ปิดฉาก’คลิตี้’ คดีประวัติศาสตร์ ชัยชนะของชุมชน

ปิดฉากลงแล้ว สำหรับคดียืดเยื้อยาวนานถึง 13 ปีที่ชาวบ้านคลิตี้เรียกร้องความเป็นธรรม กรณีได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ส่งผลให้มีสารตะกั่วปนเปื้อนมาในแหล่งน้ำ โดยเกิดผลกระทบกับชาวบ้านอย่างรุนแรง

ภายหลังจากศาลฎีกาตัดสินให้ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ นายคงศักดิ์ กลีบบัว ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านคลิตี้ เป็นเงิน 20,200,000 บาท พร้อมกับฟื้นฟูลำห้วยให้กลับมาใสสะอาดและใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม

คดีนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ เป็นมหากาพย์ของคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของประเทศไทย มีการต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมชั้นศาลมายาวนาน โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ค.59 ชาวบ้านคลิตี้ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยความหวัง พร้อมทั้งนำรูปภาพของชาวบ้านที่เสียชีวิตจากสารตะกั่วจำนวน 4 คน และนำน้ำในลำห้วยคลิตี้บรรจุในขวดใส รวมทั้งป้ายผ้าเขียนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงปัญหาและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากพิษของสารตะกั่วมาบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้ด้วย

หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ทั้งหมดก็ก้าวออกมาจากศาลด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มและแววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ผิดกับทุกครั้งที่ผ่านมา

Advertisement

ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน ชาวบ้านต้องเผชิญกับการปนเปื้อนสารตะกั่วทั้งภายในร่างกายและลำห้วย จึงต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม เยียวยาความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ถูกแก้ไขให้เสร็จสิ้นหมดไปเสียที

แม้ชาวบ้านจะหวังเพียงให้สายน้ำกลับมาเป็นเหมือนเดิม ใช้ดื่ม ใช้กิน ใช้ปลูกผัก และจับปลามากินได้เท่านั้น

ต้นตอของมหากาพย์เรื่องนี้เริ่มจากเหตุการณ์โรงแต่งแร่ตะกั่วริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรปล่อยน้ำหางแร่ จนก่อให้เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ตลอดสาย ส่งผลกระทบชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านคลิตี้ล่างเจ็บป่วยล้มตาย จนเป็นข่าวใหญ่ในปี 2541

ผ่านไปหลายปี การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ยังไม่เริ่ม ปริมาณตะกั่วในเลือดของชาวคลิตี้ล่างยังไม่ลดลง และมีคนทยอยเจ็บป่วยล้มตายเป็นระยะ

Advertisement

ชาวบ้านมีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดสูง และปรากฏสภาพอาการเจ็บป่วยคล้ายคลึงกัน เช่น มีอาการถ่ายท้อง ปวดท้อง ปวดหัว ปวดกระดูก เจ็บตามข้อ ชาตามร่างกาย บวมตามแขนขา มือเท้าไม่ค่อยมีแรง ผู้หญิงหลายคนแท้งลูก เด็กเกิดใหม่มีสุขภาพไม่แข็งแรง บางรายมีความผิดปกติทางด้านร่างกาย มีพัฒนาการทางสมองช้า และบางรายเสียชีวิต

ในปี 2542 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กรมอนามัย ได้เข้าไปตรวจเลือดชาวบ้านคลิตี้ล่างเพื่อหาระดับสารตะกั่วในเลือด พบว่าชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง เด็กอายุ 0-6 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 23.56 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เด็กอายุ 7-15 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 28.30 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 26.31 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่การสำรวจระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปเมื่อปี 2538-2539 โดยกองอาชีวอนามัย พบว่า มีค่า 4.29 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรเท่านั้น

กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสภาพแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้ พบว่า ตะกอนธารน้ำมีตะกั่วจากกิจกรรมเหมืองแร่ปนเปื้อนจำนวนมาก สัตว์น้ำจำพวกปลา กุ้ง หอย มีตะกั่วปนเปื้อนในเนื้อเกินค่ามาตรฐานมาก

เป็นเหตุให้ในปี 2546 ชาวบ้านคลิตี้ โดย นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา และชาวบ้านคลิตี้ รวม 8 คน เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 และ ปิดฉาก’คลิตี้’ คดีประวัติศาสตร์ ชัยชนะของชุมชนให้โจทก์ทั้ง 8 ราย จำนวน 4,260,000 บาท ทั้งสองฝ่ายยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาให้จำเลยชดใช้เพิ่มขึ้นเป็น 29,551,00 บาท ก่อนจะมีการยื่นฎีกาและมีคำพิพากษาออกมา ถือเป็นการปิดฉากคดีที่มีการต่อสู้กันในชั้นศาลมายาวนาน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า “ศาลเห็นว่า การเจ็บป่วยของชาวบ้านทั้งหมดมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสารตะกั่วมายืนยันว่าเกิดจากการกระทำของผู้ก่อให้เกิดมลพิษคือ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 และนายคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ผู้ควบคุมสารตะกั่ว และศาลยังเห็นว่าจำเลยมีเจตนาปล่อยสารตะกั่วลงในลำห้วยคลิตี้ นอกจากจำเลยจะต้องฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาใช้ได้ดังเดิมแล้ว จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านทั้ง 8 ราย ทั้งค่าไม่สามารถใช้ชีวิตได้ ค่าเจ็บป่วย รวมทั้งค่ารักษาในอนาคตด้วย เป็นเงินจำนวน 20,200,000 บาท”

