‘โมดริช’ และเหล่าสิงห์เฒ่า กับภารกิจสานต่อ ‘เทพนิยายตาหมากรุก’

REUTERS/Lee Smith

‘โมดริช’ และเหล่าสิงห์เฒ่า กับภารกิจสานต่อ ‘เทพนิยายตาหมากรุก’

โครเอเชีย สร้างความฮือฮาจากการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ด้วยการกรุยทางสู่รอบชิงชนะเลิศอย่างพลิกความคาดหมาย

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทีมตาหมากรุกเอาชนะอาร์เจนตินาในรอบแรก คว้าแชมป์กลุ่ม ก่อนผ่านรอบ 16 ทีมสุดท้าย และ 8 ทีมสุดท้ายด้วยการดวลจุดโทษชนะเดนมาร์กและรัสเซีย พอมารอบรองชนะเลิศ ต่อเวลาเฉือนอังกฤษ 2-1 และไปพ่ายให้ฝรั่งเศส 2-4 ในรอบชิงชนะเลิศ

โครเอเชียคว้ารองแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 (แฟ้มภาพ AP)

ขณะที่ ลูก้า โมดริช ยอดกองกลางจากรีล มาดริด คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์ไปครอง

มาถึง ฟุตบอลโลก 2022 ไม่มีใครคาดหวังว่า โครเอเชียจะทวนซ้ำ “เทพนิยาย” ที่เกือบจะสมบูรณ์แบบได้อีก

Advertisement

แข้งตาหมากรุกชุดลุยเวิลด์คัพที่กาตาร์มีอายุเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับ 11 จาก 32 ทีม ด้วยอายุเฉลี่ย 27.4 ปี แม้จะน้อยกว่าทีมใหญ่อย่างอาร์เจนตินา (27.9 ปี), บราซิล (27.9 ปี), เบลเยียม (27.8 ปี) หรือแม้แต่คู่แข่งในรอบ 16 ทีมสุดท้ายอย่างญี่ปุ่น (27.8 ปี) แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ บรรดาตัวหลักที่ลงสนามเป็นตัวจริงของโครเอเชียนั้นอายุอานามไม่น้อยกันแล้ว

โมดริชกัปตันทีมเวลานี้อายุ 37 ปี ขณะที่นักเตะอายุเกิน 30 ปีคนอื่นๆ มีทั้ง อิวาน เปริซิช (33 ปี), โดมากอย วิด้า (33 ปี), เดยัน ลอฟเรน (33 ปี), อันเดร ครามาริช (31 ปี), อันเต บูดิเมียร์ (31 ปี)

รายของโมดริช ลงสนามรอบแรกทุกนัด จนมารอบ 16 ทีมสุดท้าย ก็ลงเล่นครบ 90 นาที ก่อนที่จะโดนเปลี่ยนตัวออกช่วงกลางๆ ของการต่อเวลาพิเศษ

Advertisement

นักเตะ “สิงห์เฒ่า” หรือตัวเก๋าๆ ของโครแอตแต่ละคนทยอยโดนเปลี่ยนตัวออกจากสนามทั้งที่หลายคนคิดว่า ถ้าเกมกับญี่ปุ่นยืดเยื้อจนถึงการดวลจุดโทษ ต้องเป็นบรรดาแข้งประสบการณ์สูงเหล่านี้ที่รับหน้าที่ยิงประตู

แต่เพราะสภาพร่างกายอ่อนล้าจากการตรากตรำลงสนามมาตั้งแต่รอบแรก จนถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ โดยเฉพาะแข้งอายุมากๆ ทำให้กุนซือ ซลัตโก้ ดาลิช ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งคนที่สดใหม่กว่าลงเล่น

เมื่อกล้องจับภาพข้างสนามในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนหมดเวลา จึงมีภาพสะเทือนอารมณ์ที่โมดริช เปริซิช และ มาเตโอ โควาซิช บรรดาตัวหลักของทีม ร้องไห้ในอ้อมกอดของสต๊าฟโค้ชเพราะเสียใจที่ไม่สามารถอยู่ช่วยทีมจนจบเกมได้ ถึงแม้ว่าใจจะยังอยากไปต่อก็ตาม

เมื่อจบเกมลงเอยด้วยชัยชนะในการดวลจุดโทษ ภาพที่โมดริชเข้าไปลูบหัวและจูบหน้าผาก โดมินิก ลิวาโควิช นายทวารโครแอตที่เป็นฮีโร่เซฟ 3 จุดโทษให้ทีม จึงมีพลังและน่าประทับใจอย่างมาก

REUTERS/Dylan Martinez

ถ้าฟุตบอลโลก 2018 เป็นเทพนิยายตาหมากรุกที่โมดริชทำหน้าที่ “เดอะ แบก” หลักๆ ของทีม มาฟุตบอลโลกหนนี้ สตอรี่ของทีมรองแชมป์เก่าก็แตกต่างออกไปแล้ว

โครเอเชียผ่านรอบแรกมาอย่างทุลักทุเล เริ่มจากการเสมอโมร็อกโก 0-0, ชนะแคนาดา 4-1 ปิดท้ายด้วยการเสมอเบลเยียม 0-0 ถึงจะไม่ชนะใคร แต่ก็เสมอแบบไร้สกอร์ 2 นัด

มารอบ 16 ทีมสุดท้าย ช่วงครึ่งแรก โครเอเชียมีปัญหาในการรับมือความเร็วในการบุกของแข้งซามูไรอย่างเห็นได้ชัด ดีว่ามาได้ประตูตีเสมอเร็วช่วงต้นครึ่งหลัง และหลังจากนั้นก็อาศัยความเก๋าเกมเอาตัวรอดมาได้

อย่างไรก็ตาม เทียบกับญี่ปุ่นแล้ว บราซิล คู่แข่งในรอบต่อไปของโครแอตถือว่าหนักหนาสาหัสกว่ามาก
แข้งแซมบ้ามีทั้งความเร็ว เทคนิค ความสามารถเฉพาะตัว และการประสานงานกันอย่างเข้าขา แถมในรอบ 16 ทีม แข้งแซมบ้ายังเอาชนะเกาหลีใต้มาสบายๆ 4-1 แบบที่ตัวหลักได้พักในช่วงท้ายเกม เรื่องความสดใหม่ย่อมเหนือกว่า

REUTERS/John Sibley

ก่อนถึงเกมชี้ชะตาวันที่ 9 ธันวาคม เชื่อว่าทั้งนักวิจารณ์ สื่อ และแฟนบอล น่าจะเทใจไปทางบราซิลเกือบหมด แม้แต่ฝั่งโครเอเชียก็คงยอมรับว่าตัวเองเป็นรองหลายขุม

พวกเขามีเวลา 4 วันในการฟื้นฟูร่างกายก่อนลงเตะกับแซมบ้า เรื่องพลกำลังและความเร็วโดยรวมอาจจะเป็นรอง แต่เรื่องความเก๋าเกมถือว่าไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่า

ถ้ายื้อไปจนถึงฎีกาได้อีกครั้ง ทีมตาหมากรุกก็มีสถิติสวยหรู ดวลจุดโทษในบอลโลก 3 ครั้งหลัง ชนะมาตลอด

ถึงเวลานั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่มีใครรู้!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image