DITP เดินหน้าส่งเสริมตราสัญลักษณ์ ‘Thai SELECT’ ในตลาดโลก

‘Thai SELECT’ เป็นโครงการสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าและธุรกิจบริการอาหารของไทย ให้สามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของอาหารไทยแท้ โดยมี ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ หรือ DITP ดำเนินกิจกรรมคัดเลือกผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปเพื่อมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

‘Thai SELECT’ เครื่องหมายมาตรฐานร้านอาหารไทยในต่างแดน

ณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความเป็นมาของตราสัญลักษณ์ ‘Thai SELECT’ ว่า เริ่มต้นในปี 2541 เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่มีความเป็นไทยแท้ ทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และวิธีการปรุง บรรยากาศการตกแต่งที่สัมผัสได้ถึงความเป็นไทย ขณะเดียวกันก็ได้มาตรฐานการบริการ การดูแลความสะอาดที่ถูกสุขอนามัยและอื่นๆ ตามข้อบังคับของแต่ละเมือง โดยให้ตราสัญลักษณ์นี้เป็นเสมือนเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเพื่อผู้บริโภครับรู้อย่างชัดเจน

ประเภทของร้านอาหาร Thai Select ในช่วงแรกเริ่มจะมีเพียง Thai SELECT Premium มอบให้ร้านอาหารไทยคุณภาพยอดเยี่ยมระดับ 5 ดาว กับ Thai SELECT ร้านอาหารที่ได้มาตรฐานระดับ 3-4 ดาว แต่ด้วยอาหารไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เร่งรีบ ทำให้มีร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด รวมทั้งฟู้ดทรัคเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนประเภทของ Thai SELECT ให้ทันสมัยสอดคล้องกับโลกยุคใหม่”

Advertisement

ปัจจุบัน ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ มี 3 ประเภท ได้แก่ ‘Thai SELECT Signature’ สำหรับร้านที่มีความโดดเด่นในภาพลักษณ์และเอกลักษณ์อาหารไทย ตกแต่งร้านสวยงาม มีบริการที่เป็นเลิศ ประเภทที่สอง ‘Thai SELECT Classic’ ร้านที่ให้บริการอาหารรสชาติตามมาตรฐานอาหารไทยทั่วไป และประเภทที่สาม ‘Thai SELECT Casual’ ร้านที่มีขนาดเล็กและมีข้อจำกัดด้านการบริการ  เช่น จำนวนโต๊ะจำกัด ซื้อแล้วต้องไปหาที่นั่งข้างนอก แต่ก็มีบรรยากาศความเก๋ทันสมัย หรืออาจเป็น Food Truck หรือร้านอาหารไทยประเภท street food 

จากร้านสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ปรุงอาหารไทยได้ทุกที่ทุกเวลา

Advertisement

เมื่ออาหารไทยเป็นที่ติดอกติดใจของคนทั่วโลกมากขึ้น รวมถึงบางเมนูที่มีความยุ่งยากในการเตรียมเครื่องปรุง อย่างเช่นต้องโขลกพริก แม้แต่ส่วนประกอบที่จำเพาะเจาะจงเป็นผักบางชนิดเท่านั้น ทำให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางครั้งไม่สามารถหาวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้ได้มาตรฐานสำรับไทย บวกกับมีผู้ประกอบการที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสำเร็จรูป หรือเป็นเครื่องปรุงที่เพียงเติมเนื้อสัตว์กับผักลงไปก็สามารถรับประทานได้ทันที เป็นผู้ช่วยสำหรับร้านอาหารรวมถึงคนที่นิยมทำอาหารกินเองในบ้านได้เป็นอย่างดี

ในปี 2555 DITP จึงได้ขยายการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป เครื่องแกงสำเร็จรูป และเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปที่มีรสชาติไทยแท้ ผ่านกระบวนการและขั้นตอนการปรุงอาหารด้วยส่วนผสมตามตำรับอาหารไทย และได้รับมาตรฐานการส่งออกในระดับสากล โดยจะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากคณะกรรมการหลายภาคส่วน เช่น สถาบันอาหาร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ เป็นการการันตีให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้มั่นใจถึงคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ว่ามีรสชาติตามต้นตำรับอาหารไทยอย่างแน่นอน”

รองอธิบดี DITP เผยถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 712 รายการ จาก 74 บริษัท ประกอบไปด้วยอาหารไทยสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป ทั้งอาหารคาวหวาน เครื่องแกง และเครื่องปรุงรสสำหรับอาหารไทย โดยสิทธิประโยชน์ของการได้ Thai SELECT อาทิ ได้เข้าร่วมกิจกรรมของ DITP ทั้งในและต่างประเทศ โอกาสในการเจรจาการค้า พร้อมกับการแนะนำสินค้าสำหรับให้ผู้ซื้อ-ผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ ได้รับการโปรโมทในงานแสดงสินค้าอาหารและงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่หลากหลายทั่วโลก

