ป.ป.ช.กับปรากฏการณ์ : เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

ในระยะนี้นอกจากข่าวสารการโหมโรงทางการเมืองที่แต่ละพรรคมีการเคลื่อนไหวภายใต้การปลดล็อกเบื้องต้นของ คสช.ในมิติต่างๆ จนเป็นที่น่าสนใจกันแล้ว อีกประเด็นที่อยู่ในกระแสแห่งปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากการป้องกันการทุจริตตามรัฐธรรมนูญปีพุทธศักราช 2560 หรือรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง

เมื่อกฎหมายกำหนดอย่างไร ป.ป.ช.ในฐานะองค์กรอิสระที่มีบทบาทในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของชาติจึงต้องปฏิบัติตามนั้น หนึ่งในมิติของการขับเคลื่อนเพื่อป้องกันการโกงที่ดูเหมือนว่าได้รับความสนใจกันมากสำหรับในกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและประชาชนทั่วไปได้แก่การออกประกาศให้นายกสภา กรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐและในกำกับของรัฐต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

จากประกาศของ ป.ป.ช.ดังกล่าวนี้เองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียได้มีการออกมาแสดงทรรศนะและถกเถียงกันอย่างหลากหลาย ทั้งผู้ที่ออกมาคัดค้านและเห็นด้วย แต่ผู้ที่วิตกกังวลและแสดงทีท่าว่าถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า ซึ่งอาจจะนำไปสู่การลาออกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยอันเนื่องมาจากประกาศฉบับนี้ได้แก่กรรมการผู้ทรงวุฒิในสาขาวิชาชีพต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักธุรกิจ

ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ออกมาประกาศจุดยืนและเรียกร้องให้ ป.ป.ช.เดินหน้ากับการเข้าสู่การปฏิบัติตามประกาศที่จะมีผลในวันที่ 2 ธันวาคมนี้นั้นได้แก่เครือข่ายคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยภาครัฐบางสถาบัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หากฟังความรอบด้านต่อเรื่องนี้จะพบว่าแต่ละฝ่ายต่างมีเหตุและมีผลของตนเอง และถ้า ป.ป.ช.ยังเดินหน้าดำเนินการ ต่อกรณีนี้อาจจะเปรียบเสมือน “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” จึงส่งผลให้รัฐบาลต้องส่งรองนายกฯมือกฎหมายเจรจาหาทางออกกับผู้แทน ป.ป.ช. และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีมติให้ขยายเวลาในการบังคับใช้ไปอีก 60 วัน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนประกอบการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

เมื่อกล่าวถึงมหาวิทยาลัย บุคคลภายนอกที่ติดตามข่าวสารเรื่องนี้จากการรายงานของสื่อมวลชนคงจะยังไม่ทราบเกี่ยวกับกลไกและบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยมากนัก แต่ในขณะนี้พบว่านายกสภา, กรรมการสภาผู้ทรงวุฒิ และอธิการบดีบางสถาบันได้ออกมาชี้แจงให้เห็นว่ากรรมการสภาไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการทองนอกจากการปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติของแต่ละสถาบันเท่านั้น

บทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยถ้ามองในบริบทดังที่อธิการบดีและกรรมการสภาบางท่านออกมาสะท้อนให้สังคมรับรู้รับทราบ ก็น่าเห็นใจและเข้าใจกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เสียสละและตั้งใจเข้ามาเพื่อช่วยงานการศึกษาชาติ แต่เมื่อมีกฎเหล็กหรือประกาศออกมาค้ำคอจึงไม่อยากเปลืองตัวเพราะหากมีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้วเกิดความผิดพลาด บุคคลเหล่านั้นต้องถึงกับการกระทำผิดกฎหมายและมีโอกาสเดินเข้าสู่ห้องขังด้วยซ้ำไป

Advertisement

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งถามว่าทำไมเครือข่ายคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางสถาบันจึงออกมาเรียกร้องให้ ป.ป.ช.เดินหน้าพร้อมกับยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านนายกรัฐมนตรีให้รักษาไว้ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมอันมาจากประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่คณาจารย์หรือพนักงานบางสถาบันเข้าไปรับรู้รับทราบว่าสถาบันของตนเองมีความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการโดยเฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณที่แต่ละสถาบันมีงบฯที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและรายได้ของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการภารกิจต่างๆ เองเกิดขึ้น

