พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : ภัยใกล้ตัว : การปกครองด้วยระบอบอภิชนาธิปไตย

เมื่อสองสามวันก่อน มีข่าวว่ารถไฟของญี่ปุ่นได้เดินรถเป็นเที่ยวสุดท้ายและยุติการให้บริการที่สถานีหนึ่ง การหยุดเดินรถไม่ใช่เรื่องแปลก เหตุผลของการปิดสถานีที่ฮอกไกโดเพราะอยู่ห่างไกลไม่คุ้มค่าในการเดินรถ แต่ที่น่าสนใจก็เพราะจริงๆไม่มีผู้โดยสารขึ้นสถานีนี้มานานแล้ว แต่ที่ยังปิดไปก่อนหน้านี้ไม่ได้เพราะยังมีนักเรียนชั้นมัธยมปลายอยู่คนหนึ่งใช้บริการรถไฟไปเรียนหนังสืออยู่ จนกระทั่งเธอเรียนจบ การเดินรถมาสถานีที่อยู่ห่างไกลนี้จึงยุติลงได้ หลายคนน่าจะสงสัยว่า เด็กหญิงธรรมดาๆที่ชื่อคานะจังคนนี้มีอิทธิพลอะไรต่อรถไฟญี่ปุ่นหรือสังคมญี่ปุ่น คำตอบก็น่าจะง่ายๆว่า ก็เพราะญี่ปุ่นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยให้ความสำคัญต่อประชาชน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ประชาชนคนใด คนหนึ่ง แม้คนเดียว ก็มีความหมายสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

เราจะไม่พูดกันถึงความดีงามของระบอบประชาธิปไตยกันในที่นี้ เพราะยังมีระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งที่มีการเชียร์กันโดยกลุ่มชนชั้นสูง คนมีการศึกษา และคนมีอำนาจทั่วไป นั่นคือการปกครองด้วยคนมีการศึกษาสูงหรือเก่งกว่าคนอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่า อภิชนาธิปไตย ภาษาอังกฤษแปลว่า aristocracy มาจากภาษากรีก aristokratia หมายถึง “การปกครองโดยคนที่ดีที่สุด” (rule of the best) แยกศัพท์ อภิชน คือ คนได้เปรียบในสังคม บวก อธิปไตยคืออำนาจ หมายถึง การปกครองด้วยคนที่ได้เปรียบในสังคมหรือมีสิทธิพิเศษในสังคม อภิชนนี้ไม่ได้หมายถึงมีคนเดียว ถ้าเป็นการปกครองโดยคนเดียวเรียกกันว่า ระบอบราชาธิปไตยใช้การสืบสายเลือด อภิชนนี้เป็นการปกครองโดยกลุ่มคนจำนวนน้อย การปกครองระบอบนี้เท่าที่เห็นชัดๆก็มี คณาธิปไตย อภิชนาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ข้อแตกต่างคือ คณาธิปไตยเป็นรูปแบบคณะบุคคลเหมือนกันแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเหนือคนอื่น อาจใช้กำลังยึดมาปกครองก็เพียงพอ ส่วนคอมมิวนิสต์ก็ใช้สมาชิกพรรคคัดเลือกกันเป็นลำดับจนได้คนที่คิดว่าดีที่สุด

ส่วนประชาธิปไตยที่เรารู้จักนั้นมีการปกครองตรงกันข้ามกับระบอบนี้เพราะเป็นการปกครองด้วยคนส่วนใหญ่ที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และหากคนส่วนใหญ่นั้นแข็งขันมากๆ ก็เรียกว่าเป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วมหรือ participation อีกคำหนึ่งที่ใช้แทนกันในสมัยกรีกคือ polity ที่พลเมืองซึ่งเป็นเสรีชนทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและปกครองตนเองในรูปของประชาธิปไตยทางตรงเหมือนในสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง

