AIS สร้าง ‘ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล’ เสริมแกร่งคนไทยรู้ทันภัยไซเบอร์

การที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางการสื่อสารและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่เป็นผู้ร้ายคนใหม่ในยุคดิจิทัลนี้อีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้คนไทยรู้เท่าทัน สามารถปกป้องตัวเองและคนรอบข้างให้รอดพ้นจากภัยไซเบอร์บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะผู้นำธุรกิจด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมแบบไร้สายของประเทศ จึงเริ่มโครงการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร อุ่นใจ CYBER ขึ้นในปี 2019 โดยมีเป้าหมายยกระดับทักษะดิจิทัล สร้างสังคมการใช้ดิจิทัล ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้คนไทย

ล่าสุด AIS ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนักวิชาการหลากหลายสาขา สร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นเป็นฉบับแรกของไทยกับ ‘ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล’ หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ตัวชี้วัดว่าวันนี้เรามีสุขภาวะทางดิจิทัลในระดับที่เหมาะสมแล้วหรือไม่

Advertisement

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า AIS รู้ดีว่า ‘ดิจิทัล’ คือ เครื่องมืออำนวยความสะดวกสบาย ทั้งด้านธุรกิจ การทำงาน ด้านสาธารณูปโภค ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น การรู้เท่าทัน การใช้ให้ถูกวิธี เพื่อสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีมานี้ AIS มีความมุ่งมั่นสร้างทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาบริการดิจิทัล คัดสรรโซลูชัน และเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 ด้วยการเปิดตัว ‘ภารกิจ อุ่นใจ CYBER’ นอกจากนี้ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของ AIS ให้ลูกค้าและผู้ใช้บริการมีความมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น

“เพื่อเสริมแกร่งให้คนไทย AIS ได้เริ่มพัฒนาหลักสูตร อุ่นใจ CYBER ร่วมกับพาร์ทเนอร์ก่อนเปิดหลักสูตรให้ครูกว่า 1,500 คน เข้ามาอบรม ควบคู่ไปกับการเปิดตัวสายด่วน 1185 บริการรับแจ้งเบอร์โทรและ SMS ของมิจฉาชีพฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่ปี 2022 AIS ชวนคนไทยเห็นถึงภัยไซเบอร์ยอดฮิต ไม่ว่าจะเป็น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้อมูลเฟคนิวส์ และการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ผ่านแคมเปญสร้างการตระหนักรู้  ที่ชื่อว่า มีความรู้ก็อยู่รอด” 

แม่ทัพใหญ่ AIS ยังกล่าวด้วยอีกว่า เมื่อต้นปี 2023 AIS นำหลักสูตร อุ่นใจ CYBER เข้าสถานศึกษากว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้สังกัด สพฐ. ซึ่งตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันมีผู้เรียนหลักสูตรดังกล่าวแล้วกว่า 2.5 แสนคน

Advertisement

ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับการทำงานขึ้นไปอีกขั้นกับครั้งแรกที่ประเทศไทยมีเครื่องวัดผลทักษะการใช้งานในโลกไซเบอร์มิติต่างๆ ที่เรียกว่า ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่จะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านราย เป็น 1.5 พันรายภายในปี 2025

“ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยจะสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ต่างๆ  ดังนั้นผลงานชิ้นนี้จึงไม่ใช่ของ AIS หรือขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นของคนไทยทุกคน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เสริม

ด้าน ผศ.ดร. ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รักษาการแทน กสทช. กล่าวว่า “

“ในฐานะที่ กสทช.มีภารกิจในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลส่งเสริมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยเราได้ผลักดันให้มีโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ และเท่าเทียมกัน และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมให้มีทักษะการใช้งานด้านดิจิทัลมาโดยตลอด” 

“สำหรับดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลฉบับแรกของประเทศไทย ที่ AIS ได้พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ ผมขอชื่นชมในความตั้งใจที่ AIS ได้ทำประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยดัชนีชี้วัดฉบับนี้จะเป็นเสมือนเข็มทิศให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นแนวทางในการส่งต่อองค์ความรู้ให้คนไทยในแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลของประชาชนไปสู่ทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

ชู 7 เครื่องมือวัดทักษะดิจิทัล  

การพัฒนาเครื่องมือวัดผลการใช้งาน ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index จะสำเร็จลุล่วงไม่ได้เลย ถ้าขาดคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิ ด้านเทคโนโลยี สุขภาพ สื่อสารมวลชน การศึกษา และด้านการวัดประเมินผล ในการออกแบบกรอบการศึกษา ขั้นตอนและวิธีการเก็บผล กลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา จนสามารถพัฒนา ‘ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย’ ออกมาเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับสูง ผู้มีความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีได้ถูกต้องและแนะนำคนรอบข้างได้ 2. ระดับพื้นฐาน ผู้มีความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีได้ถูกต้อง และ 3. ระดับต้องพัฒนา เป็นผู้มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ 

ซึ่งดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล ใช้วิธีการวัดทักษะที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งาน 7 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use) ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration) ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights) ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyber bullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) 

การวัดผลดัชนี เป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพทั่วประเทศกว่า 21,862 คน จากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัลอยู่แค่ในระดับพื้นฐาน 33.51% ขณะที่ 44.04% อยู่ในระดับต้องพัฒนา และมีคนไทยเพียง 22.45% เท่านั้นที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น 

หรือหากลองแยกส่วนสุขภาวะด้านต่างๆ ของคนไทยออกมาให้ดูกันชัดๆ จะเห็นว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับพื้นฐาน มีเพียงด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ที่คนไทยมีการตื่นรู้อยู่ในระดับสูง ขณะที่การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัลและทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล เป็นสองข้อที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ระดับสุขภาวะดิจิทัลในทุกกลุ่มอายุ มีทักษะความฉลาดทางดิจิทัลอยู่ในระดับพื้นฐาน ยกเว้น ‘กลุ่มผู้สูงอายุ’ ที่ค่าเฉลี่ยดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลอยู่ในระดับต้องพัฒนา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้น 

หรือถ้ามองในมุมของอาชีพ พบว่า อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ค้าขาย-ธุรกิจส่วนตัว รับจ้างทั่วไป พนักงานรัฐวิสาหกิจ เกษตรกร และผู้ที่ว่างงาน กลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงในการใช้งานดิจิทัล จำเป็นต้องเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลมากขึ้นด้วย

เพื่อปกป้องคนไทยในการใช้ดิจิทัลและสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพให้กับสังคมไทย AIS พร้อมส่งต่อต้นแบบการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลให้กับองค์กรที่สนใจศึกษาและวัดผล สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf 

หรือต้องการนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร ติดต่อได้ที่ [email protected] 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image