ความไม่โปร่งใสในหลายประเด็นที่ส่งผลให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์อันเนื่องมาจากการร่วมรู้ร่วมคิดของกลุ่มคนบางกลุ่มในสถาบัน ซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะทราบหรือไม่คงจะไม่สามารถหยั่งรู้ได้ ทั้งนี้เพราะทุกมิติของผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องย่อมจะไม่มีใบเสร็จปรากฏให้เห็น ยิ่งปัจจุบันด้วยแล้วพัฒนาการหรือนวัตกรรมด้านโกงหรือการแสวงหาผลประโยชน์พัฒนาการไปมากจนอาจจะเกินระดับ 4.0 ด้วยซ้ำไป

การที่ผู้บริหารหรือกลุ่มผลประโยชน์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ (บางกลุ่ม บางคน) มีความสุขบนความทุกข์ของนักศึกษาและประชาชนผู้เสียภาษี คนในสถาบันต่างรับรู้และรับทราบแต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเกือบทุกสถาบันคือคณาจารย์หรือพนักงานในมหาวิทยาลัยนั้นๆจะมีการวางตัวในลักษณะของคนสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไม่รู้ไม่เห็น, กลุ่มรู้แล้วแต่เฉยไว้ (เรื่องของเขาเราไม่เกี่ยว) และรู้แล้วพร้อมที่จะเรียกร้องในความชอบธรรม

กลุ่มคณาจารย์หรือพนักงานที่มีความรักความศรัทธาต่อหลักธรรมาภิบาลและความยุติธรรมจะมีน้อย กลุ่มนี้ถ้าพอจะมีปากมีเสียงอยู่บ้างถึงแม้ไม่ดังมากนัก ก็จะมีโอกาสเข้าไปมีบทบาทส่งเสียงในสภามหาวิทยาลัยด้วยการเป็นกรรมการที่มาจากคณาจารย์ประจำซึ่งจำนวนที่นั่งก็จะมีจำนวนเท่ากับผู้ที่มาจากฝ่ายบริหาร ที่น่าสนใจยิ่งเสียงคนกลุ่มนี้ถึงแม้จะน้อยแต่ได้สะท้อนในหลายประเด็นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยโดยรวมเป็นอย่างมากแต่เสียงไม่ค่อยดัง กรรมการสภาส่วนใหญ่ฟังแต่มีบางคนไม่ค่อยให้การยอมรับและถูกมองว่าเป็นฝ่ายค้านหรือดาวสภา

หลายครั้งเมื่อมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยของรัฐ คำว่า “สภาเกาหลัง” เป็นหนึ่งในวลีที่ถูกนำเสนอสู่สังคมบ่อยครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากมีปรากฏการณ์อันไม่ถูกต้องชอบธรรมและเหมาะสมเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

จากปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งในหลายประเด็นไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดหรือลดลง ภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่รณรงค์การต่อต้านการคอร์รัปชั่นไม่ค่อยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากนัก ความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่สังคมมีให้โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า “มหาวิทยาลัยเป็นสังคมอุดมปัญญาเป็นสังคมแห่งการรวมของนักคิดนักวิชาการชั้นนำของประเทศ” จึงตกไปเป็นภาระและหน้าที่ของคณาจารย์และเครือข่ายบางกลุ่มที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นดังที่สังคมเข้าใจและมุ่งหวัง

ต่อกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่าถึงความไม่โปร่งใสในมหาวิทยาลัยบางแห่งนั้น ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงทรรศนะที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับประกาศ ป.ป.ช.ที่ให้นายกสภาและกรรมการสภายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. นอกจากจะไม่เห็นด้วยต่อประกาศดังกล่าวแล้วได้มีการสะท้อนถึงการทุจริตในมหาวิทยาลัยความตอนหนึ่งว่า “อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้ปฏิเสธว่าภายในสถาบันอุดมศึกษาไม่มีเรื่องทุจริต แต่การทุจริตส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดเพราะสภา” (มติชนออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2561)

