‘นิด้า’ จับมือ ‘สจล.’ เร่งปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เปิดตัว “วิศวกรรมการเงิน” หลักสูตรอินเตอร์ป.ตรีควบโท ต่อเนื่อง 5 ปี พร้อมรับนศ.ชุดแรกปี 62

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการแก่สังคมร่วมกัน โดยกิจกรรมแรกของความร่วมมือ คือการพัฒนาหลักสูตรใหม่ เตรียมเปิด “วิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering)” จัดการเรียนการสอนปริญญาตรีต่อเนื่องปริญญาโท ภาคภาษาอังกฤษ จบหลักสูตรภายใน 5 ปี นับเป็นความร่วมมือระหว่างสองสถาบันครั้งสำคัญ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความร่วมมือของทั้งสองสถาบันและของประเทศไทย

รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี นิด้า กล่าวว่า หลักสูตรร่วม KMITL-NIDA Double Degree Program in Financial Engineering เป็นโครงการที่นิด้า จับมือกับ สจล. โดยในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของสจล. และ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ โดยนิด้า มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิศวกรการเงินที่มีความรู้และความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการเงิน มีทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณ มีทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำมาใช้ในงานทางการเงิน และสามารถนำความรู้และทักษะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการเงินขององค์กร แก้ปัญหาทางการเงิน ออกแบบกลยุทธ์การลงทุน และพัฒนาเครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบโจทย์และความต้องการของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีทักษะการทำงานแบบมืออาชีพ มีความพร้อมในการทำงานในระดับนานาชาติ  

          “นิด้า และสจล.มีความร่วมมือกับเครือข่ายทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ ได้ฝึกงานและไปศึกษาแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ บัณฑิตยุคใหม่จำเป็นต้องมีทักษะ และความเชี่ยวชาญรอบด้าน เราไม่เพียงต้องการให้นักศึกษาจบออกมาเป็นวิศวกร หรือเป็นนักการเงินและธนาคารเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งมั่นที่จะพัฒนานักศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจกลไกตลาดธุรกรรมการเงิน และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถจบออกไปเป็นนักบริหาร หรือผู้ประกอบการด้านการเงินได้อีกด้วย

Advertisement

ซึ่งนอกเหนือจากการเรียนการสอนภายในห้องเรียนแล้ว ทางสถาบันยังมีนโยบายการบูรณาการหลักสูตรวิชาร่วมกับการเปิดโอกาสให้นักศึกษา เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริง ร่วมกับสถาบันการเงินชื่อดังระดับประเทศ เพื่อให้นักศึกษามีมุมมองที่กว้างไกล รอบด้าน มีความเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนได้ และสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรในสายอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต” รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าว

       ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า หลักสูตร “วิศวกรรมการเงิน” นับเป็นหลักสูตรแรกระหว่าง สจล. และนิด้า ที่ผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม และองค์ความรู้ด้านการเงินการธนาคาร โดยนำจุดเด่นและศักยภาพของทั้งสองสถาบันมาบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษา โดยความร่วมมือในครั้งนี้สร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ที่จะพลิกโฉมการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปอีกหนึ่งขั้น และเป็นทิศทางที่น่าสนใจของการปรับตัวระดับมหาวิทยาลัย

          “ปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech : Financial Technology) กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทต่อธุรกรรมทางการเงิน การธนาคาร การเทรดดิ้งซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่การเติบโตของฟินเทคยังสวนทางกับจำนวนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ที่มีไม่เพียงพอ สจล. และนิด้า จึงเชื่อมั่นว่าหลักสูตร “วิศวกรรมการเงิน” จะเป็นหลักสูตรแห่งอนาคตสำคัญ ที่เร่งปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบสนองกับตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร และคาดว่าการที่ประเทศมีบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญฟินเทคเพิ่มมากขึ้น จะช่วยบรรเทาปัญหาในวงการการเงิน และธนาคาร ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฉับไว ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการเงินของประเทศไทย” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวเสริมว่า เพื่อให้ผู้เรียนได้เป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และสามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตอบสนองตลาดแรงงานที่กำลังเป็นที่ต้องการ หลักสูตรวิศวกรรมการเงินที่พัฒนาขึ้นผนวก 3 ศาสตร์การเรียนรู้ไว้ด้วยกัน ได้แก่ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน (Economic and Finance Theory) วิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ (Methods of Engineering)  และเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ (Tools of mathematics) รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Programming) สามารถคิดนวัตกรรมทางการเงิน ที่ใช้ความรู้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ ร่วมกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ ความรู้ในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ และการเงิน สามารถพยากรณ์การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการระดมทุน การลงทุน ตลอดจนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการประยุกต์ใช้ในการจัดการระบบการซื้อขายอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ (Algorithmic Trading) และการบริหารจัดการกองทุนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในโลกเทคโนโลยีทางการเงิน

ขณะที่ ผศ.ดร.วิภู ศรีสืบสาย รองคณบดี กำกับดูแล และรับผิดชอบงานด้านแผนงาน และกลยุทธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน มีโครงสร้างหลักสูตรเป็นแบบตรีควบโท 4+1 จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ระยะเวลาศึกษา 5 ปี แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ 1. การศึกษาระดับปริญญาตรี ระยะเวลา 4 ปี หรือ 8 ภาคการศึกษา และ 2. การศึกษาระดับปริญญาโท ระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา ซึ่งผู้เข้าเรียนจะได้ศึกษารายวิชาทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน คณิตศาสตร์การเงิน การเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง และรายวิชาทางวิศวกรรมการเงินที่ผสมผสานความรู้ในศาสตร์ที่กล่าวมา โดยคณาจารย์จากทั้งสองสถาบันจะร่วมกันสอนตั้งแต่ปีแรก ซึ่งนักศึกษาจะมีบัตรนักศึกษาและสิทธิในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ของทั้งสองมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียม

อย่างไรก็ตามหลักสูตรดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสภาสถาบันของทั้งสองสถาบัน โดยคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในช่วงต้นปี ผ่านระบบรับสมัครของสจล. และเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคม 2562

                สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.kmitl.ac.thหรือ nida.kmitl.ac.th ตลอดจนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image