เที่ยวไทยปิ๋วเม็ดเงินต่างชาติ ชู “3แพคเกจ” กระตุ้นในประเทศ เอกชนวอนกติกาตรงเป้า

ปี2562 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาเที่ยวในประเทศ 39.79 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 1.93 ล้านล้านบาท ต้นปี 2563 จึงตั้งเป้าตัวเลขไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเป้าหมายการดึงดูดตลาดต่างชาติเข้ามาอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างเม็ดเงินใช้จ่ายให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย

แต่ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างผิดแผน ไทยต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 100% ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยเองไม่มีการเคลื่อนไหวเช่นกันเพราะต้องพยายามอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล

5 เดือนแรกต่างชาติหาย รายได้หด

สถานการณ์ท่องเที่ยวที่กลับตาลปัตร มุมมองจาก พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ประเทศไทยไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยแม้แต่คนเดียว หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคม ส่งผลให้สถานการณ์การท่องเที่ยว 5 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 6.69 ล้านคน ลดลง 59.97% หรือลดลง 10.02 ล้านคน จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน รายได้รวมจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 59.57% หรือลดลง 4.89 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

Advertisement

ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือนเดียวกัน แทบไม่เคลื่อนไหว ไม่มีการเดินทางระหว่างกัน ส่งผลให้ตลอด 5 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม) จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย มีจำนวน 40.15 ล้านคน ลดลง 58.19% หรือลดลง 55.88 ล้านคน จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน ส่งผลให้รายได้ของนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยมีประมาณ 1.91 แสนล้านบาท ลดลง 57.86% หรือลดลง 2.63 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ปี ’63 คาดสูญรายได้ 1.78 ล้านล้านบาท

สำหรับปี 2563 คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวรวมจะเป็น 1.23 ล้านล้านบาท ลดลง 60% หรือลดลง 1.78 ล้านล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 3.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 เพียง 2.37% แบ่งเป็นสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างประเทศ มีเข้ามาจำนวน 39.79 ล้านคน รายได้ 1.93 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย มีจำนวน 166.84 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 1.08 ล้านล้านบาท

Advertisement

หลังจากตลาดต่างชาติหายไป 100% ภาครัฐและเอกชนจึงเห็นตรงกันว่าภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2563 ไม่น่าจะหวังพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แล้ว การหันมากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ควรเร่งดำเนินการมากที่สุด ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดูดีขึ้น หลังจากมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่เฟส 1 ต่อเนื่องจนถึงเฟส 4 รวมถึงยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวแล้ว แต่ไทยก็ไร้ผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นเวลา 27 วัน ใกล้มาตรฐานที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ตั้งไว้ว่าต้องการให้ปลอดเชื้อติดต่อกัน 28 วัน เนื่องจากเป็นระดับที่นักวิชาการเชื่อว่า โอกาสในการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 จะน้อยลง

ดังนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงหมายมั่นปั้นมือให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศออกมา เพื่อเร่งปั๊มเงินในประเทศให้สะพัดได้มากและเร็วที่สุด โดยเน้นที่การดึงดูดใจให้ประชาชนออกเดินทาง และใช้จ่ายในระหว่างการเดินทางให้มากที่สุด ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

คลอด 3 แพคเกจกระตุ้นเที่ยวในปท.

ขณะนี้ มีความชัดเจนในรูปแบบแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้ง 3 รูปแบบแล้ว ได้แก่ 1.แพคเกจกำลังใจ รัฐบาลจะสนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1.2 ล้าน ให้เดินทางโดยการใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งรัฐจะสนับสนุนงบประมาณเดินทางไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน สำหรับการเดินทางที่ไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน

2.แพคเกจเที่ยวปันสุข รัฐบาลสนับสนุนการเดินทางของประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 คน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ สายการบินในประเทศไทย รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และรถเช่าในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท

และ 3.แพคเกจเราไปเที่ยวกัน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย จำนวน 5,000,000 คืน ในอัตรา 40% ของค่าห้องพักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่ง ททท.จะแจ้งรายชื่อแก่ธนาคารกรุงไทย จำนวน 600 บาทต่อห้องต่อคืน และจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองที่พัก