ในประเทศไทย มีความพยายามกันมานานแล้วที่จะให้ผู้ที่ดีที่สุดเป็นผู้มีอำนาจ แต่บังเอิญคำว่าดีเป็นคำในทางจริยธรรม ไม่สามารถวัดได้ จึงมีคนพยายามใช้สื่อโฆษณาตัวเองว่าเป็นคนดี หรือสร้างหรือเข้าไปในจุดที่จะโฆษณาตัวเองได้เพื่อให้คนทั่วไปหลงเชื่อ ไปๆมาๆคนที่เคยคิดว่าดี ไม่ช้าก็ดีแตก ล้วนมีเบื้องหลัง เบื้องหน้ากันไปต่างๆ ถ้าเอามาตรฐานศาสนามาจับก็มักเป็นผู้ผิดศีลห้าหรือศีลหลักๆของศาสนาต่างๆกันทั้งนั้น ไม่ลักขโมยก็โกหก ใส่ร้ายคนเป็นนิจ ไปจนถึงฆ่าคนได้โดยไม่รู้สึกผิด ที่น่าจะเป็นปัญหามากที่สุดคือการไปร่วมมือกับทุนผูกขาดต่างๆ จนอาจเรียกได้ว่าทุนผูกขาดสามานย์ กำหนดทิศทางของนโยบายต่างๆหรือร่วมมือกับนักโฆษณาตัวเองส่งเสริมให้มีอำนาจเพื่อเข้าสู่ระบอบอภิชนาธิปไตยนี้ เมื่อมีความร่วมมือกันระหว่างนักโฆษณากับทุนผูกขาด ก็มีแต่ประชาชนที่เสียเปรียบและถูกเอาเปรียบอย่างหนัก

Advertisement

เป็นไปได้หรือไม่ที่อภิชนจะทำเพื่อประชาชน? ตรงนี้อาจเป็นคำถาม แต่เมื่อดูที่มา ที่ไปของเหล่าอภิชนร่วมมือกับทุนผูกขาดแล้ว ก็คงยากที่จะหวังการจะทำอะไรเพื่อประชาชน โดยหลักคิดง่ายๆก็คือ เมื่อเป็นมนุษย์ ก็ย่อมมีความโลภ โกรธ และหลง เอาเฉพาะความโลภ แม้เป็นคนดีสมมติว่ายังไม่เคยผิดศีลแบบคนดีจอมปลอมทั้งหลาย เวลามีโอกาสก็ย่อมคิดถึงตัวเองก่อนเป็นธรรมดาตราบใดที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคล และเมื่อกลุ่มอภิชนมีคนจำนวนไม่มาก ก็จะแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์กันเพียงภายในกลุ่ม รูปธรรมที่เห็นได้คือการผูกขาดธุรกิจในกลุ่มและตระกูลแคบๆ กับการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์รอบๆกลุ่มตัวเอง เช่น ให้คนของตัวได้รับการศึกษาสูงๆ กดคนกลุ่มอื่นไว้ให้โง่งม เพิ่มเงิน เพิ่มผลประโยชน์เฉพาะในกลุ่มตัวเอง เป็นต้น นานๆไปก็จะมีเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆที่ผูกขาดความมั่งคั่งไว้อย่างเด็ดขาดเท่านั้น ในเรื่องการปกครองโดยอภิชนที่โด่งดังที่สุดคือ การปกครองโดยนาซี และฟาสซิสต์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ผลของการปกครองเช่นนั้นกลับทำให้กลุ่มอภิชนนั้นเองอ่อนแอ เช่นการที่กลุ่มทุนและนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวหนีภัยมาพึ่งฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นต้น

