กรมชลประทานตามรอย ‘ศาสตร์พระราชา’ มุ่งมั่นพัฒนา ‘อ่างเก็บน้ำลำสะพุง’ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย

ากการน้อมนำ  ‘ศาสตร์พระราชา’ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงห่วงใยถึงความเดือดร้อนของราษฎร โดยเฉพาะปัญหาความขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร มาเป็นแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน และจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำไปสู่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งมีหลายโครงการในความดูแลของกรมชลประทาน รวมถึง ‘โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงว่า เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริไว้ถึง 4 ครั้ง เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ติดกับเทือกเขาดงพญาเย็น ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำแม่น้ำชี แต่มีพื้นที่เก็บกักน้ำค่อนข้างน้อย ประกอบกับลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำ โดยทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน รวมทั้งเป็นการชะลอน้ำหลากลงสู่พื้นที่ตัวเมืองชัยภูมิ ตลอดจนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

Advertisement

หลังจากนั้น กรมชลประทานได้สนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการน้อมนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาขยายผลเพิ่มเติม โดยเริ่มออกแบบโครงการและศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2538 แต่ก็พบว่าพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างอยู่ในเขตป่าสงวนมากถึง 2,100 ไร่ จึงไม่สามารถดำเนินโครงการได้ในขณะนั้น ทำให้จำเป็นต้องชะลอการก่อสร้างออกไป

“ต่อมาในปี 2559 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเวลานั้น ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งรัดการใช้พื้นที่พร้อมปรับแบบการก่อสร้างให้ใช้พื้นที่ป่าน้อยลง ปัจจุบันกรมชลประทานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ด้านการสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 และอยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. จำนวน 354 ไร่ และพื้นที่ สปก. จำนวน 3,724 ไร่”

ปัจจุบันกรมชลประทานได้ผ่อนผันการขอใช้พื้นที่ในเขตป่า พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2584 เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในปี 2562 ระยะเวลาการก่อสร้าง 6 ปี (ปี2562-2567)  ทันทีที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกได้ถึง 40,000 ไร่ ทั้งยังสามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 8,000 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคได้อีกประมาณ 2.16 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

Advertisement

ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำสะพุง รวมไปถึงพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และ ประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง นำคณะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง มี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ต้อนรับ โดย พล.อ.ฉัตรชัย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า ภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือราษฎรที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรและอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ เป็นการสร้างคุณภาพชีวิต รายได้ และความสุขอย่างยั่งยืน

ประพิศ จันทร์มา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image