รอยยิ้ม ขานรับ ‘คนจน’ มีสิทธิไหมคะ บทบาท หมอลำ

คอลัมน์หน้า 3 – รอยยิ้ม ขานรับ ‘คนจน’ มีสิทธิไหมคะ บทบาท หมอลำ

พลันที่มีการตั้งคำถาม “คนจนมีสิทธิไหมคะ” ก้องกังวานขึ้นกลางที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาล

สงสัยหรือไม่ว่า เหตุใดจึงมี “ปฏิกิริยา” ปรากฏ

เป็นปฏิกิริยาซึ่งกล้องจับได้อย่างเด่นชัดว่าเป็น “การยิ้ม” แม้จะเป็นการยิ้มในความเงียบ แต่ก็มากด้วยความอึกทึก

Advertisement

เนื่องจากเป็น “รูปธรรม” แห่ง “การยอมรับ”

1 คือการยอมรับถึงอิทธิพลจากบทเพลง “คนจนมีสิทธิไหมคะ” ที่ชำแรกแทรกซึมไปแทบจะในทุก “พื้นที่”

ไม่เพียงในทาง “ความคิด” ไม่เพียงในทาง “การเมือง”

Advertisement

ขณะเดียวกัน 1 ก็ยืนยันถึงพลังและการรุกคืบอย่างเป็นจริงและท้าทายอย่างชนิดตรงตัวภายในกระบวนการต่อสู้

จาก “ความคิด” ไปสู่ “การเมือง”

มีความต่างอย่างแน่นอนระหว่างการดำรงอยู่แห่งบทเพลง “คนจนมีสิทธิไหมครับ” กับบทเพลง “คนจนมีสิทธิไหมคะ”

1 เป็นเพลง “ป๊อป” 1 เป็นเพลง “หมอลำ”

เป็นการดำรงอยู่ของเพลง “ป๊อป” และเป็นการลอกเลียนแบบของเพลง “หมอลำ” ในยุคปลายทศวรรษ 2530

1 ฮิตใน “เมือง” 1 ฮิตใน “ชนบท”

แต่เมื่อเข้าสู่ปลายทศวรรษแห่ง 2560 อีก 30 ปีต่อมา “คนจนมีสิทธิไหมครับ” แทบไม่มี “บทบาท” มากนัก

ตรงกันข้าม “คนจนมีสิทธิไหมคะ” ได้เข้ามา “แทนที่”

ไม่เพียงเป็นการแทนที่และขยายตัวออกไปใน “ชนบท” อันกว้างไพศาล หากแต่รุกคืบเข้ามายึดครองพื้นที่ในเมือง และ “มหานคร”

ปักหลักอยู่ในพื้นที่ “ออนไลน์”อย่างสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้จึงเป็น “รูปธรรม” อย่างสำคัญในการดำรงอยู่ของเพลง “หมอลำ” ในสถานะใหม่ พื้นที่ใหม่อัน “ป๊อปปูลาร์”

ไม่ว่าจะเป็นการเจาะทะลวงของ ก้อง ห้วยไร่ ลำไย ไหทองคำ

ไม่ว่าจะเป็นการขยาย “ตลาด” อย่างกว้างขวางของ “แรงงาน” จากอีสาน จากเหนือ รุกไปในหลายพื้นที่

ทั้งใน “เมือง” ทั้งใน “ประเทศ” และต่างประเทศ

สะท้อนให้เห็นสัจจะแห่งยุค “ทุนนิยม” บนพื้นฐานที่ว่าอะไร “ขายได้” ย่อมมีความชอบธรรม

ถามว่าลักษณะ “ร่วม” ของ “พื้นบ้าน” คืออะไร

คำตอบไม่ว่าจะจาก “เพลงฉ่อย” ไม่ว่าจะจาก “หมอลำซิ่ง” คือการสะท้อนความเป็นจริงในระดับ “ชาวบ้าน” อย่างชนิด “เปิดเปลือย”

ความจริงนี้จึงรุกเข้าไปในทุก “พื้นที่”

เสียงเพลง “คนจนมีสิทธิไหมคะ” ก่อให้เกิด “ปฏิกิริยา” ตามมาอย่างแน่นอน ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

มีเสียง “หัวร่อ” มีเสียง “ด่าทอ”

บรรทัดฐานนอกจากความนิยมที่วัดจาก “ยอดขาย” ก็ย่อมอยู่ที่ “รอยยิ้ม” และเสียง “หัวเราะ” ที่ดังอย่างกึกก้อง

พลันที่ “พื้นบ้าน” ดำรงอยู่อย่าง “ป๊อปปูลาร์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image