บทนำ : พิษสังคมสมัยใหม่ ประจำวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2562

นิสิตชั้นปี 3 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยย่านบางเขน ตกจากที่สูงเสียชีวิตภายในมหาวิทยาลัย เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 6 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขน ระบุว่า จากการตรวจสอบพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ไม่พบร่องรอยการต่อสู้ พบหลักฐานโทรศัพท์มือถือของผู้ตาย เขียนข้อความบอกลาพ่อกับแม่ การสอบปากคำพยาน เบื้องต้นคาดว่าผู้ตายตั้งใจกระโดดลงมาจากอาคารเอง สาเหตุน่าจะเป็นปัญหาส่วนตัว ยังไม่พบว่าจะมีสาเหตุจากเรื่องอื่น เช่น การเรียน หรือ ความรัก ยังต้องรอผลการตรวจชันสูตรศพอย่างละเอียดจากโรงพยาบาลอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ มีนิสิตนักศึกษา ตัดสินใจจบชีวิตในแบบเดียวกันหลายราย เป็นเรื่องน่าสลดใจที่สังคมน่าจะต้องช่วยกันหาทางป้องกัน โดยต้องค้นหาสาเหตุ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ในเรื่องเดียวกันนี้ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยฆ่าตัวตายประมาณเกือบ 40,000 ราย ตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จจะอยู่ที่ประมาณ 340 ราย ต่อเดือน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 4 เท่า สาเหตุอาจมีโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้นถึง 20 เท่า

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า การปฏิบัติตัวเพื่อให้ตัวเองห่างไกลจากความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองนั้น ควรหมั่นสำรวจความรู้สึกของตัวเองและคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นผู้รับฟังที่ดี หากพบความผิดปกติ เช่น ความเบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ หรือมีความรู้สึกอยากตาย ควรรีบเข้ารับการประเมินและความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต นอกจากนั้นยังสามารถรับคำปรึกษาได้จากสายด่วนสุขภาพจิต 1323

โฆษกกรมสุขภาพจิต ยังชี้ว่าการเสนอข่าวต้องระมัดระวังให้มาก เพราะอาจทำให้เกิดการเลียนแบบ คำเตือนของโฆษกกรมสุขภาพจิต เท่ากับบอกว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแลคนใกล้ตัว และระวังผลกระทบต่างๆ รวมถึงสื่อที่ต้องไม่เปิดเผยรายละเอียดของผู้ฆ่าตัวตายมากเกินไป ในภาพรวม สังคมสมัยใหม่ทำให้ผู้คนห่างเหิน เมื่อเกิดปัญหาจึงรู้สึกไร้ทางออกและเลือกคิดสั้น ยังไม่สายเกินไป หากทุกส่วนในสังคมจะตระหนักถึงผลร้าย และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับอื่นๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image