกะปิก็ตาม จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)) และพระยาสามภพพ่าย (หนู) ดำเนินการปรับแต่งท้องที่นาหลวง ริมคลองบางกะปิ ขุดสระปลูกบัว และสร้างสิ่งก่อสร้างสำหรับเป็นที่เสด็จประพาส ตามความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 มีความว่า

...แล้วทรงพระราชดำริว่า ท้องนาที่หลวงอยู่ในคลองบางกะปิราย 1 จะทำเป็นสระบัวปลูกบัวต่างๆ ไว้ชมเล่น จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็น แม่กองพระยาสามภพพ่าย (หนู) เป็นนายงาน จ้างจีนขุดสระบัวให้เป็นเกาะน้อยเกาะใหญ่ลดเลี้ยวกันไป ถ้าที่ไม่พอก็ให้ซื้อราษฎรต่อไปอีก สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย พระยาสามภพพ่าย ทำพระที่นั่งที่ประทับแรมองค์ 1 ทำพลับพลา โรงละครที่เจ้าจอมอาศัย โรงครัวข้างในและโรงครัวเลี้ยงขุนนางข้างหน้า ชักกำแพงล้อมรอบเป็นเขตต์ข้างหน้าข้างใน ฝ่ายข้างใต้ได้ให้สร้างวัดขึ้นวัด 1 พระราชทานชื่อวัดปทุมวนาราม นิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุกติกาไปอยู่

เจ้าอธิการชื่อพระครูปทุมธรรมธาดา แล้วขุดสระใหญ่มีเกาะน้อยเกาะใหญ่ในกลางสระ ในสระนั้นให้ปลูกบัวต่างๆ บนเกาะนั้นให้ปลูกผักต่างๆ พรรณดอกไม้ต่างๆ ถึงระดูแล้งเดือน 2 ข้างขึ้นก็ไขน้ำเข้าไว้เปี่ยมสระ เสด็จมาประทับอยู่ 2 ราตรีบ้าง 3 ราตรีบ้าง ให้เจ้าจอมข้างในลงเรือพายเก็บดอกบัวและพรรณดอกไม้ และพรรณผักชิงกันเล่นเป็นที่สนุก เวลาเช้าพระสงฆ์ราชาคณะลงเรือสำปั่นน้อยพายเข้าไปรับบิณฑบาต เวลาค่ำก็ให้มีผ้าป่า และให้เรือข้าราชการเข้าไปเล่นสักรวาดอกสร้อย ทรงดังนี้ทุกๆ ปี…

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ที่มา : สถานเทคโนโลยีการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช

ช่วงเวลาการก่อสร้างสระบัวขนาดใหญ่ จนเป็นวัน (ป่า) ปทุม (บัว) นี้ น่าจะเริ่มมาก่อน พ.ศ.2398 เพราะพบหมายรับสั่งรัชกาลที่ 4 ปีระกาสัปตศก จุลศักราช 1217 (พ.ศ.2398) เรื่องเสด็จทอดพระเนตรสระประทุมวันให้จุกช่องล้อมวง มีความต่อไปนี้

…อนึ่ง เพลาเช้า 3 โมง นายพวง นายรองพันอินทรราช มาสั่งว่า ด้วยพระยา วรพงษ์พิพัฒน์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่ากำหนด ณ วันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 1 เพลาเช้า จะเสด็จทางชลมารถไปทอดพระเนตรสระประทุมวัน ถ้าเพลายังมีอยู่จะเสด็จไปวัดโสมนัศวิหารด้วยนั้น ให้เบิกปืนหลักทองไปจุกช่องล้อมวงทางบก…

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งประทุมมาภิรมย์เป็นที่ประทับแรม รวมทั้งวัดปทุมวนาราม พระอารามหลวง โดยมีบันทึกพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ คือ พระแสนและพระไส จากวัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี มาประดิษฐาน เมื่อเดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ ว่า

…วันที่ 1 ธันวาคม เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือกระบวนและเรือแห่ข้าราชการ ขึ้นไปรับพระแสนองค์ 1 พระไสองค์ 1 ลงมาจากวัดเขมาภิรตาราม ไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม…

นอกจากนี้ยังพบในหมายรับสั่งรัชกาลที่ 4 ว่ามีการจัดผ้าป่าไปวัดปทุมวนารามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานฉลองวัดปทุมวนารามที่มีถึง 5 วัน 5 คืน เมื่อ พ.ศ.2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ที่วังริมวัดปทุมวราราม ถึง 5 คืน

ทัศนียภาพพระตำหนักน้ำ ภายในวังเพ็ชรบูรณ์ ปัจจุบัน คือบริเวณที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

…ในเดือน ๑ นั้น โปรดให้ฉลองวัดปทุมวนาราม ณ วันจันทร์เดือน ๑ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาบ่ายได้ตั้งกระบวนแห่พระพุทธรูป ผ้าไตร เครื่องบริขาร ลงเรือเอกไชยแต่หน้าพระที่นั่งชลังคพิมาน กระบวนแห่เรือมีเรือเอกไชยบุษบกลำ ๑ เรือดั้ง ๕ คู่ เรือกราบ ๒ เรือศรี ๒ …เสด็จไปประทับแรมที่วังริมวัดปทุม ๕ ราตรี…

วังริมวัดปทุมวนาราม ที่กล่าวถึง นอกจากจะเป็นปฐมบทของการสร้างวังนอกกำแพงพระนคร แห่งยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว รวมทั้งการเสด็จประพาสทางชลมารถคลองบางกะปิแล้ว ยังมีการสร้างทางดิน หรือถนนสระปทุมต่อจากถนนบำรุงเมือง ปัจจุบันคือ ถนนพระรามที่หนึ่ง รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีเจ้าพนักงานกำกับดูแลสถานที่ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าผู้รักษาสระปทุมวัน คือ จ่าอุทยานบริรักษ์ ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานนามใหม่เป็น ขุนราชเกษตรานุรักษ์ ตำแหน่งเจ้ากรม หมื่นพิทักษ์ปทุมวัน ตำแหน่งปลัดกรม และหมื่นสกลประมาณ ตำแหน่งสมุห์บัญชี