เปิดรายละเอียดการใช้สิทธิแพคเกจ

การใช้สิทธิในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ภายใต้แพคเกจ “เราไปเที่ยวกัน” ที่รัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าที่พักโรงแรม โฮมสเตย์ ในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน โดยนักท่องเที่ยวที่ต้องการใช้สิทธิจะต้องลงทะเบียนรับสิทธิผ่านแพลตฟอร์มธนาคารกรุงไทย โดยจองผ่านระบบออนไลน์และต้องจ่ายเงินค่าที่พักเมื่อจองที่พักในทันที 60% ส่วนอีก 40% รัฐบาลจะจ่ายให้กับโรงแรมเอง เมื่อนักท่องเที่ยวเช็กเอาต์จากห้องพักแล้ว

นักท่องเที่ยว 1 คนจะได้รับ 1 สิทธิ สูงสุดไม่เกิน 5 คืน แต่สามารถแยกการเดินทางได้ ไม่จำเป็นต้องไปครั้งเดียว 5 คืน อาทิ ครั้งแรกไป จ.เชียงใหม่ 3 คืน และในภายหลังไป จ.ภูเก็ต อีก 2 คืนก็ได้ แต่ต้องอยู่ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นระยะของโครงการเท่านั้น

ส่วนค่าห้องพักที่รัฐบาลช่วยจ่ายให้ 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน เท่ากับราคาค่าห้องพักสูงสุดจะอยู่ที่ 7,500 บาทต่อห้องต่อคืน ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องจ่ายเองก่อน 4,500 บาทต่อห้องต่อคืน แต่หากนักท่องเที่ยวเลือกพักห้องที่มีราคาแพงกว่า 7,500 บาทขึ้นไป รัฐจะช่วยจ่ายให้สูงสุด 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน ส่วนอีก 7,000 บาทต่อห้องต่อคืน นักท่องเที่ยวต้องจ่ายเอง ซึ่งเชื่อว่าบรรดาผู้ประกอบการโรงแรม จะพร้อมใจกันอัดโปรโมชั่น เพื่อจัดทำห้องพักราคาพิเศษออกมา เพราะรัฐบาลวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ราคาห้องพักจะต้องไม่สูงกว่าราคาที่เสนอขายผ่านเว็บไซต์ของที่พักออนไลน์ (โอทีเอ) ส่วนในกรณีที่นักท่องเที่ยวพักโรงแรมคืนละ 1,000 บาท ก็ต้องจ่ายเอง 600 บาท ส่วนอีก 400 บาทรัฐบาลจ่ายให้

เล็งหาแคมเปญดึงเที่ยวเร็วขึ้น

ขณะที่ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสริมว่า ททท.อยู่ระหว่างหาแคมเปญกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วง 1-2 เดือนแรก หรือภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ คงไม่ปล่อยให้รอเที่ยวในช่วงท้ายๆ ของระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 4 เดือน (กรกฎาคม-ตุลาคม) ไม่อย่างนั้น อาจเกิดภาพคนแห่รอเที่ยวช่วงเดือนตุลาคมนี้กันหมด จึงต้องหาโปรโมชั่นหรือออกแคมเปญสร้างแรงจูงใจในการเริ่มเดินทางเร็วขึ้น รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบการออกเดินทางท่องเที่ยววิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) เพื่อไม่ให้การกลับมาเริ่มต้นเดินทางอีกครั้ง แล้วเกิดการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ได้

ล่าสุด ททท.ได้จัดโครงการ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ เซล 2020 ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-15 กันยายน 2563 เป็นเวลา 2 เดือน ภายใต้แนวคิด Non Stop Shopping ใน 5 พื้นที่คือกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และพัทยา รวมผู้ประกอบการกว่า 10,000 ราย ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่พำนักในไทย พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการช้อปปิ้ง

รวมถึงได้เพิ่มความน่าสนใจ ด้วยการจัดแคมเปญ 8.8 (วันที่ 8 เดือน 8) จัดกิจกรรมร่วมสนุกตอบคำถามออนไลน์แจกบัตรกำนัลของขวัญ จำนวน 4,100 รางวัล รวมมูลค่า 6.6 แสนบาท และแคมเปญ 9.9 (วันที่ 1-9 เดือน 9) จัดกิจกรรมเล่นเกมผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Amazing Thailand Grand Sale 2020 แจกบัตรกำนัลของขวัญจำนวน 20 รางวัล รวมมูลค่า 1 แสนบาท นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้สิทธิลุ้นรับรางวัลหลังเสร็จสิ้นโครงการ อาทิ รถยนต์ แพคเกจท่องเที่ยว อุปกรณ์สื่อสารทันสมัย และอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาทด้วย