แต่เนื่องจาก บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 มีสภาพล้มละลาย ส่วนนายคงศักดิ์ กลีบบัว จำเลยที่ 2 เสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็มีนางสุลัดดา กลีบบัว รับมรดกความแทน จากนี้ไปก็จะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีกับทางฝ่ายคู่กรณี ในการสืบหาทรัพย์และมาชดใช้ให้กับชาวบ้านและฟื้นฟูลำห้วยต่อไป

แม้ในวันนี้ชาวบ้านจะยังไม่ได้รับเงินชดเชย แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ชาวบ้านคลิตี้เริ่มมีหวังจะได้รับความเป็นธรรมในสิ่งที่พวกเค้าต้องสูญเสียไป ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีแรกที่มีการบังคับตาม พ.ร.บ.ฯ อันเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคดีอื่นๆ ของประเทศไทยที่รอการพิจารณาในอนาคตต่อไป

ผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี หลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 โดยให้กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ภายใน 90 วัน พร้อมทั้งตรวจและวิเคราะห์ ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าสารตะกั่วในตัวอย่างนั้นไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี

แต่ปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มดำเนินการฟื้นฟูแก้ไขน้ำและพื้นที่ในลำห้วยแต่อย่างใด ขณะนี้ลำห้วยคลิตี้ยังคงมีการปนเปื้อนของสารตะกั่วกว่า 10,000 ตัน มีค่าการปนเปื้อนตะกอนดินในธารน้ำเกินค่ามาตรฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านคลิตี้ยังคงได้รับมลพิษในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงสัตว์น้ำในลำห้วยด้วย

การฟื้นฟูลำห้วยจะต้องมีการขุดลอกหรือดูดตะกอนตะกั่วในธารน้ำออกทั้งหมด ตั้งแต่โรงแต่งแร่คลิตี้ไปจนถึงหมู่บ้านคลิตี้ล่าง เป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร และนำไปกำจัดภายนอกพื้นที่เช่นเดียวกับกากของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงฝังกลบไว้ในพื้นที่เหนือโรงแต่งแร่คลิตี้ หากเกิดการรั่วไหลก็จะทำให้ตะกอนดังกล่าวไหลกลับลงสู่ลำห้วยคลิตี้และหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จะก่อให้เกิดมหันตภัยร้ายแรงจากพิษตะกั่ววนกลับมาหาชาวบ้านอีกไม่จบสิ้น

จึงอยากให้ทางกรมควบคุมมลพิษและผู้ก่อให้เกิดมลพิษเร่งดำเนินการเข้ามาฟื้นฟู เยียวยาในทันที เบื้องต้น ทางกรมควบคุมมลพิษควรจะหาแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ มาให้ชาวบ้านได้ใช้ในชีวิตประจำวันก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุง ฟื้นฟู ลำห้วย ให้ปลอดภัยจากสารตะกั่ว

“อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคดีค้างอยู่ในชั้นศาลอีก 1 คดี ในคดีนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ พร้อมชาวบ้านคลิตี้ล่างได้รับความเสียหายและสูญเสีย รวม 151 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับกรรมการบริษัทฯ ผู้ก่อมลพิษ รวม 7 คน ในฐานความผิดเดียวกันคือ ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทจ่ายชดใช้ค่าเสียหายรวม 36,050,000 บาท ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำนวนค่าเสียหายให้บริษัทจ่ายตามศาลชั้นต้น ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฉะนั้นคดีนี้ก็น่าจะทำให้ชาวบ้านได้มีความหวังว่าจะความเป็นธรรมในการเยียวยา เฉกเช่นเดียวกันกับคดีที่ศาลฎีกาเพิ่งตัดสินเสร็จสิ้นไป” นายสุรพงษ์กล่าว

คดีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมสามารถเรียกให้ผู้ก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และเยียวยาความทุกข์ของชาวบ้านที่ต้องทนแบกรับมานานได้

แต่ถึงแม้กระบวนการยุติธรรมจะถือว่าสิ้นสุดลงและปิดฉากลงแล้วก็ตาม แต่การเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย การดูแลรักษาชาวบ้านจากโรคพิษตะกั่ว รวมทั้งการฟื้นฟูลำห้วยจะเป็นอย่างไร และจะจบลงเมื่อไร เป็นเรื่องราวที่ยังคงต้องเฝ้ารอคอยและติดตามกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image