ม.49 ทวิ …แท้งแล้วจ้า คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน

บางคนถึงกับรำพึง ม.49 ทวิ กฎหมายบ้าบอคอแตกอะไรอีกฟะ

อย่าเพิ่งงงค่ะ ม.49 ทวิ คือภาษีซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดในโลกของบุคคลธรรมดาตามนิยามกฎหมายไทย

ที่มาของหัวข้อชวนคุยวันนี้ ทางโฆษกกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เพิ่งให้สัมภาษณ์กระจิบข่าวอย่างเศร้าๆ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า แผนปิดประตูตีแมว เอ้ย ไม่ใช่สิ แผนนโยบายปรับปรุงกฎหมายสรรพากร ที่มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ปู๊น

ใช้เวลา 2 ปีเศษ ความคืบหน้ายังอยู่ที่หน่วยงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แปลว่าไม่ทันผลักดันและบังคับใช้ให้ทันรัฐบาล คสช. แล้วล่ะ

Advertisement

แปลเป็นภาษาชาวบ้านอีกทีคือแท้งเรียบร้อยแล้วในรัฐบาลชุดปัจจุบัน จดเป็นบันทึกช่วยจำ เหตุเกิด ณ ต้นเดือนมีนาคม 2562

พลิกประวัติอีกสักรอบ กฎหมายเก็บภาษีชื่อยาวๆ เรื่อง “การกำหนดฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร” มีช่องโหว่อยู่นิดนึง

ซึ่ง ม.49 ทวิ ความสำคัญมาตรานี้บัญญัติเกี่ยวกับ “การเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา” และเพ่งเล็งไปที่ “ภาษีที่เกิดจากการโอนทรัพย์สินหรือที่ดิน”

Advertisement

ช่องโหว่ของกฎหมายเดิมคือ ระบุแนวทางปฏิบัติให้กรมสรรพากรคำนวณเงินได้เพื่อเรียกเก็บภาษีการโอนทรัพย์สิน โดยฐานการคำนวณให้ใช้ราคาประเมิน (ของทางราชการ) เพียงอย่างเดียว

ในขณะที่ข้อเท็จจริง การซื้อขายที่ดิน การซื้อขายทรัพย์สิน นอกจากราคาประเมินของทางราชการแล้ว ยังมีราคาซื้อขายจริงอีกด้วย

แต่กฎหมายสรรพากรไปล็อกตัวเองว่าถึงแม้จะสืบทราบหรือรู้ระแคะระคายว่ามี 2 ราคา แต่กฎหมายให้อำนาจเรียกเก็บภาษีโดยใช้ราคาประเมินราชการเป็นตัวตั้ง

ก็แหม เนาะ ราคาประเมินของทางราชการ คนเขารู้กันทั้งประเทศว่าต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง บางแปลงทำเลสวยจัดๆ ราคาแพงจัดๆ มีแก๊ป-gap หรือความแตกต่างของราคาตั้งแต่ 1-8 เท่า

เจ้าของที่ดินบางคนอาจเฉไฉบอกว่าพวกบริษัทอสังหาริมทรัพย์ พวกเจ้าของโรงแรม เจ้าของห้างสรรพสินค้ารวยจะตาย ก็ตามไปบี้พวกโน้นสิ มายุ่งทำไมกับบุคคลธรรมดา

เรื่องอย่างนี้ฟังความข้างเดียวไม่ได้ ตามไปถามกระทรวงการคลัง คำตอบคือผู้ประกอบการเขาทำธุรกิจโดยจัดตั้งเป็น “นิติบุคคล” แปลว่าอยู่ในคอกของกฎหมาย มีการแจ้งราคาซื้อขายตามความเป็นจริงและเสียภาษีตามราคาที่แจ้ง (ถ้าตรวจสอบเจอว่าแจ้งเท็จ เขาก็มีกลไกโซ้ยกันเอง ไม่ต้องห่วง กลับมาห่วงตัวเองดีกว่า)

ช่องโหว่กฎหมายมาสะดุดที่การแจ้งราคาของ “บุคคลธรรมดา” นี่เอง 

ในตอนที่มีมติ ครม.เมื่อปี 2559 ราคาที่ดินแพงสุดยังไม่ใช่ตารางวาละ 3.1 ล้านบาทด้วยซ้ำไป เพราะดีลซื้อขายแพงสุดเพิ่งประกาศช่วงปลายปี 2560