ไม่ทิ้งตลาดนทท.ต่างชาติ

ขณะเดียวกัน ททท.ได้จัดเตรียมแผนฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงยุคหลังโควิด-19 หวังเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อทริปที่มาเที่ยวไทย ผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ ไทยแลนด์, เมดิคัล แอนด์ เวลเนส รีสอร์ท ออฟ เดอะ เวิลด์ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางเพื่อการแพทย์และสุขภาพ หลังประเทศไทยสามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และซัพพลายเชนในตลาดนี้มีค่อนข้างมาก และ 2.โครงการ ไทยแลนด์, เวิลด์ ช้อปปิ้ง พาราไดซ์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการค้าปลีกและท่องเที่ยว ตั้งเป้าหมายผลักดันประเทศไทยเป็นสวรรค์ของการช้อปปิ้ง

หลังโควิด-19 ยุติการระบาด โดยหากรัฐบาลอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาได้แล้ว ททท.พร้อมที่จะดำเนินการตามแผนทันที

เน้นให้ 3 แพคเกจกระจายประโยชน์

ด้านสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) อย่าง ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธาน สทท. มองว่า หากมีแพคเกจออกมาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว สามารถช่วยพยุงการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ ปลายทางของการกระตุ้น ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใคร เนื่องจากความจริงแล้ว ภาคเอกชนเรียกร้องให้การจัดทำแพคเกจต้องผ่านผู้ประกอบการทัวร์นำเที่ยว และใช้บริการรถทัวร์นำเที่ยว เนื่องจากมีจำนวนหลายหมื่นคันกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา ทัวร์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดบริการกว่า 6 เดือนแล้ว เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จนเกิดการว่างงานของพนักงานขับรถ และไกด์นำเที่ยว จึงอยากให้แพคเกจท่องเที่ยวที่กำลังจะออกมา เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นหลัก

“รูปแบบแพคเกจที่ออกมาถือว่าดีแล้ว แต่ตัวเนื้อใน ทั้งการปฏิบัติและขั้นตอนการกระจายผลประโยชน์ ยังต้องประเมินอีกว่า สามารถสร้างผลประโยชน์ได้ตรงจุดหรือไม่ เพราะขณะนี้ อยากให้แพคเกจที่ออกมา เป็นส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการขนาดเล็กจริงๆ เนื่องจากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจส่วนมากเป็นเอสเอ็มอี” ชัยรัตน์กล่าว

“ชัยรัตน์” กังวลว่า แพคเกจกระตุ้นท่องเที่ยว จะไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ที่ปกติมีสายป่านยาวอยู่แล้ว แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ไม่ได้รุนแรงเท่าเอสเอ็มอีแน่นอน ปัญหาใหญ่ที่สุดของแพคเกจคือ โรงแรมที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นโรงแรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากภาครัฐ แน่นอนว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าระบบ ทำให้เอสเอ็มอีอาจย่ำแย่ต่อไป เพราะประโยชน์ของแพคเกจเข้าไม่ถึงกลุ่มธุรกิจเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่การเร่งเตรียมความพร้อม เพื่อเปิดต้อนรับต่างชาติ ให้กลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยควบคู่ไปด้วย ถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน เนื่องจากตลาดไทยเที่ยวไทย เน้นเดินทางท่องเที่ยววันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์เท่านั้น ส่วนวันธรรมดา จันทร์ถึงพฤหัสบดี มักไม่เดินทางเพราะเป็นช่วงวันทำงานปกติ ทำให้ไทยเลิกพึ่งพารายได้จากต่างชาติไม่ได้ ขณะที่สัดส่วนการใช้จ่ายของต่างชาติเองมีมากกว่าไทยหลายเท่า อาทิ นักท่องเที่ยวจีนจะใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 50,000 บาทต่อคนต่อทริป ในการเดินทางมาเที่ยวไทย แต่คนไทยใช้ไม่ถึงวันละ 1,000 บาท

หวั่นแพคเกจช่องโหว่เพียบ

ขณะที่ สุรวัช อัครวรมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) แสดงความเห็นว่า 3 แพคเกจที่จะออกมา ได้แก่ กำลังใจ เราไปเที่ยวกัน และเที่ยวปันสุข ใช้งบประมาณที่มาจากเงินกู้รวม 22,400 ล้านบาท ภายใต้โครงการกำลังใจ ที่ได้รับงบประมาณ 2,400 ล้านบาท จะเปิดช่องให้มีการใช้บริการบริษัททัวร์ตัวจริง ขณะที่โครงการเราไปเที่ยวกัน ที่ได้รับงบ 18,000 ล้านบาทจะมีเงินเหลือจำนวนมาก จึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องขออนุมัติงบไปสูงมากขนาดนั้น

