ศึกชิงเก้าอี้อธิการบดีม.รัฐ กับบทพิสูจน์บรรทัดฐานทางสังคม โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีในการประชุมครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 แต่งตั้งนายปัญญา การพานิช มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์เป็นผู้รักษาการอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรีโดยวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายปรากฏขึ้นประชาคมในมหาวิทยาลัยอันเป็นส่วนราชการกลับแสดงทรรศนะที่หลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มของผู้นำสภาคณาจารย์และข้าราชการ

กระแสข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนจะพบว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการและ สกอ.ดำเนินการในการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีตามมติของศาลปกครองสูงสุดก็เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาล หรือหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคม

ความพยายามเรียกร้องของชาวราชภัฏและราชมงคล (บางกลุ่ม) ต่อกรณีดังกล่าวมิใช่จะเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ของคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้เท่านั้น ความพยายามที่จะให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี เป็นกระแสที่เรียกร้องมาในระยะหลังอย่างต่อเนื่อง บางสถาบันถึงขั้นต้องมีการฟ้องร้องและเกิดความแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายจนนำไปสู่ความไม่สง่างามของชาวอุดมศึกษาโดยรวม

การออกมาเรียกร้องของกลุ่มสภาคณาจารย์หรือที่ประชุมสภาคณาจารย์นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นพลังสำคัญที่จะนำไปสู่มิติแห่งการเปลี่ยนแปลงความคิดของชาวราชภัฏและราชมงคลได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะสภามหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่ในการสรรหาผู้ที่เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีในอนาคต

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตามหากมองในมุมกลับกันจะพบว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องก็มีแค่กลุ่มผู้แทนหรือผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์และที่ประชุมสภาคณาจารย์เท่านั้น ขณะที่ประชาคมส่วนใหญ่มองและคิดอย่างไรยังไม่มีข้อมูลในเชิงประจักษ์

ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ที่ตกเป็นจำเลยของสังคมคืออธิการบดีที่มีอายุเกิน 60 ปีทั้งมวลนั้น วันนี้กลับนิ่งเฉยไม่ออกมาแสดงเหตุผลใดๆ เพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรีและเกียรติยศของตนเองทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้เข้ารับตำแหน่งต่างผ่านกระบวนการสรรหาตามข้อบังคับของแต่ละสถาบันโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยทั้งสิ้น หรือเป็นผู้ใหญ่แล้วมีขันติอดทนอดกลั้น บนความเชื่อที่ว่าพูดไปก็เหมือนหยิกเล็บเจ็บเนื้อ

นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ประชุมประธานและข้าราชการแห่งประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลและ ศธ.ออกหนังสือเวียนและประกาศกลางถึงมหาวิทยาลัยของรัฐขอให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเรื่องแต่งตั้งผู้เกษียณอายุราชการเป็นอธิการบดีไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายนั้น เชื่อว่าประเด็นนี้น่าจะเป็นปัญหาในระยะยาวโดยอธิการบดีที่ปฏิบัติหน้าที่และมีอายุเกิน 60 ปีแล้วคงไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาคือกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอทูลเกล้าฯรายชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯที่ต้องเร่งหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้ ศธ.ออกประกาศหรือเกณฑ์กลางกำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีให้ชัดเจนเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

Advertisement

ต่อกรณีนี้เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เชิญนายกสภามหาวิทยาลัยและอุปนายกมหาวิทยาลัยของรัฐ 58 แห่งร่วมหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและอยู่ในกระบวนการเสนอแต่งตั้งผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปหลังศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนมติสภา มรภ.กาญจนบุรีในการประชุมครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั้น

ในการประชุมร่วมวันดังกล่าวนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกอ.กล่าวว่า ในที่ประชุมมีเพียงข้อเสนอซึ่งสรุปแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ 4 แนวทาง และจะได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อตัดสินว่าจะเลือกทางใด ในประเด็นนี้แสดงว่าการบ้านที่จะหาทางออกหรือชี้ทางสว่างตกเป็นภาระหน้าที่ของเสมา 1 โดยตรง ซึ่ง ณ เวลานี้ผู้เขียนเชื่อว่า รมว.ศธ.คงจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว

แนวโน้มที่น่าจะเป็นคำตอบเพื่อยุติปัญหาในอนาคตสำหรับกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีเกณฑ์กลางเป็นแนวทางปฏิบัติในการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัย คงจะสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ รมว.ศธ.ที่ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า “ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีเกณฑ์กลางเพราะศาลได้ตัดสินแล้วว่าห้ามผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีเป็นอธิการบดี หรือรักษาการอธิการบดี ซึ่งเดิมที่มีการตีความเพราะมีข้อกำหนดการสรรหาอธิการบดีให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัยขณะนั้นจึงตีความว่าได้ แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้วว่าถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐต้องอายุไม่เกิน 60 ปี เท่ากับว่าทำกันมาเป็น 10 ปีได้รับการตัดสินแล้วว่าทำไม่ได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยอื่นที่ยังไม่ถูกฟ้อง สภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบหาทางออกแก้ปัญหาให้ได้”

