กระบวนการ-ยุติธรรม ที่หายไป : ดร.สฤษดิ์ ธัญญกิจจานุกิจ

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ยึดถือค่านิยมที่เรียกว่า “นับถือเงินทอง ยกย่องอำนาจ” หรือจากวลี ที่ว่า “มีเงินเขานับว่าเป็นน้อง มีทองเขานับว่าเป็นพี่” เป็นสังคมเช่นนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะว่าสังคมไทยผูกพันกับระบบศักดินา ที่ยกย่องและยอมรับเรื่องอำนาจมาเป็นเวลานาน แม้ในยุคดิจิทัลที่ก้าวไกลไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สังคมไทยก็ยังมีแนวโน้มนิยมความหรูหราฟุ่มเฟือยทางวัตถุเป็นสังคมที่เป็นวัตถุนิยมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเชิงเทียบเคียงความเจริญทางวัตถุแบบตะวันตก ทำให้ค่านิยมหรือธรรมเนียมประเพณีให้ความสำคัญกับความร่ำรวยหรืออำนาจ ส่งผลกระทบต่อการจัดจำแนกฐานะ “คนจน” ในสังคมไทยมากยิ่งขึ้นไปอีก และจากระบบเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้ ทำให้สถานภาพทางสังคมระหว่างชนชั้นของคนจนกับคนรวยขยายวงกว้างออกไปอีก

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเพราะการที่เป็นคนจน ซึ่งมีความยากจน รายได้น้อย เป็นองค์ประกอบสำคัญจะทำให้ถูกปฏิเสธ ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยเฉพาะอยู่ในสถานภาพที่ไม่สามารถจะได้รับความยุติธรรมจาก “กระบวนการยุติธรรมของรัฐ” เนื่องจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือพึ่งหากระบวนการยุติธรรม หรือถูกเลือกปฏิบัติจากกระบวนการยุติธรรมเองนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญยิ่งกว่า ดังปรากฏจากคำที่สามารถสะท้อนสถานภาพของคนจนในสังคมไทยได้ เช่น “คุกไทยมีไว้ขังคนจน” หรือมีการตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “เหตุใดคนรวยทำผิดจึงไม่ติดคุก” ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรีบปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเร่งด่วน เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องเป็นการปกครองที่ยึดมั่นในหลักนิติธรรม หมายถึงหลักการที่กฎหมายมีความเป็นธรรมและบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค

สังคมที่ใช้หลักนิติธรรมนั้น “กระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญยิ่ง เพราะในกระบวนการยุติธรรมมีองค์กรหลายองค์กร เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ ทนายความ ราชทัณฑ์ ที่ทำหน้าที่ประกันว่าทุกคนจะได้รับความเป็นธรรมภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเสมอภาค”

แต่เมื่อมาพิจารณาบทบัญญัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เปรียบเทียบกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ปรากฏว่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติถึง “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” ไว้ในมาตรา 40 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้

Advertisement

(1) สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง

(2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันชั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐาน
ของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือบุคลากร การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง

(3) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

Advertisement

(4) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดีมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

(5) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญามีสิทธิได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ ส่วนค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

(6) เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ

(7) ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความและการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

(8) ในคดีแพ่ง บุคคลมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐ

ตามมาตรา 40 ตั้งแต่ (1) ถึง (8) ไม่ปรากฏว่ามีในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อาจมีบางความคิดเห็น โต้แย้งว่ามีบัญญัติไว้ในกฎหมายลำดับรอง เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือกฎหมายอื่นแล้วก็ตาม แต่การให้ความสำคัญถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยการบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ย่อมเป็นหลักประกันความเสมอภาคและเป็นธรรมให้แก่ประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรวย หรือคนจน หรือมีสถานภาพทางสังคมอย่างไรก็ตาม จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาลงไปในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะทางอาญา เริ่มต้นที่หน่วยงานตำรวจ เมื่อมีผู้เสียหายในคดีอาญา ย่อมไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องหา ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะบัญญัติว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด

แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า หากยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา หรือจำเลย ยังมีสถานะทางอาญาเป็นบุคคลที่เท่าเทียมกัน