แพคเกจกำลังใจ ที่รัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1.2 ล้านคน ให้เดินทางโดยการใช้บริการบริษัทนำเที่ยว ซึ่งรัฐจะสนับสนุนงบประมาณเดินทางไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทางที่ไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน วงเงิน 2,400 ล้านบาทนั้น ต้องเข้าใจว่าไม่มีเอเยนต์ทัวร์หรือบริษัทนำเที่ยวรายใดที่รู้จักกับ อสม. จึงต้องมีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่รับดำเนินการอย่างแน่นอน

ดังนั้นมีโอกาสที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเปิดบริษัททัวร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อมารับนำเที่ยวคนกลุ่มนี้ จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดโควต้าไปให้ชัดเลยได้หรือไม่ว่า ให้บริษัททัวร์ที่มีอยู่แล้วตอนนี้ที่รัฐไปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะได้ประโยชน์ 13,000 บริษัทนั้น ขอให้กำหนดโควต้านำเที่ยวให้ไปเลย บริษัทละ 4-5 ล้านบาท เพื่อให้บริษัททัวร์ที่กำลังลำบากกลับมามีลูกค้าจริงๆ

“กรณีกำหนดราคาเดินทางไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทางที่ไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน รวมค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าที่พัก จริงๆ อยากให้เพิ่มเป็นคนละ 2,500 บาท เพราะราคาคนละ 2,000 บาท บริษัททัวร์จะเหลือรายได้จริงเพียงหัวละ 300 บาท จาก 1.2 ล้านคนเท่านั้น เมื่อนำไปหารกับ 13,000 บริษัท เท่ากับเหลือรายได้บริษัทละ 27,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่แพคเกจเราไปเที่ยวกันที่อนุมัติวงเงินไว้ 18,000 ล้านบาท จะเหลือเงินที่ไม่ได้ใช้มากถึง 9,000 ล้านบาท” นายสุรวัชกล่าว

ส่วนแพคเกจเราไปเที่ยวกัน ที่รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย จำนวน 5 ล้านคืน ในอัตรา 40% ของค่าห้องพักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน ในส่วนนี้ใช้วงเงิน 15,000 ล้านบาท ส่วนอีก 3,000 ล้านบาท เป็นวงเงินให้ผู้รับสิทธินำไปเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ 600 บาทต่อห้องต่อคืน ในสภาพความเป็นจริงโรงแรมคงแข่งกันทำโปรโมชั่น เพราะรัฐกำหนดเงื่อนไขห้ามขายแพงกว่าที่ขายผ่านระบบออนไลน์ในเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้ค่าโรงแรมจะถูกลง

หากคิดราคาเฉลี่ยที่ผู้ใช้สิทธิคืนละ 3,000 บาท ก็สามารถเข้าพักในโรงแรมระดับ 5 ดาวได้แล้ว เมื่อรัฐจ่ายให้ 40% เท่ากับ 1,200 บาท ในจำนวน 5 ล้านคืน เท่ากับรัฐจะใช้เงินเพียง 6,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนค่าโรงแรม ทำให้เหลือในส่วนนี้ 9,000 ล้านบาท จึงอยากให้รัฐบาลไปทบทวนประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตเหล่านี้ก่อนเริ่มโครงการจริงด้วย

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าผลของมาตรการภาครัฐ น่าจะทำให้คนไทยตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และสร้างเม็ดเงินรายได้ส่วนเพิ่มในตลาดไทยเที่ยวไทยอีกประมาณ 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการ แต่ด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดจะยังไม่สามารถพลิกมาเป็นบวกได้

ทำให้ทั้งปี 2563 คนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้งหรือหดตัว 46.4% ถึงหดตัว 45.2% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 545,000-567,000 ล้านบาท หรือหดตัว 49.5% ถึงหดตัว 47.5% จากปีที่ผ่านมา ภายใต้สมมุติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบ 2 ที่รุนแรงในไทย

แม้การหันมากระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ จะเดินมาถูกทางแล้ว แต่เนื้อหาแพคเกจดูเหมือนจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวกังวลใจว่าจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยว เกิดการใช้จ่าย และสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หากงบประมาณที่ทุ่มเทลงไป ไม่สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ดีอย่างที่หวังไว้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image