ผบช.น.เรียกถกรัฐ-เอกชน ส่งตำรวจปูพรม 11 สะพานทั่วกรุงเทพฯ พ่นน้ำจับฝุ่น

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามโครงการ ตำรวจนครบาลพ่นน้ำจับฝุ่น อุ่นใจประชาชน บนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 12 แห่ง โดยมี พล.ต.ต.ชัยพร พานิชอัตรา รอง ผบช.น. รองผบก.น. 1 – 9 , กต.ตร.อนุ กต.ตร. บก.น. 1 – 9 ผอ.เขต ผกก.สน.ที่มีสะพาน แขวงการทางที่คุมสะพาน กรมเจ้าท่า การประปานครหลวง กรมทางหลวงชนบท และภาคประชาชน มูลนิธิ กู้ภัย และอาสาสมัครต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เราได้รับความร่วมมือกับภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการประปา กรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมหาแนวทางที่เราจะช่วยเหลือให้ฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เบาบางลงไปในเขตของพื้นที่กรุงเทพมหานครในพื้นที่สะพานข้ามแม่น้ำทั้ง 11 สะพาน ในพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีการใช้ละอองน้ำที่สามารถลดฝุ่นละอองได้ในพื้นที่นครบาล ขณะนี้ได้มีการเริ่มต้นบ้างแล้วบางสะพานซึ่งจากที่ได้รับแจ้งว่าสามารถลดปริมาณฝุ่นได้ประมาณร้อยละ 20 หากใช้ละอองน้ำเป็นฝอย

พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ให้ความห่วงใยกรณีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันทางบช.น. ได้มีการใช้รถน้ำของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงออกไปตามพื้นที่ 88 สน. ในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม กรณีดังการฉีดพ่นละอองน้ำทั้ง 11 สะพานดังกล่าวกล่าวไม่มีผลกระทบกับยานพาหนะหรือการจราจรแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นละอองฝอยเล็กๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าสปริงเกอร์ฉีดน้ำ ที่จะลอยไปในอากาศ โดยขณะนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดการดำเนินการแต่อย่างใด แต่อาจจะมีการทดลองทำไปเรื่อยๆ โดยการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวได้รับจากภาคเอกชนช่วยกันบริจาค ยกตัวอย่างสายยางที่ใช้มีโรงงานนำมาให้ โดยมีทุกหน่วยงานให้การร่วมมือช่วยกัน

ด้านพล.ต.ต.ชัยพร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมามีการทดสอบปรากฏว่าการฉีดพ่นละอองน้ำหัวจ่ายเป็นฝอยละเอียดลอยไปกับลมได้ดีสามารถจับฝุ่นละอองได้ค่อนข้างมาก ส่วนของปั๊มน้ำที่ดูดน้ำไปใช้ระยะทางดูดน้ำลดลงจาก 100 เมตร เหลือเพียง 50 เมตร แต่วันนี้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการการทดสอบติดตั้งปั๊มหัวจ่าย จากการทดสอบการติดตั้งปั๊มหัวจ่ายใช้ระยะทางประมาณ 60 เมตร ติดตั้ง 10 จุด แบ่งหัวจ่ายน้ำออกเป็น 3 ช่องเพื่อพ่นละอองน้ำไปในอากาศถือว่ามีประสิทธิภาพในการทำได้อย่างดี

Advertisement

“โดยจะติดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 11 สะพาน ได้แก่ สะพานพระราม 6 สะพานกรุงธน สะพานพระราม 3 สะพานพระราม 8 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน สะพานพระราม 3 สะพานกรุงเทพ สะพานพระราม 9 สะพานภูมิพล 1 โดยมีเครือข่ายภาคีมาร่วมอย่างการประปาเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนช่วงเวลาอาจจะมีการหารือร่วมกันในช่วงการฉีดพ้นละอองน้ำจะเปิดตามเวลาช่วงเช้า กลางวันอาจจะทดลองใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เย็น และกลางคืนจะไม่ค่อยมีรถสามารถเปิดได้ง่ายทั้งนี้ จะใช้เวลาติดตั้งภายในสัปดาห์นี้ก็สามารถใช้การได้ต่อไป” รองผบช.น. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image