อย่างไรก็ตาม นอกจากความไม่โปร่งใสที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการแล้ว สภามหาวิทยาลัยยังถูกนักคิดและสังคมบางกลุ่มที่เข้าไปรับทราบถึงความเป็นกัลยาณมิตรหรือความเอื้ออาทรของสภาต่อคณะผู้บริหารว่า “สภาเกาหลังหรือสภาตรายาง” นั้นในประเด็นนี้สอดคล้องกับการที่ ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้สะท้อนผ่านคอลัมน์กระแสทรรศน์มติชนรายวันเรื่อง “กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นใคร ทำไมต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน” ความตอนหนึ่งว่า “มีข้อสังเกตสำหรับบางมหาวิทยาลัยที่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ แต่กลับมักจะเลือกบุคคลที่จะคอยมาสนับสนุนกลุ่มตนเองเช่นเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อมาเลือกอธิการบดีหรือทีมบริหารมหาวิทยาลัย เป็นต้น”

พร้อมกันนั้นนายกสภาท่านดังกล่าวยังสะท้อนอีกว่า “สภามหาวิทยาลัยบางแห่งก็กลายเป็นสภามหาวิทยาลัยตรายางซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการมีสภากรรมการ สภามหาวิทยาลัยที่จะต้องเป็นผู้ที่มาให้คำแนะนำทางวิชาการ มาเสนอนโยบายและแผนงานมหาวิทยาลัยเพื่ออธิการบดีนำไปปฏิบัติ จึงเป็นที่มาของกลุ่มคณาจารย์จำนวนหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนว่านายกสภามหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งอาจจะไปมีผลประโยชน์ร่วมกับอธิการบดี รองอธิการบดีที่เป็นกลุ่มก้อน (ก๊วน) เดียวกัน เป็นต้น” (มติชน 13 พฤศจิกายน 2561 หน้า 15)

ย้อนกลับมากรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งจะลาออกเพราะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.นั้น นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นความว่า “รัฐบาลควรใช้โอกาสที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้วขอลาออกในครั้งนี้ปรับปรุงการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาที่แท้จริง ส่งเสริมให้คนดีได้มีอำนาจในบ้านเมือง กวาดล้างนักการเมือง บริษัท บริวาร และญาติโยมในครอบครัวออกไปให้หมด ก็จะส่งผลดีต่อระบบการศึกษาของชาติ ในอนาคตต้องไม่จำนนต่อการข่มขู่ใดๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้เกิดการข่มขู่และละเมิดกฎหมายหรือทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย หรือไม่ยอมรับกฎหมายดังที่เป็นอยู่แผ่นดินประเทศไทยก็จะสูงขึ้น” (มติชนออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2561)

จากนี้ไปถ้า ป.ป.ช.ต้องเดินหน้านำประกาศฯอันสืบเนื่องมาจากกฎหมายสูงสุดที่ระบุให้ต้องปฏิบัติโดยไม่สามารถจะเลี่ยงได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้อนาคตนักธุรกิจหรือบุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิไม่พร้อมและไม่สะดวกที่จะเข้ามาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วยอุปสรรคตามประกาศนี้ คงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องไปเฟ้นหาบุคคลที่พร้อมและมีคุณสมบัติตามข้อบังคับเข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งเชื่อว่าวันนี้ยังมีบุคคลที่พร้อมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ทรงวุฒิที่มาจากข้าราชการ นักบริหาร ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรืออดีตข้าราชการและนักบริหารที่เคยผ่านการแสดงบัญชีทรัพย์สินมาก่อน

กรุงศรีอยุธยาไม่เคยสิ้นคนดีฉันใด มหาวิทยาลัยก็ย่อมหาคนดี คนเก่ง เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานการศึกษาได้ฉันนั้น จากการที่มีกระแสบางมหาวิทยาลัยวิตกว่าอนาคตมหาวิทยาลัยจะเกิดวิกฤตไม่มีใครอยากเข้ามาเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีก เรื่องนี้คงต้องรอพิสูจน์กันต่อไป

ที่สำคัญประกาศ ป.ป.ช.ฉบับนี้คงเปรียบไม่ได้กับคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เพราะคงไม่ถึงขนาดนั้น

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image