ตราสัญลักษณ์ประกาศศักยภาพอาหารไทยสู่ตลาดโลก

ในปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้ Thai SELECT ทั้งหมดจำนวน 1,600 ร้าน ในอเมริกามีมากที่สุด 534 ร้าน (ตัวเลข ณ เดือนเมษายน 2566) เนื่องจากมีจำนวนประชากรเยอะ รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันนิยมอาหารไทย อันดับสองคือเอเชีย จำนวน 442 ร้าน อันดับสามยุโรป จำนวน 380 ร้าน

เมื่อรวมกับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งมีการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และส่งเสริมให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศนำมาใช้เป็นเครื่องปรุง จึงถือเป็นช่องทางสำคัญของการขยายตลาดการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องปรุงรสของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ณัฐิยาเผยถึงความสำเร็จในการสร้างชื่อเสียงของตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่า เนื่องจากไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะรสชาติเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาเรื่องอื่นๆ ประกอบ เช่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละประเทศ รวมถึงความสะอาด กรรมวิธีการทำที่ถูกต้อง มีการปรับประเภทตราสัญลักษณ์ให้ทันสมัย

รวมถึงมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกที่เกี่ยวกับอาหาร หรือโปรโมทผลไม้กับอาหารไทยของร้านที่ได้ Thai SELECT โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ 58 สำนักงานทั่วโลกได้ออกแบบและจัดกิจกรรมที่เข้ากับแต่ละประเทศ ทำให้ Thai SELECT เปรียบเหมือนแพลตฟอร์มส่งเสริมอาหารไทยและวัตถุดิบอาหารไทยไปยังผู้บริโภคทั่วโลก

“DITP จัดกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารอย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่ใช่กิจกรรมใหญ่แต่จัดในทุกประเทศ นอกจากการโปรโมทร้านอาหาร Thai SELECT แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น ร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือเป็นกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์อาหารไทยด้วยความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์และเชฟที่มีชื่อเสียงของร้าน Thai SELECT”

เดินหน้าผลักดัน Soft Power อาหารไทย

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการส่งออกอาหารไทยมาจากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่เข้าไปดูแลสนับสนุนการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีอีกนโยบายสำคัญคือ การส่งเสริม Soft Power  อาหารไทย จากก่อนหน้านี้ที่มีเมนูต้มยำกุ้ง ผัดไทย ส้มตำ แกงเขียวหวาน และแกงมัสมั่น ถูกจัดอันดับให้เป็นอาหารที่มีรสชาติถูกปากผู้คนทั่วโลกอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักอาหารไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ความต้องการสินค้าและบริการของไทยเพิ่มขึ้น โดยมี DITP ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

จากกระแส Soft Power อาหารไทย ตั้งแต่ ลิซ่า BlackPink กับศิลปินแร็ป มิลลิ ก็อาจจะต้องมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันผลักดันให้อาหารไทยเป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดย DITP จะให้อิสระกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ต้องพิจารณาว่าในประเทศนั้นมีความนิยมอาหารประเภทไหน”

เปิดพาวิลเลียนโชว์ศักยภาพอาหารไทยในงาน THAIFEX

ในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ครบวงจรที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ‘THAIFEX – ANUGA ASIA 2023’ ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี DITP ได้จัดโซนพิเศษ ‘Thai SELECT Pavilian’ บริเวณฮอลล์ 9 โชว์ศักยภาพผู้ประกอบการไทย ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป สามารถก้าวสู่ตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมตั้งเป้าผลักดันตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและขยายตลาดอาหารไทยในต่างประเทศ

มีการคัดสรรผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT มาจัดแสดงกว่า 500 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ซอสปรุงสำเร็จของบริษัท ไทยอารีย์ ฟู้ดแอนด์เฟรนด์ จำกัด ข้าวซอยไก่สำเร็จรูปของบริษัท อารี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปลาสลิดผัดปรุงรสของบริษัท ปลาสลิดพอดีคำ จำกัด น้ำจิ้มซีฟู้ดฟรีซดรายของบริษัท แซ่บจี๊ด จำกัด และ ผัดไทยโคราช ของ บริษัท ออร่าฟู๊ด จำกัด ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการมอบเกียรติบัตรให้ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปที่ผ่านการคัดเลือกให้ใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ประจำปี 2566 จำนวน 249 ผลิตภัณฑ์ จาก 34 บริษัท เช่น บริษัท บลูสไปซ์ จำกัด, บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด, บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด, บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด, หจก.บลูโอโน่ (ประเทศไทย) เป็นต้น

ตลอดทั้ง 5 วันมีกิจกรรมเป็นต้นว่า จัดนิทรรศการ Thai SELECT แนะนำความเป็นมาของโครงการ หลักเกณฑ์ คุณสมบัติของผู้ขอรับตราสัญลักษณ์ ประเภท และสิทธิประโยชน์ของตราสัญลักษณ์ นิทรรศการของผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาและบ่มเพาะภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปสู่ตลาดโลก หรือ Thai SELECT Apprentices Program (T-SAPP) ซึ่งมีการจัดแสดงสินค้าอาหารไทยสำเร็จรูปที่ผ่านโครงการนี้จำนวน 15 บริษัท รวมถึงกิจกรรมสาธิตการทำอาหารไทยจากผลิตภัณฑ์ Thai SELECT โดยเชฟชื่อดังจากรายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image