สารคดีเสียงจากแผ่นดิน season4 EP.3 ตอน : กลุ่มฮักน้ำจาง จ.ลำปาง – ขับเคลื่อนชุมชนสู่วิถีสีเขียวด้วยเกษตรอินทรีย์ (ตอน1)

“การเปลี่ยนวิธีคิดคนเนี่ยยากที่สุด ก็เลยให้ 5 ครัวเรือนนี้ ทำให้เห็นว่าฉันสามารถลดรายจ่ายได้ เดินตามเศรษฐกิจพอเพียงแล้วมันดีอย่างไร…แต่เชื่อไหม ความยากไม่ยากวัดต่อจากที่ว่าพอเราเชิญเขามาเนี่ย มีคนนั่งเรือเราตามขบวนเราไปได้เท่าไหร่…วันนี้เราตอบโจทย์ได้เลยว่า ถึงมันจะช้าแต่เราก็มีความสุขจาก 5 ครัวเรือน ตอนนี้เป็น 80 ครัวเรือนแล้วค่ะ…”

เสียงของ รุ่งสุรี ชัยสร ผู้ประสานงานกลุ่มฮักน้ำจาง ลูกหลานบ้านนากว้าว ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ที่มองย้อนกลับไปที่ วิถี ความเป็นอยู่ ของชุมชนบ้านเกิด

Advertisement

“พี่เห็นการทำงานของชุมชน เห็นความต่าง แล้วมองว่าจากที่พี่เล็กๆ พี่เห็นชุมชนมีแต่ความสุข หายใจเต็มปอด พอระบบทุนนิยมที่ไหลเข้ามาในพื้นที่มันเกิดปัญหา ไม่ว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาเยาวชน ปัญหาเรื่องของความยากจน ปัญหาสารเคมีต่างๆ ที่ไหลเข้ามาในพื้นที่ พี่ก็เลยบอกไม่ได้แล้ว มานั่งคุยกับพ่อแล้วก็ญาติพี่น้องว่าเราจะทำอย่างไร เราไม่อาจจะฉุดได้ทั้งหมด แต่เราจะทำอย่างไรให้มันอยู่ตรงนี้ได้ ยังคงวิถีของเรา เราไม่ต้องให้หลายๆ คนที่ต้องตัดขาดจากชุมชน ออกไปรับใช้แรงงานในระบบ”

การเปลี่ยนแปลง เริ่มจากครอบครัวและคนในชุมชน

Advertisement

ตอนแรกพี่เริ่มจากครอบครัว เราก็เริ่มชวนมา 5 ครัวเรือนก่อน มานั่งคุยกันว่าเราต้องเดินตามวิถีชุมชนนะ วิถีสีเขียว แล้วก็มองว่า 5 ครัวเรือนที่เริ่มจากตรงนี้มีองค์ความรู้ในเรื่องของเกษตรธรรมชาติดีพอหรือยัง มีพื้นที่พอไหมในการทำการเกษตร บางคนเขาก็มีพื้นที่ของเขาซึ่งเขาทำเดิมอยู่แล้วก็ให้เขาต่อ แต่บางคนที่ไม่มีพื้นที่พี่ก็ต้องมองหาพื้นที่กลางให้ พี่น้องที่ไม่มีที่มารวมกลุ่มกันทำการเกษตรอินทรีย์ พอทำได้ 4-5 ปี เราเห็นว่าวจะหยุดแค่ 5 ครัวเรือนไม่ได้แล้วนะ ชุมชนเราต้องขยาย พี่น้องอื่นที่เขามีปัญหา เราจะให้เขามีอาชีพต่อได้อย่างไร ก็ให้ 5 ครัวเรือนนี้ไปขยายโมเดลต่อ ไปหาสมาชิกเริ่มที่มีแนวคิดแล้วก็พาเขาไปดูงาน ในสิ่งที่ที่นี่ไม่มี พอไปเห็นเขาก็เกิดแรงบันดาลใจจากที่อื่นแล้วมาทำที่นี่”

เปลี่ยนวิธีคิด ต้องใช้เวลา และความเข้าใจ

“การเปลี่ยนวิธีคิดคนเนี่ยยากที่สุด ก็เลยให้ 5 ครัวเรือนนี้ ทำให้เห็นว่าฉันสามารถลดรายจ่ายได้ เดินตามเศรษฐกิจพอเพียงแล้วมันดีอย่างไร…แต่เชื่อไหม ความยากไม่ยากวัดต่อจากที่ว่าพอเราเชิญเขามาเนี่ย มีคนนั่งเรือเราตามขบวนเราไปได้เท่าไหร่…วันนี้เราตอบโจทย์ได้เลยว่า ถึงมันจะช้าแต่เราก็มีความสุขจาก 5 ครัวเรือน ตอนนี้เป็น 80 ครัวเรือนแล้วค่ะ…”

 