สมมติมีประเทศไหน มีการปกครองด้วยระบบอภิชน จะเกิดอะไรขึ้น มองที่ตัวอย่างระบอบคอมมิวนิสต์ที่ยังอยู่และปกครองด้วยกลุ่มคนที่เป็นเฉพาะกลุ่มคือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ดูเจริญดี มีนักคิดในไทยหลายคนอยากเอามาเป็นตัวอย่างในไทย แต่มาบัดนี้แม้จะมีเงินสำรองจำนวนมหาศาลและเป็นระบบอภิชนที่กำหนดให้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นระยะทุก ๑๐ ปีก็ตาม แต่เพราะปกครองแบบระบบราชการ เมื่อโลกเกิดชะลอตัวการส่งออกที่พึ่งพามาตลอดลดลง เศรษฐกิจพื้นฐานของจีนก็น่าจะลดลงด้วยแต่หุ้นยังคงเติบโตทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเศรษฐกิจที่แท้จริงกับตลาดทุน ทำให้เกิดปัญหาการเทขายและค่าเงินหยวนอ่อนค่ารุนแรงอย่างที่พบ หรือในกรณีอดีตสหภาพโซเวียต ระบบราชการที่ปกครองทำให้ประชาชนไม่มีกำลังใจในการผลิต เป็นต้น สุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะสิทธิต่างๆหรืออภิสิทธิ์ก็ไปอยู่ที่ระบบราชการและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ หรือก็คือระบบพรรคพวก ชนกลุ่มน้อยนั่นเองที่ทำให้กำลังการผลิตหดตัวและล่มสลายในที่สุด

ตัวอย่างการใช้ระบบราชการปกครองในอดีตอันใกล้ในอีกฝั่งคือ กลุ่มทวีปอเมริกาใต้ ที่ผู้นำเผด็จการใช้อำนาจทางทหารปกครองด้วยระบบราชการสมัยใหม่ โดยทุกประเทศจะมีคำโฆษณาชวนเชื่อว่าเป้าหมายของการปกครองคือสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจและการกินดี อยู่ดีให้กับประชาชนโดยขอให้ประชาชนไม่ต้องมีส่วนร่วมในด้านการเมือง แต่ขอให้รอรับการอนุเคราะห์จากรัฐบาลที่ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี คอยสั่งสอนและจะจัดแต่สิ่งดีๆให้ เริ่มต้นก็ทำท่าดีเหมือนระบบคอมมิวนิสต์แบบตลาดของจีน สุดท้ายก็เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค เพราะทหารที่บริหารประเทศไม่มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆในทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งก็คงเหมือนคำพูดตลกๆว่า ใช้ทหารแก้ปัญหาก็เหมือนการรักษาโรคด้วยการใช้สารกัมมันตรังสีหรือคีโม เพราะนอกจากจะทำลายเนื้อร้ายแล้วยังทำลายเนื้อดีต่างๆจนหมด สุดท้ายก็ตายลงจนได้

Advertisement

ดังนั้นระบอบอภิชนาธิปไตย มีแต่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ได้เปรียบ ได้ประโยชน์อยู่แล้วในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราชการที่จะโตวัน โตคืน ดูดกินทรัพยากรและภาษีของประชาชนอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อนำเงินทองไปบำรุงคณะปกครอง คณะปกครองก็จะให้ผลประโยชน์ต่อระบบราชการทั้งขึ้นเงินเดือน สวัสดิการ ให้ไปกินผลประโยชน์ในที่ต่างๆ ส่งผลให้เกิดการฉ้อราษฎร์ บังหลวงและเส้นสายขนานใหญ่ โดยอาจปราศจากการตรวจสอบ ใครสงสัยก็อาจโดนคดีติดคุกกันจนได้

ในอดีตเราเคยมีคำพูดว่า “๑๐ พ่อค้าไม่เท่า ๑ พระยาเลี้ยง” ก็อาจเทียบเคียงได้เพราะพ่อค้าต้องพึ่งพาระบบราชการในการขอให้ออกระเบียบหรือกฎหมายมาให้พวกตนผูกขาด เช่นการผูกขาดอากร บ่อนเบี้ย ป่าไม้ หัวเผือก หัวมันต่างๆ จนร่ำรวย แต่พอมีงานเลี้ยง พระยาคนเดียวก็เรียกพ่อค้าจากทุกทิศมาออกร้านได้ ต่างจากพ่อค้าที่มีสินค้าเพียงหน้าเดียว แต่พระยาก็ทำให้อารยะธรรมนั้นล่มสลายได้ถ้าขาดความคิดสร้างสรรค์ในการปกครอง ดังที่ปรากฏมาทั่วโลกแล้วสำหรับการปกครองระบอบคณาธิปไตยหรืออภิชนาธิปไตยก็ให้ผลดุจเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image