สถานีคิดเลขที่ 12 : ตัวเลขการเมือง : โดย นฤตย์ เสกธีระ

สัปดาห์ที่แล้ว คสช.แสดงความจริงใจในการจัดการเลือกตั้งให้เห็น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. บอกตรงๆ ว่าจัดเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

แต่ถ้าทำไม่ได้ค่อยมาว่าอีกที

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กั๊กในการที่จะอำนวยความสะดวกการเลือกตั้ง

ปัญหาเรื่องไพรมารีโหวตที่เกรงจะทำกันไม่ได้ ทำกันไม่ทัน พล.อ.ประยุทธ์เปิดทางให้เสนอทางแก้

Advertisement

หากเสนอให้แก้ไขด้วย ม.44 ..ยื่นมาเมื่อไหร่ก็เซ็นให้เมื่อนั้น

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์อีกนั่นแหละที่นัด คสช.ประชุมเรื่อง “คลายล็อก”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นคนตระเตรียมแนวทาง “คลายล็อก” เอาไว้แล้ว

Advertisement

คาดว่าตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป การเมืองจะเริ่มขยับได้

ทั้งหมดส่งสัญญาณดีว่าไทยจะมีเลือกตั้ง

สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ต้องปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อบัญญัติที่เอื้อให้ คสช.คืนกลับมาบริหารประเทศอีก

หาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการนั่งเป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง ก็มีโอกาสสูง

ทั้งนี้ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้เปลี่ยนจากแนวทางเก่า

แนวทางเก่า คือ แบ่ง ส.ส.เป็น 2 แบบ คือ แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

การลงคะแนนแบบเก่า คือ เลือก ส.ส.แบบเขต และเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ส.ส.แบบเขต ใครได้คะแนนมากกว่าก็ชนะไป ส่วนคะแนนของคนที่ไม่ชนะต้องทิ้ง

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวมคะแนนกันทั้งหมดแล้วนำมาคำนวณ เฉลี่ยสัดส่วนไปตามกฎเกณฑ์

ขณะที่แนวทางใหม่มีความแตกต่าง

แม้จะมี ส.ส. 2 แบบ คือ แบบเขต และบัญชีรายชื่อ เหมือนกัน

แต่การนับคะแนนในการเลือกตั้งที่จะถึง ถือว่า “ทุกคะแนน” มีความหมาย

พรรคการเมืองหนึ่งส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขต เมื่อประชาชนลงคะแนนหย่อนบัตรแล้ว

คะแนนทุกคะแนนที่ผู้สมัคร ส.ส.ได้รับ คือ “คะแนนของพรรค” ที่ ส.ส.ไปสังกัด

ส.ส.แบบเขต ใครที่ได้คะแนนมากกว่าก็ชนะได้เป็น ส.ส.เขตนั้นไป

แต่คะแนนของคนที่แพ้ไม่ได้ทิ้งไปเหมือนแนวทางเดิม
หากแต่นำมาเก็บไว้เป็น “คะแนนของพรรค”

คะแนนทั้งหมดที่พรรคได้รับจะนำไปคำนวณเพื่อหาสัดส่วน ส.ส.ในสภาที่พรรคนั้นๆ พึงมี

ประมาณกันว่า พรรคต้องมีคะแนน 70,000 คะแนน ถึงจะได้ ส.ส. 1 คน

ถ้าพรรคใดมี ส.ส.แบบเขต แต่คะแนนไม่ถึง 70,000 คะแนน

เช่น ชนะมาด้วยคะแนน 30,000 คะแนน แต่เพราะเป็นคนที่ประชาชนเลือก เขาก็ให้ผู้สมัครคนนั้นเป็น ส.ส.เขตนั้นๆ ไป

ส่วนพรรคใดที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่ได้รับเลือกเลยก็ต้องมาลุ้น “คะแนนพรรค”

พรรคใดมี ส.ส.ที่มีคะแนนพรรคถึง 70,000 คะแนน ก็ได้ ส.ส. 1 คนละ

มีการคำนวณกันว่า พรรคใหญ่แม้จะได้ ส.ส.เขตมาก แต่ในที่สุดแล้วอาจไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เพราะได้จำนวน ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคพึงมีอยู่แล้ว

พรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทย หรือ ประชาธิปัตย์ จึงมีโอกาสได้ ส.ส.น้อยลง

พรรคเกิดใหม่หลายพรรค แม้จะไม่ได้ ส.ส.เขตเลย ก็อาจได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ตัวเลข 70,000 จึงเป็นตัวเลขการเมืองที่ใช้คำนวณกันสะพัด

ตัวเลขจำนวนนี้มาจากไหน ค่อยมาว่ากันตอนต่อไป

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image