หากเปรียบเทียบผู้เสียหายเป็นนักมวยมุมแดง ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นนักมวยมุมน้ำเงิน ในชั้นของตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวน ผู้สอบสวนถือเป็นพี่เลี้ยงให้นักมวยมุมแดง มีกฎหมายให้อำนาจแก่ตำรวจในการดำเนินการสืบสวนสอบสวน มีเครื่องไม้เครื่องมือที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียหายที่เป็นนักมวยมุมแดงมากมาย มีพี่เลี้ยงมุมแดงหลายคน มีความรู้ทางกฎหมายครบครันในการช่วยเหลือผู้เสียหายที่เป็นนักมวยมุมแดง เพื่อยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับตำรวจแต่อย่างใด คือมีพี่เลี้ยงมาช่วยฟรี

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ตกเป็นผู้ต้องหา เปรียบเสมือนนักมวยมุมน้ำเงินที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย มีทางเลือกคือต้องหาพี่เลี้ยงมาช่วยด้วยตนเอง ในที่นี้หมายถึงต้องหาทนายความซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพ มีความรู้ทางกฎหมายมาแก้ต่างคดีให้ ถ้าเห็นว่าตนเองนั้นไม่ได้มีความผิดตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา หากมีฐานะยากจนไม่มีเงินจ้างทนายความ หรือไม่รู้จักทนายความ รัฐ โดยกระทรวงยุติธรรมได้ตรากฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติในการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา พ.ศ.2549

กล่าวคือ ในแต่ละจังหวัดจะมีสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ รับผิดชอบโดยทนายความที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาได้ จะต้องเป็นทนายความที่ยื่นความจำนงขอขึ้นทะเบียนต่อกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรมได้ส่งมอบบัญชีรายชื่อให้กับพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจต่างๆ จะต้องแจ้งทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวเป็นลำดับ โดยมิให้ข้ามลำดับรายชื่อดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้ทนายความและพนักงานสอบสวนร่วมกันปฏิบัติงานเป็นทีมเพื่อให้ดูเหมือนว่าหลักประกันการช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่มีประสิทธิภาพใดๆ

หากพิจารณาตามระเบียบดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการที่รัฐจัดหาทนายความให้ฟรีแก่ผู้ต้องหา ก็เป็นเพียงการให้คำปรึกษา มิได้รับเป็นทนายความว่าความให้ โดยรัฐเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่ทนายความที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหา ซึ่งแน่นอนว่าเฉพาะขณะที่ผู้ต้องหาให้การต่อพนักงานสอบสวนเท่านั้น

แต่มิได้รวมถึงการสืบเสาะพยานหลักฐานต่างๆ มาเพื่อหักล้างคดี หรือเพื่อต่อสู้ว่าตนมิได้กระทำผิด

นอกจากนี้ การที่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติในการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา พ.ศ.2549 จะต้องจัดหาทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวเป็นลำดับ โดยมิให้ข้ามลำดับรายชื่อ แสดงว่าการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาเรียงตามลำดับรายชื่อเปรียบเสมือนนักมวยมุมน้ำเงิน ไม่มีสิทธิเลือกพี่เลี้ยง และไม่มีโอกาสทราบว่าทนายความที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญ ตรงกับข้อหาที่เจอหรือไม่ เหมือนกับคนไข้ที่ไม่มีสิทธิเลือกแพทย์ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่รุนแรงอย่างไร ทั้งการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักมวยมุมน้ำเงิน เข้ามาเป็นชั่วคราว คือแค่ให้คำแนะนำเท่านั้น มิได้ทำหน้าที่ไปจนถึงชั้นอัยการหรือชั้นศาล เท่ากับเป็นพี่เลี้ยงให้มุมน้ำเงินเพียงยกแรกยกเดียว หากสมมุติว่าผู้ต้องหาที่โดนข้อหาที่เป็นกฎหมายที่มีความซับซ้อน แต่บังเอิญถึงคิวเวรตามลำดับรายชื่อ ทนายความที่มีประสบการณ์ว่าความน้อย ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายซับซ้อนดังกล่าวอย่างเพียงพอ ผลจะเกิดกับผู้ต้องหาอย่างไร ย่อมเป็นที่คาดเดาได้

หากผู้ต้องหาเป็นผู้มีรายได้น้อย และไม่มีเงินจ้างทนายความเก่งๆ หรือชำนาญเกี่ยวกับข้อหาที่ตนเองโดน ย่อมต้องเสียเปรียบแก่ฝ่ายผู้เสียหายที่มีตำรวจและกลไกของรัฐในการหาพยานหลักฐานให้กับผู้เสียหาย ดังนั้น หากเปรียบเป็นการชกมวยแล้ว ยกที่ 1 ในชั้นพนักงานสอบสวน ฝ่ายผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักมวยมุมน้ำเงิน เสียเปรียบฝ่ายแดงทุกประตู