และตอนที่มีการขอแก้ไขกฎหมาย ม.49 ทวิ กระทรวงการคลังตั้งท่าทะมัดทะแมงว่าจะเร่งรัดผลักดันให้มีผลบังคับใช้เลยตั้งแต่ครึ่งปีแรก 2560 ที่ไหนได้ เงียบหายไปเฉยๆ จนมาบอกว่าแป้กไปแล้ว

แสดงว่าขั้นตอนการพิจารณามีการหลงทาง ครั้งแรกไม่พอ หลงทางครั้งที่ 2, 3, 4… จนทำให้ 10 ปีมานี้หลงทางมาตลอด ไปสร้างปมเก่าปมใหม่ ไม่อยากเสียทางไหน ไปสร้างโลกขึ้นมา 2 ใบ

…อุ๊บ ขอเวลานอกแป๊บ พล็อตเรื่องน่าจะคนละเรื่องแล้ว เพราะ ม.49 ทวิเขาหลงทางแค่ 2 ปี ไม่ใช่ 10 ปี (หลงทาง 2 ปี #ม.49 ทวิ หลงทาง 10 ปี #ป๊อบปองกูล-ฮา)

เข้าเรื่องแบบสาระเน้นๆ เนื้อหาล้วนๆ กันดีกว่า การพิจารณาแก้ไข 2 ปีที่ผ่านมาน่าจะมีการหลงทางในทางเทคนิค กล่าวคือ กรมสรรพากรขอปรับปรุงกฎหมาย โดยเพิ่มคำว่า การคำนวณภาษีให้ใช้ราคาใดราคาหนึ่งที่สูงกว่ากัน ระหว่างราคาประเมินกับราคาซื้อขายจริง

เช่น นิติบุคคลซื้อขายที่ดิน 100 ล้าน หลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องแจ้งตามความเป็นจริงที่ 100 ล้าน เสียภาษีบนฐานราคา 100 ล้าน

แต่ที่ดินแปลงเดียวกัน บุคคลธรรมดา สมมุติชื่อ “น้องฟ้ารักพ่อ” ซื้อขายที่ดิน 100 ล้าน แต่ราคาประเมิน 70 ล้าน น้องฟ้ารักพ่อคนดังกล่าว รักความยุติธรรม รักประชาธิปไตย ก็เลยแจ้งเสียภาษี 70 ล้าน

เห็นไหมว่าคนรุ่นใหม่เลือกจ่ายภาษีแบบเข้าตามตรอกออกตามประตู เพราะกฎหมายสรรพากรดันไปล็อกตัวเองไว้ว่าเก็บภาษีจากราคาประเมินเท่านั้น

คำถามคือการแก้ไขกฎหมายไปหลงทางตอนไหนกันนะ อืมม์ คงต้องบ่องตรงว่าเกิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้คือกรมที่ดิน ทักท้วงมาคำเดียวพากันหลงทางทั้งโขยง

กล่าวคือ กรมที่ดินทักท้วงในทางปฏิบัติ กลัวปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง 1.กลัวมีการแจ้งเท็จ (ผู้ซื้อ+ผู้ขายสมรู้ร่วมคิดแล้วแจ้งราคาเท็จหรือแจ้งราคาต่ำ) แล้วเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ทุจริต 2.กลัวการแจ้งเท็จ จนต้องตั้งกรรมการสอบ ถ้าเจอจะทำให้เจ้าหน้าที่หมองไปด้วย

งานนี้ไม่รู้ว่าเจ๊ากันหรือเปล่า เพราะรัฐบาล คสช. เพิ่งประสบความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผล 1 มกราคม 2563 ทั้งๆ ที่กฎหมายตัวนี้ทำใจกันแล้วว่าน่าจะแท้ง

ส่วน ม.49 ทวิ ที่กระทรวงการคลังระริกระรี้อยากเพิ่มรายได้จัดเก็บจากการโอนที่ดินของบุคคลธรรมดา กลายเป็นพลิกโผซะงั้น

สรุปบรรทัดสุดท้าย แม้ ม.49 ทวิ จากกฎหมายเต็งหนึ่งกลายเป็นกฎหมายเต็งโหล่ ผลประโยชน์ตกอยู่กับเจ้าของที่ดินบุคคลธรรมดา-นายหน้าตัวแทน-บ้านมือสอง ถือว่าได้ต่อลมหายใจอีกเฮือก

ไม่อยากเสียภาษีตามจริงคงต้องใช้เวลาว่าง (กฎหมายแป้กชั่วคราว) ให้เป็นประโยชน์ เพราะรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งคงต้องหยิบมาพิจารณาใหม่อยู่ดี

ไม่อธิบายมากไปกว่านี้แล้วนะ เจ็บคอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image