นักโทษล้นคุกกับการปล่อยตัวชั่วคราว

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม พบว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีคนที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัว ทั้งที่คนเหล่านี้ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ไม่ต่ำกว่า 66,000 คนต่อปี ทั้งที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตราที่ 29 วรรค 2 ระบุว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดไม่ได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมอเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

คนที่ไม่มีเงินประกันตัวนั้นส่วนมากเป็นคนจนจึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า คนที่ถูกลงโทษส่วนมากเป็นคนจนซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่านักโทษที่อยู่ในคุกส่วนมากจะเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มระดับล่างที่มีรายได้น้อย ระดับคนชั้นกลางขึ้นไปจะมีเปอร์เซ็นต์ต่ำมากที่เป็นนักโทษอยู่ในคุก จากการศึกษาวิจัยดังกล่าวทำให้ทราบความจริงอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือคนจนไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งก่อนทำผิดและหลังทำผิด ก่อนถูกกล่าวหาและหลังถูกกล่าวหาผิดไม่ผิดไม่รู้ แต่อาจไม่ผิดก็มี อย่างที่สอง ข้อเท็จจริงบ่งบอกว่า “โอกาสของคนจนในลักษณะความเท่าเทียมกันทางกฎหมายขาดหายไป”

หากจะกล่าวถึงวิธีการ (means) และเป้าหมาย (ends) ตามทฤษฎีของ โรเบิร์ต เมอร์ตัน (Robert Merton) พบว่าชีวิตของคนในสังคมมีสองลักษณะคือ ลักษณะที่ไปถึงเป้าหมายโดยวิธีการที่ถูกต้อง ใช้กติกาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลักษณะนี้เรียกว่า การปฏิบัติตาม (Conformity) และอีกลักษณะหนึ่งคือ ลักษณะที่ไปถึงเป้าหมายด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง หรือทำผิดกฎหมาย (legal versus illegal means) ลักษณะนี้เรียกว่า การริเริ่มใหม่ (Innovation) ถ้าวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย (legal means) ไม่เปิดให้เขา เขาก็มักจะหันกลับไปสู่วิธีการที่ผิดกฎหมาย (illegal means) และยิ่งถ้าเขากระทำผิดกฎหมายแล้วโอกาสที่จะถูกลงโทษมีน้อยก็ยิ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เขาทำผิดกฎหมายมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้มีผลต่ออาชญากรรมทั้งระบบ และนี่คือปัญหาทางสังคมที่ตามมา เพราะปัญหาทางสังคมก็สืบเนื่องมาจากเรื่องของ “โอกาส” (opportunity) เพราะโอกาสของทุกคนมีไม่เท่ากัน

Advertisement

เมื่อหันมาดูตัวเลขของผู้ต้องขังในปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ต้องประสบปัญหาผู้ต้องหาล้นเรือนจำ และพบว่าสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 350,000 คน ในขณะที่พื้นที่ของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 122,000 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศมีมากกว่าพื้นที่ของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศที่จะรองรับผู้ต้องขังได้ถึงประมาณ 3 เท่าตัว ทำให้มีความแออัดในเรือนจำ หรือภาวะที่เรียกว่า “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” (Prison Over-crowding) ก่อให้เกิดปัญหาเป็นอย่างมากต่อกรมราชทัณฑ์อยู่ในขณะนี้ จากสภาพการณ์ดังกล่าวหากปล่อยไปในลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดความยากลำบากในการทำงานของกรมราชทัณฑ์

ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช)” ได้มีมติเห็นชอบ “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมาลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ……..” โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีอาญาด้วยเสียงที่เป็นเอกฉันท์ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมีนัยสำคัญถึง 3 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ ป.วิอาญาของ สนช. ถือเป็นการแก้ไขที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและถือเป็นมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรมไทย นั่นคือ “การแก้ไขหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว” ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องคดี

Advertisement

มาตรา 108 วรรคแรก และมาตรา 108/1 เดิมได้กำหนดปัจจัยของการพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ได้ระบุในเรื่องของความหนักเบาแห่งข้อหาพยานหลักฐานที่ปรากฏในคดี, พฤติการณ์ต่างๆ ในคดี และที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันรวมทั้งโอกาสหลบหนีของ

