โครงการโรงเรียนคุณธรรม กับการวัดผลสัมฤทธิ์ด้านจริยธรรมของนักเรียน โดย ดร.ดำรงค์ ชลสุข ประจำโครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการ โรงเรียนคุณธรรมขึ้น เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จุดมุ่งหมายของโครงการ ก็เพื่อให้เยาวชนของชาติไทย เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีพฤติกรรมความประพฤติที่ดีงาม รู้จักพอเพียง มีความกตัญญู ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบ และ มีอุดมการณ์

ที่สำคัญต้องเป็นเยาวชนคนดี คนเก่งและมีความสุข

ในการนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สถาบันการศึกษาที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ไปจัดทำโครงการโรงเรียนคุณธรรมขึ้น ซึ่งขณะนี้โรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณธรรมกันแล้ว ใน พ.ศ.2561 คาดว่าโครงการกำลังใกล้จะสิ้นสุดลง

ขั้นต่อไปคือการประเมินผลโครงการว่าดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ และที่สำคัญผลสัมฤทธิ์ด้านจริยธรรมของนักเรียน เป็นอย่างไร? ซึ่งเรื่องผลสัมฤทธิ์ด้านจริยธรรมเป็น High Light ที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้

Advertisement

ใน พ.ศ.2552 ผู้เขียนได้สร้างแบบวัดพฤติกรรมด้านจริยธรรมนักเรียนขึ้น แบบวัดเป็นเรื่องสั้น มีตัวเลือก 4 ตัวเลือก โดยได้นำแนวทางของแอนเดอร์สัน (Aderson, 2000) มาเป็นแบบอย่างในการสร้างแบบวัดที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมี 15 ข้อ มีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อถือได้โดยรวมเท่ากับ .7442 ซึ่งอยู่ในระดับเชื่อถือได้ค่อนข้างสูง

กรุณาดูตัวอย่างแบบวัดด้านจริยธรรมนักเรียนได้ดังต่อไปนี้

•ตอนที่ 3 เรื่องสั้น

Advertisement

กรุณาอ่านเรื่องสั้นต่อไปนี้แล้วเลือกคำตอบที่นักเรียนเห็นว่าเหมาะสมที่สุดเพียงข้อเดียวโดยใส่เครื่องหมาย (X)

1.นายดำสอบแก้ตัววิชาคณิตศาสตร์เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสอบตกคราวนี้เขาก็หมดสิทธิที่จะเรียนในโรงเรียนนี้ ดังนั้นเมื่อเข้าห้องสอบ นายดำจึงจดสูตรคณิตศาสตร์และคำเฉลยข้อสอบใส่กระดาษพกติดตัวมาด้วย บังเอิญครูที่คุมสอบมีธุระไปรับโทรศัพท์ที่ห้องธุรการชั้นล่างเป็นเวลานาน
ถ้านักเรียนเป็นนายดำ จะทำอย่างไร
ก. รีบนำกระดาษที่จดไว้มาเปิดดู
ข. รีบลอกโจทย์ให้ดีแล้วทำข้อสอบ
ค. ขอลอกข้อสอบจากเพื่อนที่นั่งข้างตน
ง. ส่งรหัสลับกับเพื่อนที่ได้วางแผนกันไว้แล้ว

2.เวลา 08.00 น. ในตอนเช้าทุกวัน นักเรียนทุกคนจะต้องเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์ นายธงชัยมาถึงโรงเรียนเวลา 08.00 น. เป็นประจำทุกวัน เขาคิดว่าถ้าหากไปเข้าแถวเคารพธงชาติและ
สวดมนต์แล้ว หากครูเห็นเข้าจะต้องถูกลงโทษแน่ๆ
ถ้านักเรียนเป็นนายธงชัยจะทำอย่างไร
ก. หนีเข้าห้องสุขา
ข. เข้าร่วมเคารพธงชาติแม้จะสาย
ค. ปรับตัวเองให้มาถึงโรงเรียนเร็วขึ้น