ความเห็นที่ต่าง คือ ความงดงามของมนุษย์

“ถ้าเป็นภาษาเหนือมีอยู่คำหนึ่งนะ เอาไก่เปราะเล้าเอาข้าวเปราะหลอง นึกภาพออกไหม คือการเอาไก่หลายเล้ามารวมตัวกันมันเกิดอะไรขึ้น มันต้องจิกต้องตีกันใช่ไหม มันเป็นเรื่องเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก ฉะนั้นสิ่งที่แก้ปัญหาในการที่เอาคนหลายๆ คน ที่หนึ่งคือความเห็นที่ต่างกัน สองคือน้ำเก่ากับน้ำใหม่มันตามกันไม่ทันอยู่แล้ว…หลักของพี่ก็คือคุยกันให้บ่อยขึ้น พี่ก็เลยบอกถ้างั้นอย่างน้อยให้สมาชิกทั้งหมดได้เจอกันเดือนละครั้ง ต้องตั้งกติกากลุ่ม ใครคิดเห็นยังไงมาคุยกัน”

ขับเคลื่อนชุมชน ด้วยเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชพื้นถิ่น กินตามฤดูกาล

“หลักของการทำเกษตรอินทรีย์นะคะ หนึ่งเราต้องเน้นกินผักตามฤดูกาล สองเรายึดเรื่องของพืชพื้นถิ่นที่เราต้องคงไว้ อย่างช่วงนี้ฤดูกาลหน้านี้มีอะไรเราก็เลือกกินเราก็เลือกปลูกตามที่เราเดิมมีอยู่แล้ว เราไม่ต้องเสาะแสวงหาใหม่ แต่พอเวลาผ่านไป ด้วยระบบบริโภคและปากท้องของพี่น้องเนี่ยเป็นเรื่องสำคัญ เขาก็ต้องมีรายได้รายวันในการไปขาย โจทย์คือพี่น้องที่ออกไปขายต้องไปอธิบายให้ผู้บริโภคข้างนอกเข้าใจว่าต้องกินนี่นะ แต่บางทีเขาก็ยังไม่เปิดใจเราก็เลยจำเป็นต้องมีผักตลาด ไม่ว่าผักบุ้งผัก ผักจีนบ้าง ซึ่งเราไม่ได้เอาใจผู้บริโภคทั้งหมดนะ แต่ให้เขาอยู่ได้ เขากับเราจูนกันครึ่งทาง”

ปัญหา อุปสรรค จัดการแก้ไขอย่างไร

“ถ้าพี่ตอบว่าไม่มีปัญหานั่นพี่โกหกแน่ๆ เจอปัญหาอย่างที่บอกคือน้ำเก่ากับน้ำใหม่เจอกันตามกันไม่ทัน คนเดิมเขาจะสั่งสมประสบการณ์ ลองผิดลองถูกเลยรู้ว่าอันนี้ผิดถูกอย่างไร คนมาใหม่เห็นภาพแค่ทำเกษตรอินทรีย์แล้วขายได้ มีรายได้ มีความสุข เขาก็คิดแค่ว่าฉันจะทำยังไงให้ปลูกผักแล้วได้ขาย นี่เป็นโจทย์นึงที่ต้องปรับวิธีคิดของพี่น้องซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก กับอันที่สองก็คือความเห็นที่ต่าง แต่พี่มองว่าความเห็นต่างเป็นความงดงามของมนุษย์นะคะ แต่ว่าบางอย่างต้องใช้เวลา สำหรับเรานี่เข้าใจว่ามันเป็นยังไงที่จะคุยกับเขา แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคุยคือระหว่างสมาชิกกับสมาชิกที่เขาจะไปสื่อกันมันต้องใช้เวลา แล้วก็ในเรื่องของคุณธรรมหลายคนถามพี่ว่าชุมชนนี้มี 200 กว่าคน ทำไมไม่พากันมาทำทั้งหมดถ้ามันดีจริง อย่างที่บอกไงคะ การปรับความคิดคนมันเป็นเรื่องที่ยาก กับการจะให้เขาลดกับสิ่งที่เป็นทุนนิยม ใส่ปุ๋ย ใส่ยา แต่ให้เขาลงมาทำด้วยใจนะ อย่าเอามากนะ อย่าโลภนะอะไรอย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ยาก เราก็เลยใช้วิธีใช้น้ำดีค่อยๆ ขยับเข้าไปค่ะ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มและชุมชนเข้มแข็ง คือ??

“ความรัก ความศรัทธาในอาชีพ อันที่สองการที่มีจุดเหนี่ยวรั้งก็คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้ให้แนวคิดไว้ ได้มอบสิ่งที่งดงามให้พี่น้องได้ยึดเหนี่ยวจิตใจในการทำงานนั่นคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเรารู้จักพอนะคะ เราก็จะไม่มีความโลภในจิตใจ แล้วเราก็จะมีความสุขในสิ่งที่ทำ”

“หลักของการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของปากท้องอย่างเดียว สิ่งแวดล้อมเราก็ต้องดูแลด้วย ไม่ว่าแม่ธรณี แม่โพสพ แม่คงคา เช่นเราใช้พลังงานทางเลือกก็คือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำเข้ามาพักไว้ที่ถัง แล้วก็เอาน้ำหมักใส่เพื่อกรองน้ำแล้วก็นำสู่แปลง”

“รวมกลุ่มกันต้องเข้มแข็ง จับมือกันให้ไม่หลุด มีอะไรเราก็คุยกันให้เข้าใจกัน ก็แบบนั้นน่ะที่กลุ่มจะอยู่ได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image