ค่าบาทยังผันผวน จับตาสหรัฐหารือเกาหลีเหนือ-เฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าไทย

นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นส่งผลให้กาาค้าโลกขยายตัวดี และทำให้การส่งออกบ้านของไทยขยายตัวดีเช่นกัน โดยตัวเลขการส่งออกทุกเดือนดีขึ้น อย่างไรก็ดีในเ้านอัตราการขยายตัวอาจจะมีการชะลอตัวลงเพราะฐานการขยายตัวในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ด้านมูลค่าและปริมาณยังถือว่าดี อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามนโยบายการค้าสหรัฐ รวมทั้งการหารือร่วมกันของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานนาธิบดีสหรัฐ และนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ว่าจะมีความชัดเจนอย่างไรด้วยเพราะอาจจะมีผลต่อบรรยากาศการค้าได้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ต้องติดตามการหารือของสหรัฐและเกาหลีเหนือเพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีและความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลเกาหลีเหนือ  การประชุมของนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) คาดว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ไปที่ 1.75-2.00% จากภาพรวมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการจ้างงานสูง ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.00% และต้องติดตามว่าอีซีบีจะมีการเลิกนโยบายซื้อสินทรัพย์หรือไม่ เช่นเดียวกับการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ที่คาดว่าจะคงนโยบายดอกเบี้ยติดลบต่อ คาดค่าเงินเคลื่อนไหวในกรอบ 31.90-32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยการหารือระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือจะทำให้ตลาดเอเชียเปิดรับความเสี่ยงระยะสั้น แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก

“อัตราดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นไปสูงกว่าดอกเบี้ยไทยที่ 1.50% นั้น มองว่าจะไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยมาก อย่างไรก็ตามต้องติดตาม หากค่าเงินละตินอเมริกาและยุโรปอ่อนค่า เงินบาทอาจอ่อนค่าตามไปด้วย และจะมีเงินไหลออกถ้าบาทอ่อนแรง” นายจิติพล กล่าว

รายงานข่าวจาก กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า แนวโน้มค่าเงิรบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.85-32.20 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มองว่า นักลงทุนจับตาหลายเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ การประชุมเฟด การประชุมอีซีบี การประชุมบีโอเจ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก เป็นที่คาดการณ์โดยทั่วไปว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมวันที่ 12-13 มิถุนายน โดยตลาดจะมุ่งความสนใจไปที่การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินของเฟดรวมถึงสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนบีโอเจมีแนวโน้มคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษไว้ตามเดิมในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายน เราจึงมองว่าปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดมากที่สุดคือท่าทีของอีซีบี เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงหากอีซีบีเดินหน้าส่งสัญญาณการยุติมาตรการคิวอีอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าความผันผวนในตลาดพันธบัตรอิตาลีเมื่อเร็วๆ นี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดของผู้ดำเนินนโยบายในภาพรวม เงินเยนซึ่งถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยอาจได้แรงหนุนหลังจากปธน.ทรัมป์ถอนตัวจากแถลงการณ์ร่วมในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือ G-7 รอบล่าสุด สะท้อนความขัดแย้งเรื่องการค้าและภาษีนำเข้าระหว่างปธน.ทรัมป์ และผู้นำคนอื่นๆ ท่ามกลางความกังวลเรื่องสงครามการค้าโลก ส่วนดอลลาร์แคนาดาและเปโซเม็กซิโกเผชิญแรงกดดันจากความวิตกที่ว่าสหรัฐฯ อาจยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คาดว่าสกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของทั้งการเติบโตของการค้าโลกและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะข้างหน้า

Advertisement

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%จากระดับ 1.50-1.75% เป็น 1.75-2.00% ในการประชุมรอบที่สี่ของปีนี้ ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีพัฒนาการที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง ทิศทางของเงินเฟ้อที่ปรับเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดมากขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นกลางเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวและป้องกันการเกิดภาวะฟองสบู่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามในการประชุมเฟดครั้งนี้ คงได้แก่ การส่งสัญญาณถึงมุมมองอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะมุมมองดอกเบี้ยระยะยาว อันจะมีผลต่อเส้นทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่สร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินโลกได้ หากเฟดมีการปรับมุมมองของอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอนึ่ง นอกเหนือจากผลการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ ยังต้องจับตาการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ที่อาจจะส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ และคงส่งต่อความผันผวนไปยังเงินสกุลอื่นๆได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สำหรับผลต่อประเทศไทย การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในครั้งนี้ อาจส่งผลให้ประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างประเทศที่อ่อนแอ อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล อาจจะเผชิญกับภาวะการไหลออกของเงินทุนเพิ่มเติมได้ ทำให้เงินทุนบางส่วนไหลกลับสู่ตลาดสหรัฐฯ จากอัตราผลตอบแทนที่น่าดึงดูดมากขึ้น และส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นอาจจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดการไหลออกของเงินทุน ตลอดจนส่งผลให้ระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยทยอยปรับตัวสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับการไหลออกของเงินทุนอย่างฉลับพลันเหมือนกับประเทศดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ตลอดจน การไหลออกของเงินทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดทุนไทย ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินของไทย แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด รวมทั้ง ประเทศในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยบางส่วน แต่ด้วยปัจจัยสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงโดยสภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังมีสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท ยังคงสนับสนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยยังสามารถที่จะคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% อีกระยะ เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image