ปัจจัย ชี้อนาคต ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจัย ‘ภายใน’

คอลัมน์หน้า 3 : ปัจจัย ชี้อนาคต ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจัย ‘ภายใน’

เหมือนกับคำตัดพ้อต่อสถานการณ์ “สภาล่ม” เพื่อ “ล้มรัฐบาล” จากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จะเป็นการสื่อไปยัง “ฝ่ายค้าน”

“ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไป”

เป็นการสื่อเพื่อขอความเห็นใจจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว แห่งพรรคเพื่อไทยเป็นการสื่อเพื่อขอความเห็นจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล

เป็นเช่นนั้นจริงละหรือ

Advertisement

ในเมื่อความมั่นใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นความมั่นใจที่ฝากไว้กับบทบาทของ นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปคนใหม่

เท่ากับเป็นการเชื่อมไปยัง “พลังประชารัฐ”

เท่ากับเป็นการฝากความหวังจากความร่วมมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และที่สำคัญก็คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

Advertisement

อย่าลืมว่าใครเป็น “เลขาธิการ” พรรคพลังประชารัฐ

อย่าว่าแต่คำตัดพ้อจะได้รับการเมินมองจากพรรคเพื่อไทยอย่างเลือดเย็น แม้กระทั่งพรรคก้าวไกลก็ประเมินและจับตามองอย่างจริงจัง

แม้แต่พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็อ่านทะลุ

ตราบใดที่เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐยังคงเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ตราบนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังกังวลและวิตก

เป็นความวิตกที่มี “กรณี 4 กันยายน” เป็น “จุดเริ่ม”

เป็นความวิตกจากการตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 171 ที่มีอยู่ในมือปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากรัฐมนตรี

จึงก่อให้เกิด “กรณี 8 กันยายน” โดยอัตโนมัติ

มีความพยายามที่จะรุกไล่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ให้พ้นไปจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอนจาก “กรณี 25 ตุลาคม”

แต่ ณ วันนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ยังอยู่

คําตัดพ้อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่อง “คนใจร้าย” จึงมิได้หมายถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จึงมิได้หมายถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

หากเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ในเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงไว้เนื้อเชื่อใจต่อบทบาทและความหมายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อย่างเต็มเปี่ยม

พร้อมกับดึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา มาเป็นอีก “อาวุธ”

นั่นหมายถึงสภาวะที่อยู่บนความไม่แน่นอนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 เดินทางมาถึง

เป็นความไม่แน่นอนของ “รัฐบาล” ไปด้วย

ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นย่อมมาจากบทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และบทบาทของ
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

มิใช่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มิใช่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ไม่ว่าจะมองจากทฤษฎี “อิทัปปัจยตา” ของท่านสิทธัตถะ ไม่ว่าจะมองจาก “ทฤษฎีวิภาษวิธี” ของท่านนาคารชุนนะ

ปัจจัย “ภายนอก” อาจส่ง “ผลสะเทือน”

แต่ที่มีส่วนในการชี้ขาดอย่างแท้จริง คือปัจจัย “ภายใน” ของรัฐบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยจากพรรคพลังประชารัฐ

บทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงสำคัญหลวงหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image