กระแสศึกชิงเก้าอี้อธิการบดีของรัฐถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ของสังคมที่มีต่อหลักธรรมาภิบาลหรือบรรทัดฐานโดยเฉพาะสำหรับสังคมอุดมปัญญาอย่างมหาวิทยาลัยของรัฐด้วยแล้ว ถือได้ว่ามีความสำคัญยิ่งหากปล่อยไว้มูลเหตุดังกล่าวย่อมส่งผลต่อศักดิ์ศรี ความเชื่อมั่น และศรัทธาของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มติชนเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ติดตามและเกาะติดเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเสนอในหน้า 1 และหน้าข่าวการศึกษา ล่าสุดมติชนได้รายงานตัวเลขของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีและอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย มรภ. 20 แห่ง มทร. 4 แห่ง รวมทั้งการแสดงทรรศนะของชาวราชภัฏบางคนบางตำแหน่งที่หลากหลายและน่าสนใจยิ่ง

ผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชาวราชภัฏมากว่า 30 ปี มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอยากให้มองในสองมิติ ทั้งในส่วนของผู้ที่เกษียณแล้วกับคนหนุ่มสาวที่ต้องการมีความก้าวหน้าในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับในการบริหารองค์กร ซึ่งหากมองในแง่ของความเป็นกลางจะเห็นได้ว่าต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตนเองโดยนำองค์กรมาเป็นตัวตั้ง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก่อนหน้านี้แต่ละสถาบันต่างก็มีข้อบังคับระเบียบต่างๆ เป็นของตนเองโดยเฉพาะในการได้มาซึ่งผู้บริหาร ประกอบกับการตีความของข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน สำหรับอธิการบดีที่เกษียณอายุราชการแล้วทุกภาคส่วนก็ต้องเข้าใจและเห็นใจเช่นกัน เพราะการเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นแต่ละท่านเข้ามาตามขั้นตอนของกระบวนการประกอบกับเมื่อแต่ละท่านเห็นว่าตนเองมีคุณสมบัติครบถ้วน จึงสมัครหรือมีผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ในขณะที่คนหนุ่มสาวต่างก็มีความมุ่งมั่นและแสวงหาโอกาสเพื่อการเข้าไปบริหารทดแทนคนรุ่นเก่าที่เกษียณอายุราชการ ยิ่งมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาล่าสุดด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าจะเป็นความชอบธรรมของคนหนุ่มสาวที่มีโอกาสในการนำสถาบันของตนเองไปสู่ทิศทางแห่งอนาคตที่ปรารถนา

วันนี้เพื่อยุติความแตกแยกทางความคิดและความขัดแย้งในอันที่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของชาวอุดมศึกษาทั้งมวลรวมทั้งไม่อยากให้สังคมต้องตราหน้าว่ามหาวิทยาลัยเกิดศึกแย่งเก้าอี้อธิการบดีมาเป็นประเด็นหรือปรากฏการณ์อันน่าละอายยิ่ง จึงขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยเฉพาะคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในขณะเดียวกันทราบว่านายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบางสถาบันก็เกรงว่าถ้าให้สภาใช้อำนาจในการปลดหรือยุติบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีที่เกษียณแล้วก็เกรงว่าสภาจะถูกฟ้องได้ ในมิตินี้ อยากจะเสนอทางออกสำหรับผู้บริหารหรืออธิการบดีที่เกษียณแล้วซึ่งบางท่านอาจจะมีคำตอบในใจด้วยแล้วก็ได้ เมื่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาและดูทีท่าว่าจะส่งผลต่อตำแหน่งของท่านที่ดำรงอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับท่านก็เคยนั่งในตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้มาก่อนแล้ว เมื่อโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยนคลื่นลูกใหม่ย่อมเข้ามาแทนที่คลื่นลูกเก่า เพื่อความชอบธรรมและเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ท่านจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี บนทางออกและเส้นทางที่สง่างามเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป

หรือถ้ามหาวิทยาลัยเห็นว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มากด้วยประสบการณ์การในบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไกล มหาวิทยาลัยก็สามารถจ้างหรือแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้อยู่ที่ว่าท่านจะรับได้หรือไม่

การลงจากหลังเสือเมื่อจำเป็นก็ต้องจำใจ ทั้งนี้อยู่ที่ว่าการลงจะสง่างามและเปี่ยมล้นด้วยสปิริตอันแรงกล้ามากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image