ในยกที่สอง หากพนักงานสอบสวนมีความเห็นสรุปสำนวนการสอบสวน เชื่อว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจะมีความเห็นสั่งฟ้อง ส่งไปยังพนักงานอัยการ เพื่อกลั่นกรอง พิจารณาสำนวนอีกครั้งหนึ่งในชั้นนี้ พนักงานอัยการอาจมีความเห็นสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมทั้งพยานบุคคล หรือหาพยานเอกสาร พยานวัตถุเพิ่มเติมก็ได้ ในทางตรงข้าม ฝั่งผู้ต้องหาหากเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ผิดตามข้อกล่าวหา ก็มีสิทธิเพียงร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด แต่ไม่มีสิทธิที่จะอ้างพยานหลักฐานหรือมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือทนายความที่รัฐจัดให้ หรือมีกลไกอื่นใดมาช่วยเหลือผู้ต้องหาดังเช่นกลไกของรัฐที่มีพนักงานอัยการคอยช่วยเหลือทั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย หากเปรียบเทียบระหว่างผู้เสียหายเป็นนักมวยมุมแดง ก็มีพนักงานอัยการเป็นพี่เลี้ยง แต่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นมุมน้ำเงิน ต้องดิ้นรนขวนขวายหาทนายความสู้คดีเอง ไม่มีพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายดังเช่นฝ่ายผู้เสียหายไม่

ดังนั้น ในยกที่สอง ฝ่ายน้ำเงินยังคงเสียเปรียบแน่นอน

ในยกที่สาม ซึ่งเป็นยกสุดท้าย หากพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ฝ่ายผู้ต้องหาเปลี่ยนสรรพนามเรียกขานเป็นจำเลย หากจะต่อสู้คดี ต้องใช้ระยะเวลาตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว หากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอตามข้อกล่าวหาก็ยากที่จะประกันตัวระหว่างสู้คดี ยิ่งข้อหาหนักๆ เช่น ฆ่าคนตายโดยเจตนา หากผู้ต้องหาหรือจำเลยประสงค์จะสู้คดีและต้องการประกันตัวระหว่างคดี หากไม่มีหลักทรัพย์มากกว่าสองแสนบาทขึ้นไป ยากที่จะประกันอิสรภาพได้ ก็ต้องไปอยู่ในเรือนจำจนกว่าผลของคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง

แน่นอนว่า ในยกที่สามฝ่ายผู้เสียหายมีอัยการเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งทำหน้าที่ทนายความของแผ่นดินหรือเป็นทนายความของผู้เสียหาย โดยมีพยานบุคคล พยานหลักฐานต่างๆ ที่ผ่านมาสืบสวน สอบสวนโดยตำรวจและพนักงานสอบสวน มีศาลเป็นผู้ตัดสินแพ้ชนะ หรือทำหน้าที่กรรมการคนตัดสิน ส่วนจำเลยนั้น เมื่อศาลประทับรับฟ้อง หากประสงค์จะต่อสู้คดีและไม่มีเงินจ้างทนายความเก่งๆ ว่าความให้ ก็ยังดีที่มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 บัญญัติไว้ว่า ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ และวรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

แสดงว่าหากจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดี ถ้าไม่มีทนายความหรือไม่มีเงินจ้างทนายความ ศาลจะตั้งทนายความให้ ดังเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปเรียกว่า “ทนายความศาลขอแรง”

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จำเลยแต่ละคนที่ขอให้ศาลตั้งทนายความขอแรงนั้น โดนฟ้องข้อหาต่างๆ นานา เช่น จำเลยบางคนโดนฟ้องข้อหา พ.ร.บ.ยาเสพติด บางคนถูกฟ้องข้อหาฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษประหารชีวิต บางคนถูกฟ้องว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ การแต่งตั้งทนายความขอแรงให้จำเลยแต่ละคน แต่ละคดี มิได้คำนึงถึงว่า ทนายความขอแรงคนดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญหรือทักษะในการดำเนินคดีประเภทนั้นหรือไม่ แต่เป็นการจัดลำดับตามคิวของทนายความที่ขึ้นบัญชีทนายความขอแรงไว้ที่ศาลนั้นๆ บ้างก็เรียงตามตัวอักษร

