จุดตัด การเมือง จากคำสั่ง 24 สิงหาคม สะเทือน สังคม

การดำรงอยู่ของคำสั่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ดำเนินไปอย่างมีลักษณะในทางประวัติศาสตร์

ก่อให้เกิดการแบ่ง “ยุค” แบ่ง “สมัย”

โดยพื้นฐานก็คือ เป็นการแบ่งยุค “ก่อน” เข้ามาสู่ยุค “หลัง” การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผ่านการแสดงบทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

Advertisement

หากมองผ่าน “อากัปกิริยา” การแสดงออก หากมองผ่าน “วิธีวิทยา” ในการบริหารจัดการโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าเป็นเรื่องเล็กๆ มิได้เป็นเรื่องใหญ่

แต่เพียงการลงจากรถด้วยตนเอง ไม่ต้องมีคนประคอง แต่เพียงการยกหูโทรศัพท์ไปยังบางเป้าหมายทางการเมืองก็อึกทึกครึกโครม

Advertisement

กลายเป็น “เส้นแบ่ง” ก่อให้เกิด “จุดเปลี่ยน”

ปัจจัยอันก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนและยกระดับเป็นเส้นแบ่งอย่างทรงความหมายในทางการเมืองมีรากฐานมาอย่างไร

1 รากฐานของ “รัฐประหาร”

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้ผลักดันและนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็น “ตัวเลือก”

และถูกขยายให้เป็นตัวเลือกสำคัญ

สำคัญเพราะเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการแห่ง “อำนาจนิยม” ภายใต้โครงสร้างแห่งรัฐประหารทำให้ไม่สามารถมีตัวเลือกอื่น

แต่แล้วก็เกิด 1 ปรากฏการณ์อันทำให้เกิดสภาพพังทลาย

เป็นการพังทลายจากตัวตนและการบริหารจัดการในแบบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงมีกระบวนท่าในแบบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปรากฏขึ้น

ทุกอย่างก็ยับย่อยไม่ต่างไปจากผงฝุ่น

ภาวะยับย่อยในสถานะทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากกระบวนท่าธรรมดาอย่างยิ่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

กระทบต่อการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่การเปรียบเทียบโดยสังคมก็เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง

จากผลแห่ง “คำสั่ง 24 สิงหาคม”

ด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องอยู่เฉยๆ ด้านหนึ่ง มีเงาร่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปรากฏขึ้นแทนที่

เพียง 1 สัปดาห์ก็เกิด “บทสรุป”

เป็นบทสรุปที่ว่าเมื่อผ่านยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้วใครก็สามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ตำแหน่งนี้มิได้เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เดียว

คล้ายกับการตกผลึกเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง หากมองจากพื้นฐานในทางความคิดอย่างที่สุดแห่ง “ระบบ” ประชาธิปไตย

แต่ความเชื่อผิดๆ เช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ไม่ว่าจะเห็นตัวอย่างได้จาก 1 เกาหลีเหนือ 1 รัสเซีย และ 1 จีน และเคยเกิดขึ้นในสังคมประเทศไทยหลังรัฐประหาร 2557

แต่ ณ วันนี้ ความเชื่อเช่นนี้แม้ยังมีอยู่ แต่ก็เบาบางลงเป็นลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image