‘กสทช.’ แจง เงินลงขันยิงสดบอลโลก ‘สำนักงาน’ ควักเอง ไม่แตะส่วน ‘โอเปอเรเตอร์’

FIFA World Cup Qatar 2022

‘กสทช.’ แจง เงินลงขันยิงสดบอลโลก ‘สำนักงาน’ ควักเอง ไม่แตะส่วน ‘โอเปอเรเตอร์’ เชิญ กกท. แจงดีลเอกชนแล้ว แต่ยังไม่ว่าง

กลายเป็นประเด็นดราม่า หลังการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นัดเปิดสนาม โดยประเดิมด้วยคู่ระหว่าง กาตาร์ เจ้าภาพ พบเอกวาดอร์ แต่ผู้ชมชาวไทยกลับพบปัญหา ไม่สามารถรับชมได้อย่างทั่วถึง บางมีปัญหาจอดำ รวมถึงการเชื่อมต่อขัดข้อง เป็นต้น

กระทั่ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือ เรื่อง การแจ้งสิทธิการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ระบุว่า

กลุ่มทรู แจ้งให้ทราบถึงสิทธิการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ของกลุ่มทรู และขอให้ดำเนินการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) โดยไม่ละเมิดสิทธิของกลุ่มทรู เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันบนระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Transmission)

จะมีการนำไปเผยแพร่ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 ได้เฉพาะบนระบบดาวเทียม (Satellite Transmission) และระบบเคเบิล (Cable Transmission) เท่านั้น ไม่รวมถึงบนระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission) ระบบอินเตอร์เน็ต (Internet Transmission) ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) และระบบ OTT

Advertisement

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (21 พ.ย.) สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เข้ายื่นหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอให้มีการพิจารณาจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 แก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทั้ง 64 คู่ตลอดการแข่งขัน

โดยมองว่า เงินจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ที่สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาท แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์

Advertisement

ขณะที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า

เงินจากกองทุน กทปส. ที่ใช้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ครั้งนี้ มาจากบัญชีที่ 1 ของกองทุน ที่สำนักงาน กสทช.มีการจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนเข้ากองทุนทุกปี เพื่อนำไปใช้ในทุกวัตถุประสงค์ โดยส่วนนี้มีอยู่ 2,600 ล้านบาท และเมื่อหักลบกับมูลค่าที่สนับสนุนดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ คงเหลือ 2,000 ล้านบาท และบัญชีที่ 2 เป็นส่วนของผู้ประกอบการ ที่แบ่งรายได้เข้ามาปีละ 150 ล้านบาท ขณะนี้ คงเหลือ 900 ล้านบาท ไม่ได้มีการนำไปใช้

“ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอาจเข้าใจผิดว่า กสทช.นำเงินส่วนของผู้ประกอบการมาสนับสนุน จึงได้เข้ายื่นหนังสือ เพื่อขอให้พิจารณาจัดสรรการถ่ายทอดสดแก่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว ซึ่งยืนยันว่า เป็นคนละส่วนกัน อย่างไรก็ตาม กสทช.ได้ประสานไปยัง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศ (กกท.) เพื่อขอให้เข้าชี้แจงแล้ว เพราะ กสทช.ไม่ทราบรายละเอียดว่า กกท.มีข้อตกลงอย่างไรกับภาคเอกชน เพียงแต่ให้เงินสนับสนุนเท่านั้น แต่ กกท.ยังไม่สะดวก ดังนั้น จึงยังไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระที่ประชุม กสทช. และมองว่าแม้ยังไม่ได้ข้อสรุปก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะจัดสรรการถ่ายทอดสดตลอดการแข่งขันแล้ว และก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการ กกท.ระบุว่า สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา” นายไตรรัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image