พลัง การเมือง : จาก พลังประชารัฐ : รุนแรง ล้ำลึก

การขยับขับเคลื่อนภายในพรรคพลังประชารัฐ 2 จังหวะก้าวส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูงในทางการเมือง ไม่เพียงแต่ต่อพรรคเก่า พรรคใหม่ นอกวงจร หากแม้กระทั่ง “ภายใน” พรรค คสช.ด้วยกัน

1 การส่ง “4 ยอดกุมาร” ออกมาจาก “ครม.”

ไม่ว่าจะเป็น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นการมาพร้อมกับคำว่า “ประชารัฐ”

Advertisement

เมื่อประสานเข้ากับอีก 1 คือ การเปิดตัว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน โดยมี นายสุชาติ ตันเจริญ รอคอยจังหวะเวลาอันเหมาะสม

จึงเด่นชัดยิ่งในสถานะและบทบาทของ “พรรคพลังประชารัฐ”

เด่นชัดว่า พรรคพลังประชารัฐดำรงอยู่อย่างเป็น “หัวรถจักร” และเป็น “เรือธง” อย่างแท้จริงในการสืบทอดและสานต่ออำนาจของ “คสช.”

Advertisement

ความเป็น “ตัวจริง เสียงจริง” อันมาจากพรรคพลังประชารัฐจึงก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองเก่าอย่างพร้อมเพรียงกัน

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์

แม้กระทั่งพรรคที่เคยเชื่อกันว่ามีสายสัมพันธ์กับ คสช.ในลักษณะพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา

ก็ต้องขยับ ปรับตัว เพื่อรับมือกับ “กระแส” อันมากับ “พลังประชารัฐ”

ยิ่งกว่านั้น การปรากฏขึ้นอย่างอึกทึก ครึกโครม พร้อมกับคำประกาศ “พรรคพลังประชารัฐจะกวาด 350 ส.ส.” เหมือนกับมรสุมใหญ่ที่บรรดาพรรคในเครือข่ายเดียวกันต้องอ่อนระเนน เอนราบ

ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังท้องถิ่นไท

เพราะในเมื่อจุดขายของพรรคเหล่านี้คือ คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อพรรคพลังประชารัฐสามารถยึดครองได้หนักแน่น จริงจังมากกว่า

พรรคในตระกูล “พลัง” อื่นๆ ก็เสมอเป็นเพียง “ลูกเมียน้อย”

ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่กำลังประสบปัญหาอันเนื่องแต่ “เดินคารวะแผ่นดิน” เพราะแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็คืน “นกหวีด”

หากแม้กระทั่งพรรคประชาชนปฏิรูปก็แทบขยับอะไรไม่ได้

เสียงร้องโอดโอยล่าสุดจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่โน้มเอียงไปในทางที่อยากให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปจาก 24 กุมภาพันธ์ เป็นเดือนพฤษภาคม 2562

น่าเห็นใจอย่างยิ่ง

ประเด็นมิได้อยู่ที่ว่าโอกาสที่จะได้รับความสนใจจาก คสช.ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับพลันที่พรรคพลังประชารัฐได้รับการสถาปนาเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับความยากลำบากในเรื่องสมาชิกพรรค ในเรื่องสาขาพรรค และตัวแทนประจำจังหวัด

เมื่อพรรคพลังประชารัฐคือ “เมียหลวง” คือความหวัง บรรดาดาวบริวารอย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคท้องถิ่นไท พรรคประชาชนปฏิรูปก็ย่อมกลายเป็น “เมียน้อย”

แสงอันสาดมาจาก “คสช.” ก็ย่อมจะอ่อนจาง รางเลือนเป็นธรรมดา

ถึงแม้จะได้ความจัดเจนจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุชาติ ตันเจริญ มาประสานเข้ากับ “4 ยอดกุมาร”

แต่ทางด้านของพรรคตระกูล “เพื่อ” ก็ใช่จะอยู่ในสถานะ “เป้านิ่ง”

ตรงกันข้าม จังหวะก้าวของพรรคเพื่อไทยก็ยังหนักแน่น จริงจัง ขณะที่การเข้ามาของพรรคไทยรักษาชาติ ก็คึกคักและเปี่ยมด้วยพลัง

การปะทะในเดือนกุมภาพันธ์จึงแหลมคมอย่างยิ่งยวด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image