‘สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA’ ปั้นแคมเปญช่วยฟรีแลนซ์ ดันธุรกิจ Creative Economy ฝ่าวิกฤตโควิด

จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นำไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งรุนแรง จนมีความจำเป็นในการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดด้วยการปิดสถาบันการศึกษาและสถานที่ให้บริการต่างๆ พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคประชาชน  

และนับเป็นความใส่ใจ ความมุ่งมั่นของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและผลักดัน ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากและสามารถพลิกฟื้นจากวินาทีอันเลวร้ายครั้งนี้ไปให้ได้ จึงจัดตั้งโครงการ “CEA-COVID 19 Relief Programs” ขึ้น

โดยโครงการดังกล่าว ถูกออกแบบมาเพื่อกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) และผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ ทั้ง 15 สาขาของไทย คือ 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย และ 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา

Advertisement

นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า เวลากว่าหนึ่งปีที่โลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ  โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ทั้ง 15 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

CEA ฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy จึงได้เร่งปรับกระบวนการทำงานขององค์กรทั้งระบบตั้งแต่การวางนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนกระบวนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่และการวัดผล เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างทันท่วงที

Advertisement

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวต่อว่า CEA จะเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยเสริมความสามารถให้ผู้ประกอบสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ผ่านโครงการ CEA-COVID 19 Relief Programs บนพื้นฐานของการทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการในช่วงเวลาวิกฤต ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้ประกอบการฯ ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้  โดยทำงานผ่าน 3 มาตรการ ดังนี้

  1. การปรับเปลี่ยนกิจกรรมและงานบริการเป็นรูปแบบออนไลน์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Capacities Building)
  2. จัดทำโครงการพิเศษเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยเฉพาะ (Special Covid-19 Relief Programs)
  3. การใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เข้ามาแก้ปัญหาและความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ต้องเผชิญ (Endorsing Technology & Design Thinking for Better Solutions)

“อย่างไรก็ดี CEA ยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการ CEA Creative Industries 2021 อย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านการจัดกิจกรรมเสวนา การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การรวบรวมและพัฒนาฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา การผลิตวิดีโอคอนเทนต์ รวมถึงการประกวดและมอบรางวัลให้แก่บุคลากรสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ ในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2564 เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเดินหน้าพัฒนาผลงานสร้างสรรค์สู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เป็นหน่วยงานเชื่อมต่อความร่วมมือที่เป็นไปได้ในอนาคต พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกัน” นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

และในเดือนสิงหาคม และกันยายน 2564 นี้ ทาง CEA ยังได้ดำเนินโครงการ CEA Creative Industries 2021 เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร อาทิ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทยฯลฯ ฯลฯ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมาย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cea.or.th FB: Creative Economy Agency

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image