เมื่อถึงคิวของทนายความคนใด ศาลก็จะแต่งตั้งทนายความคนนั้นให้เป็นทนายความขอแรงของจำเลย เช่น ในวันที่ศาลถามจำเลยข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด จำเลยต่อสู้คดีว่าถูกยัดข้อหา ไม่มีเงินจ้างทนายความ ประสงค์จะให้ศาลแต่งตั้งทนายความขอแรงให้ ศาลก็แจ้งเจ้าหน้าที่ศาลผู้รับผิดชอบ พิจารณาดูว่าถึงคิวของทนายความคนใด ก็จะแจ้งให้ทนายความผู้นั้นเข้าทำหน้าที่จำเลย มิได้พิจารณาดูว่าทนายความคนนั้นจะมีประสบการณ์ในการว่าความคดียาเสพติดมาแล้วหรือไม่ หรือมีประสบการณ์ว่าความมานานเท่าใด

หากเปรียบจำเลยคนนี้เป็นคนไข้โรคหัวใจ ก็ไม่มีสิทธิเลือกแพทย์ และแพทย์ที่มีการจัดให้ก็ไม่มีสิทธิเลือกคนไข้ หรือทนายความขอแรงไม่มีสิทธิเลือกจำเลยนั่นเอง หากจำเลยซึ่งโดนข้อหาฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ได้ทนายความขอแรงที่ถึงคิวตนเองพอดี และมีประสบการณ์ว่าความเพียงไม่กี่ปี ทั้งไม่เคยว่าความคดีฆ่าคนตายมาก่อน

ย่อมเห็นได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นนักมวยมุมน้ำเงินได้พี่เลี้ยงเช่นนี้ โอกาสที่จะแพ้คดีมีสูงอย่างยิ่ง

ดังจะเห็นได้จากบางศาลมีประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ในการรับเป็นทนายความขอแรง มีบางข้อเขียนไว้ว่า “…ทนายความผู้ใดที่แสดงความประสงค์และศาลรับขึ้นทะเบียนเป็นทนายความขอแรงต่อศาลไว้ เมื่อถึงลำดับของทนายความคนใด และได้รับหนังสือขอแรงจากศาลแล้ว หากถึงวันนัดไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องล่วงหน้าก่อนถึงวันนัด ไม่น้อยกว่า 3 วัน และเป็นเหตุให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า หรือเลื่อนคดีโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลจะเพิกถอนรายชื่อออกจากบัญชีทนายความขอแรงทันที”

แสดงให้เห็นว่า การแต่งตั้งทนายความขอแรงเรียงตามคิว หาได้จัดโดยคำนึงว่าทนายความผู้นั้นมีประสบการณ์ความรู้ ทักษะว่าความที่เชี่ยวชาญ หรือชำนาญในข้อหาที่จำเลยถูกฟ้องและขอแรงไม่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักตรรกะเลย เพราะจำเลยไม่มีสิทธิเลือกทนายความ ทนายความขอแรงก็ไม่มีสิทธิเลือกจำเลย เปรียบเสมือนคนไข้ไม่มีสิทธิเลือกแพทย์เฉพาะทางที่ตรงกับโรคของตน หากโชคดีได้ทนายความที่มีความเชี่ยวชาญก็ถือว่าเป็นวาสนาที่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่

ดังนั้น ในยกที่สาม หากจำเลยได้ทนายความขอแรงที่มีประสบการณ์น้อย ย่อมถือว่าเป็นนักมวยมุมน้ำเงินที่เป็นรองมุมแดง ซึ่งเป็นพนักงานอัยการอย่างเห็นได้ชัด ย่อมคาดการณ์ผลการตัดสินของคณะกรรมการได้เช่นกัน

การที่ผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ยากจนเปรียบเสมือนนักมวยมุมน้ำเงินที่ขาดพี่เลี้ยง หรือไม่สามารถหาพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพได้เอง ถือว่าเป็นการไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและไม่ได้รับความเสมอภาคจากกระบวนการยุติธรรมและความยากจน เกิดขึ้นเนื่องจากสถานภาพของการเป็นคนจน และเป็นการไม่ได้รับความเสมอภาค เพราะการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันต่อบุคคลที่มีสถานะแตกต่างอันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นสังคมสองระดับที่มีความแตกต่างระหว่างสถานะ “ความรวย” และ “ความจน”
อย่างชัดเจน

หากยังไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถึงรากถึงโคน สังคมไทยก็ยังเป็นสังคมที่มีกระบวนการยุติธรรมที่หายไป

ดร.สฤษดิ์ ธัญญกิจจานุกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image