3.นายวินย์ เป็นหัวหน้านักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา พ่อของเขาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมีเรื่องบาดหมางเป็นการส่วนตัวกับผู้อำนวยการสถานศึกษาแห่งนี้ พ่อของนายวินย์พยายามยุยงให้นายวินย์เกลียดชังผู้อำนวยการ โดยเกลี้ยกล่อมให้ชวนเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเดินขบวนขับไล่ผู้อำนวยการ
ถ้านักเรียนเป็นนายวินย์จะทำอย่างไร
ก. เชื่อพ่อแล้วชักชวนเพื่อนเดินขบวนขับไล่ผู้อำนวยการ
ข. บอกกับพ่อว่าไม่ใช่เรื่องของเด็กให้พ่อจัดการเอง
ค. จ้างเพื่อนให้ร่วมมือในการเดินขบวน
ง. เดินขบวนแน่นอนเพราะต้องการรางวัลจากพ่อ

ขั้นตอนการสร้างแบบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านจริยธรรมนักเรียน

1.ศึกษาว่าตัวแปรตามคือ “ผลสัมฤทธิ์ด้านจริยธรรม” นั้น มีตัวแปรย่อย 5 ตัวแปร ได้แก่ 1.1) ความพอเพียง 1.2) ความกตัญญู 1.3) ความซื่อสัตย์สุจริต 1.4) ความรับผิดชอบ และ 1.5) ความมีอุดมการณ์

2.สร้างแบบวัดเป็นเรื่องสั้นให้ครอบคลุมตัวแปรย่อยทั้ง 5 (ดังกล่าวในข้อ 1) แล้วมีคำตอบ 3-4 ตัวเลือก เพื่อให้ผู้ตอบแบบวัดตัดสินใจ เลือกเพียง 1 ตัวเลือก แบบวัด (แบบสอบถาม) ที่สร้างควรมี 30-50 ข้อ

3.นำแบบวัดที่สร้างไปทดลอง (Try Out) กับนักเรียนจำนวน 50-100 คน ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับกลุ่มตัวอย่างในการทำการวิจัย

4.นำแบบวัด (แบบสอบถาม) จำนวน 50-100 ฉบับ ที่ได้จากการทดลองมาหาสัมประสิทธิ์แอลฟา (ค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อถือ) ได้ค่าเท่ากับ 0.67 ถือว่ามีระดับความเชื่อถือปานกลาง และ 0.70 ขึ้นไปเชื่อถือได้ระดับสูง

5.พิจารณาดูว่าข้อสอบ (ข้อคำถามในแบบวัด) จำนวน 30-50 ข้อ หากข้อใดได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาไม่ถึง (ต่ำกว่า) 0.67 ให้ตัดข้อสอบ (ข้อคำถาม) ออกไป

6.นำแบบวัดพฤติกรรมที่ได้ (ตามเกณฑ์ในข้อ 5) ไปวัดหรือสอบถามนักเรียน ในโครงการโรงเรียนคุณธรรม

หมายเหตุ

1.การหาค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อถือได้ใช้โปรแกรม SPSS เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ (Statistics Package for the Social Science)

2.การให้คะแนน : คำถาม 1 ข้อ มีคำตอบถูกเพียงตัวเลือกเดียว ถ้าถูกต้องตามที่เฉลยไว้ จะได้คะแนน 1 คะแนน เพราะฉะนั้นถ้าแบบวัดมี 30 ข้อ หากผู้ตอบทำถูกทั้งหมดก็ได้คะแนนเต็มเท่ากับ 30 คะแนน

3.การหาค่าเฉลี่ย () : หากมีผู้ตอบคำถาม (แบบวัด) จำนวน 500 คน ให้เอาคะแนนของทั้ง 500 คน มารวมกัน แล้วหารด้วย 500 ผลที่ได้คือค่าเฉลี่ย () แล้วนำไปคำนวณหาเกณฑ์มาตรฐานว่าจริยธรรมนักเรียนอยู่ในระดับใด (มาก-ค่อนข้างมาก-ปานกลาง-ต่ำ)

ดร.ดำรงค์ ชลสุข
ประจำโครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image