เมื่อมีการสร้างสระบัวขนาดใหญ่ วัดปทุมวนารามและวังริมวัด และการเดินทางสะดวกทั้งทางน้ำและทางบก จึงมีราษฎรอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยมากขึ้น รวมทั้งมีการสร้างที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ ในเวลาต่อมา

เริ่มจากพื้นที่ผืนใหญ่ทางฝั่งใต้ของสระปทุมและวัดปทุมวนาราม มีวังกลางทุ่ง วังใหม่ หรือวังวินเซอร์ พระราชฐานที่จัดเตรียมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของสยามประเทศ เสียดายว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มิได้ทันเสด็จไปประทับ ด้วยทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

ความใหญ่โตของอาคาร และความกว้างขวางของพื้นที่ จึงมีหลายหน่วยงานขอเข้าใช้ เริ่มตั้งแต่ กรมรถไฟหลวง กรมแผนที่ และโรงเรียนเกษตราธิการ ที่เปิดสอนการเพาะปลูก การคลอง การแผนที่ และโลหกิจ จนมาเป็นที่ตั้งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

เมื่อมีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 (นับอย่างสากลคือ พ.ศ.2460) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพื้นที่วังใหม่ทั้งหมด ให้ใช้ในการศึกษาและจัดหาผลประโยชน์ต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาต่างๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางหน่วยงานขอใช้ชั่วคราว บางหน่วยงานย้ายออกในเวลาต่อมา จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียงบางหน่วยงานเท่านั้น

รวมทั้งในปี พ.ศ.2477 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษา ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 77 ไร่ 1 งาน เพื่อสร้างสนามกรีฑาสถานและโรงเรียนพลศึกษากลางขึ้น นายหงุยผู้รับเหมาเชื้อชาติจีนกวางตุ้ง ได้รับการว่าจ้างรื้อวังใหม่ลง โดยคิดค่าแรงและค่าเครื่องมือรวมทั้งสิ้น 2,740 บาท ส่วนการก่อสร้างสนามกรีฑาสถาน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2480 มาแล้วเสร็จสมบูรณ์ ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2485 ซึ่งต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็น สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ

ขณะเดียวกัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กันพื้นที่บางส่วนสำหรับพัฒนาเชิงธุรกิจ โดยเริ่มจากให้เอกชนเช่าปลูกผัก ทำโรงงาน และอยู่อาศัย

ต่อมาเป็นอาคารพาณิชย์พักอาศัยบริเวณสวนหลวงและสยามสแควร์ และปัจจุบันเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ได้แก่ มาบุญครอง จามจุรีสแควร์ ฯลฯ

พื้นที่สระปทุม ฝั่งตะวันตกของวัดปทุมวนาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินสำหรับเตรียมการสร้างวังของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งขณะนั้นยังมิได้สร้างเนื่องจากเสด็จไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศ แต่ภายหลังการสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง ทรงสร้างพระตำหนักขึ้นหลายหลังในพื้นที่ และประทับจนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2498

แผนที่กรุงเทพฯ ราว พ.ศ.2440 บริเวณสระประทุมวัน
ที่มา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเนาจากหอสมุดแห่งชาติ

วังสระปทุมนี้ มีความสำคัญ ด้วยเป็นสถานที่จัดงานอภิเษกสมรสระหว่าง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ 9 เป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่าง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เรื่อยมาจนเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2538 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ทั้งนี้ พื้นที่บางส่วนของวังสระปทุม เคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมและศูนย์การค้าสยามอินเตอร์คอนติเนนตอล ปัจจุบันคือศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน

ทั้งนี้ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ยังได้พระราชทานพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของวังวินเซอร์ ให้กับพระอนุชา คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเป็นพระชนกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่ 7 สำหรับสร้างวังปทุมวัน ซึ่งปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

สำหรับพื้นที่สระปทุมทางฝั่งตะวันออก ที่เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ไม้และบ่อน้ำมากมายนั้น

วังใหม่ วังกลางทุ่ง หรือวังวินเซอร์ที่เคยเรียกขานวังของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระอนุชาร่วมพระชนนี สร้างที่ประทับคือ วังเพ็ชรบูรณ์

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ เมื่อปี พ.ศ.2466 กระทรวงศึกษาธิการได้เช่าที่ดิน เป็นที่ตั้งของโรงเรียนช่างโลหะพรรณ และยกระดับเป็นโรงเรียนการช่างอินทราชัย วิทยาลัยเทคนิคอินทราชัย และวิทยาลัยอินทราชัย ตามลำดับ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ซอยวัดเทพลีลา ถนนรามคำแหง

และในปี 2525 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้บริษัทเอกชนเข้าพัฒนาพื้นที่วังเพ็ชรบูรณ์ สร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่ปัจจุบันคือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ทั้งหมดคือความเป็นมาของเขตปทุมวัน เขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยภาพลักษณ์ ของพระราชฐาน วังสระปทุม ศาสนสถาน วัดปทุมวนาราม และสถานศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่มรื่นสวยงาม ปรากฏอยู่ท่ามกลางหมู่อาคารขนาดใหญ่และสูงมากมาย สะท้อนให้เห็นการผสมผสานวิถีชีวิต วัฒนธรรมเศรษฐกิจและสังคม อย่างแนบแน่นและกลมกลืน

บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยเอกสารและแผนที่ประวัติศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image