กทม. มั่นใจประชาชนปลอดภัย ในเทศกาลสงกรานต์ 67 บูรณาการทุกภาคส่วน ดูแลประชาชน 24 ชั่วโมง 

เทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯ ปี 2567 จัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณี ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นหนึ่งในนโยบาย 12 เทศกาล ตลอดปีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งรัฐบาลได้เน้นย้ำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ด้าน Festival หรือเทศกาลประเพณีไทย รวมถึงเป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์หลายแห่ง เพราะฉะนั้น หลักการคือต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว 

ในปีนี้ทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน พร้อมใจกันจัดงานสงกรานต์อย่างคึกคัก มีจุดจัดงานทั้งสิ้นกว่า 118 จุด โดยเป็นจุดไฮไลต์ ประมาณ 15 – 16 จุด สำหรับจุดไฮไลต์ในปีนี้จะจัดที่ลานคนเมือง ถนนข้าวสาร สนามหลวง ถนนราชดำเนินกลาง สวนสันติชัยปราการ ถนนสีลม เป็นต้น โดยแบ่งประเภทงานออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. สายวัฒนธรรม (เปียกน้อย) และ 2. สายสนุก (เปียกมาก) 

Advertisement

สำหรับงานสงกรานต์สายวัฒนธรรม อาทิ บริเวณลานคนเมือง จัดโดย กทม. ในวันที่ 12 -14 เม.ย. 67   มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่ลานคนเมือง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สักการะและสรงน้ำ มีพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ตามประเพณีมอญโบราณ แจกน้ำพระพุทธมนต์ และกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีไทย บริเวณถนนราชดำเนินกลาง และท้องสนามหลวง ในงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” มีการจัดขบวนพาเหรดสงกรานต์ และเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ส่วนงานสงกรานต์สายสนุก อาทิ บริเวณถนนข้าวสาร ปีนี้ได้นำบทเรียนจากปีที่แล้วมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องห้องน้ำ การติดตั้งป้ายทางออกฉุกเฉินถาวรที่เห็นได้ชัดเจน การจัดเส้นทางเข้า – ออก เพื่อลดความหนาแน่นในพื้นที่ หรือบริเวณถนนสีลม ในปีนี้มีการปิดถนนและกำหนดพื้นที่ให้เล่นน้ำ ซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานเขตบางรัก และผู้ประกอบการธุรกิจย่านสีลม 

Advertisement

เนื่องจากมีจุดจัดงานมากกว่า 100 จุด กทม. จึงอยากจะเน้นย้ำในเรื่องการเดินทาง คือขอให้ลดการใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัวเข้ามาในพื้นที่จัดงาน และเลือกใช้ขนส่งมวลชนหรือการเดินเท้าไปยังพื้นที่จัดงานแทน เนื่องจากไม่มีการจัดที่จอดรถในพื้นที่จัดงาน และเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยทางถนนด้วย เพราะสถิติช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา (11 – 17 เม.ย. 66) พบอุบัติเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ สะสมจำนวน 37 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 26 คน และมีผู้เสียชีวิต 22 คน โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์

 ด้านมาตรการความปลอดภัยในปีนี้ กทม. จะเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยทั้งพื้นที่จัดงานและความปลอดภัยทางถนน ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในด้านความปลอดภัย ควบคุมการใช้ความเร็ว และดื่มไม่ขับ จัดตั้ง Command Center ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จัดงาน และลงพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมจัดเตรียมหน่วยแพทย์และประสานโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนมีการหารือกับผู้ดูแลระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ จัดรถ Feeder เชื่อมต่อการเดินทางไปยังพื้นที่จัดงานได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปร่วมงานสงกรานต์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

“ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ลดการใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัว เล่นสงกรานต์โดยเคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ไม่เล่นแป้ง ไม่ดื่มสุราในที่สาธารณะ ควรดื่มในพื้นที่ที่กำหนด เช่น บ้าน หรือร้านที่ได้รับอนุญาต หาบเร่แผงลอยขอให้ขายในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น เพราะทุกคนสามารถสนุกได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น กรุงเทพมหานครและทุกหน่วยงานจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อความปลอดภัยของทุกคนอย่างเต็มที่” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image