‘คลองลัดโพธิ์’ แก้ภัยน้ำท่วม กรุงเทพฯ-ปริมณฑล

คลองลัดโพธิ์ประตูหน้าด่านป้องกันภัยน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครและ จ.สมุทรปราการ รับ-ผลักดันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ไหลผ่านอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีลักษณะคดเคี้ยวเป็นคุ้งน้ำบางกะเจ้า รูปกระเพาะหมูความยาว 18 กิโลเมตร ในอดีตนั้นเป็นคลองลัดแนวเหนือ-ใต้ ที่ทำให้การระบายน้ำจากทิศเหนือออกสู่ทะเลรวมทั้งน้ำที่ท่วมขังภายในพื้นที่ 2 จังหวัดดังกล่าว เป็นไปอย่างล่าช้า ประกอบกับเมื่อนํ้าทะเลหนุนเอ่อล้นตลิ่งสร้างผลกระทบกับชุมชนริมน้ำ

ปัจจุบันคลองแห่งนี้ เป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการเบี่ยงน้ำ (Diversion) ลงสู่ทะเลช่วงที่น้ำทะเลลง และปิดกั้นน้ำทะเลเข้าพื้นที่เมื่อน้ำทะเลหนุนสูง โดยใช้ประโยชน์จากคลองลัดโพธิ์เดิม ซึ่งเป็นคลองขนาดเล็กกว้างเพียง 10-12 เมตรยาว 600 เมตร ลึก 1-2 เมตร โดยปรับปรุงคลองให้มีความกว้าง 65 เมตร ลึก 7 เมตร สามารถร่นระยะทางการระบายน้ำหลากจาก 18 กิโลเมตร คงเหลือเพียง 600 เมตร จาก 5 ชั่วโมง เป็น 10 นาที พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดคลองลัดโพธิ์ (เริ่มก่อสร้างในปี 2545 แล้วเสร็จในปี 2549) เพื่อหน่วงน้ำทะเลให้ลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาตามระยะทางเดิม ลดปัญหาน้ำท่วมและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต จ.ปทุมธานี นนทบุรีกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

ทุกๆ ปี เมื่อย่างเข้าฤดูน้ำหลาก ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการจะเป็นหน้าด่านสำคัญที่จะเป็นทางลัดระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยโดยเร็ว

Advertisement

ซึ่งล่าสุด พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรีในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ณ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

Advertisement

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง พบว่าแนวโน้มปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนเริ่มลดลง ส่งผลให้วันนี้ (5 ก.ย. 61) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,084 ลบ.ม./วินาที (ลดลงจากเมื่อวาน 58 ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร (ลดลงจากวานนี้15 เซนติเมตร) กรมชลประทาน จึงได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยปรับลดการรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออก ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์จาก 140 ลบ.ม./วินาที เหลือ 90 ลบ.ม./วินาที ส่วนฝั่งตะวันตกปรับลดการรับน้ำเข้าทางประตูระบายน้ำพลเทพ ลงสู่แม่น้ำท่าจีน จาก 140 ลบ.ม./วินาที เหลือ 120 ลบ.ม./วินาที ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ได้ลดน้ำไหลผ่านจาก 820 เหลือ 800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อน

ลดลงตามไปด้วย ประกอบกับได้มีการปรับลดการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงแล้ว กรมชลประทาน จะได้ปรับแผนการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับการระบายน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่งในระยะต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยาให้มากที่สุด ทั้งนี้ ได้มีการประสานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบแผนการระบายน้ำล่วงหน้าแล้ว

ในส่วนของการเตรียมพื้นที่รับน้ำนองในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันทุ่งบางระกำ เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จทั้งหมดแล้ว พื้นที่รวมทั้งสิ้น 382,000 ไร่ พร้อมที่จะรับน้ำเข้าทุ่งได้ประมาณกลางเดือนสิงหาคมได้ประมาณ 550 ล้าน ลบ.ม. ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 ทุ่ง ขณะนี้เกษตรกรได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 1.15 ล้านไร่ สามารถรับน้ำเข้าทุ่งรวมกันได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริหารจัดการน้ำเหนือไหลหลากในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยการเร่งระบายน้ำให้ไหลลงทะเลเร็วขึ้น ซึ่งประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ นั้นมีขีดความสามารถในการระบายน้ำได้วันละประมาณ 45-50 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณร้อยละ 13-15 ขณะที่การเตรียมการ

เร่งระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนตอนล่างบริเวณจ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม กรมชลประทานก็ได้มีแผนดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนทั้งสิ้น 81 เครื่อง ขณะนี้ได้ทำการติดตั้งไปแล้ว 60 เครื่อง และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้อีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ฝน 3 วันล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าทั่วประเทศจะมีปริมาณฝนตกน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้น้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในอ่างขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ อย่างรัดกุมและเคร่งครัด ด้วยการระบายน้ำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80-100 ของความจุอ่างฯ และอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม จะพิจารณาเร่งระบายให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image