ผู้ต้องหาหรือจำเลย, คำร้องขอประกันตัวของพนักงานสอบสวน, อัยการ, โจทก์หรือผู้เสียหายในคดี, ภยันอันตรายที่เกิดขึ้นจากการปล่อยตัวชั่วคราว เช่น การเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไปก่อเหตุอันตรายอื่นๆ หรือเป็นอุปสรรคการทำงานของพนักงานสอบสวนและการดำเนินคดีในศาล ซึ่งการพิจารณาเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาในคดีที่ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาปัจจัยในแต่ละข้อประกอบกัน

ในร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ได้ตัดในส่วนของความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันออกไป โดยให้เหตุผลว่าการให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันและหลักประกันเป็นปัญหาของคนที่ไม่มีเงินหรือคนจน และเป็นปัจจัยที่กระทบหรือส่งผลต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะยากจนที่ไม่สามารถหาหลักประกันได้ และอาจต้องกู้ยืมเงินหรือเช่าหลักประกันจากนายประกันอาชีพเพื่อใช้เป็นหลักประกันซึ่งทำให้เกิดภาระหนี้สินตามมาอย่างมากมายในระหว่างสู้คดี

ประเด็นที่สอง มีการแก้ไขมาตรา 110 ที่เดิมกำหนดให้ คดีมีโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 10 ปี การจะขอปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องมีการประกันตัว จะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษาในคดี แต่ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ได้ยกหลักกฎหมายในส่วนนี้ไป โดยให้เหตุผลที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนอาจไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวพอ

และในคดีที่มีอัตราโทษ 5-10 ปี ส่วนใหญ่เป็นคดีโทษไม่ร้ายแรง ควรให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับโอกาสที่จะปล่อยตัวชั่วคราว และไม่ต้องทำให้เกิดการสูญเสียอิสรภาพ

ประเด็นที่สาม มีการแก้ไขโดยห้ามมิให้ผู้ปฏิเสธคำพิพากษาศาลในคดีถึงที่สุดแล้วไม่มีสิทธิมาฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้อีกต่อไป เป็นการตัดสิทธิทางกฎหมายในการฟ้องร้องคดีอาญา สำหรับบุคคลที่หลบหนีคดีไปอยู่ในต่างประเทศหรืออยู่ในประเทศไม่มีสิทธิมาฟ้องร้องในคดีอาญาใดๆ ได้อีก แม้จะยื่นฟ้องมาศาลก็ไม่รับคำฟ้อง เพราะถือว่าบุคคลใดที่ไม่เคารพต่อกระบวนการยุติธรรมย่อมไม่ได้สิทธิได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสิทธิบุคคลที่หลบหนีคดีไปเลยอย่างสิ้นเชิง ยังคงให้มีสิทธิฟ้องคดีได้แต่ต้องไปดำเนินคดีผ่านทางตำรวจและอัยการเท่านั้น จะฟ้องร้องต่อศาลโดยตรงไม่ได้

สำหรับประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองนั้นนอกจากเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับกรมราชทัณฑ์ในประเด็น “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” แล้วยังเป็นการแก้ไขปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในเรื่อง “ความยุติธรรมกับความยากจน” และ “โอกาสของคนจนในสังคมในลักษณะความเท่าเทียมกันโดยกฎหมายที่ขาดหายไป”

และเป็นการแก้ข้อครหาที่ว่า “คนจนเท่านั้นที่ติดคุก” อย่างตรงจุดและชัดเจน เพราะที่ผ่านมาผู้ที่เดือดร้อนขัดสนไม่มีเงินประกันตัวต้องถูกคุมขังแทนก็คือคนจนนั่นเอง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จนเป็นปัญหาให้ “นักโทษล้นคุก” ตามมาอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ผศ.(พิเศษ) พล.ต.ท.ดร.ณรงค์ กุลนิเทศ
ประธานหลักสูตร ปร.ด.นิติวิทยาศาสตร์ และ วท.ม.นิติวิทยาศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา
Email address: [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image